แผลเบาหวาน อันตรายอย่างไร ผู้ป่วยเบาหวานป้องกันไว้สบายใจกว่า

April 23 / 2024

 

 

แผลเบาหวาน

 

 

คงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่มักเกิดข้อสงสัยว่า แผลเบาหวาน เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลดังกล่าว ในปัจจุบันการเกิดแผลจากเบาหวานนับเป็นภาวะแทรกซ้อนอันดับต้น ๆ ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน การเรียนรู้ถึงปัจจัยความเสี่ยงในการเกิดบาดแผล รวมถึงวิธีการเตรียมตัวรับมืออย่างมีประสิทธิภาพจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากละเลยที่จะใส่ใจถึงภัยแผลเบาหวานแล้ว ก็อาจทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง บาดแผลลุกลาม นำมาซึ่งการสูญเสียอวัยวะได้

 

 

สาเหตุของแผลเบาหวาน

 

 

3 สาเหตุหลักของการเกิดแผลเบาหวาน

3 สาเหตุหลักของการเกิดแผลเบาหวาน ได้แก่

ภาวะปลายประสาทเสื่อม

ภาวะปลายประสาทเสื่อม เป็นสาเหตุสำคัญต้น ๆ ของการเกิดแผลเบาหวาน โดยผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีอาการชา หรือสูญเสียการรับรู้ถึงความเจ็บปวดบริเวณปลายอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณเท้าเนื่องจากน้ำตาลในเลือดที่สูงต่อเนื่องมีผลทำให้ระบบประสาททำงานผิดปกติ ก่อให้เกิดเป็นภาวะเส้นประสาทเสื่อม เมื่อเกิดบาดแผลผู้ป่วยจึงมักไม่รู้ตัว ทำให้แผลเกิดการอักเสบลุกลามมากขึ้น จนนำไปสู่การเกิดแผลเบาหวานได้

ความผิดปกติของหลอดเลือด

ความผิดปกติของหลอดเลือด ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลเบาหวานได้เช่นกัน ไม่ว่าเป็นภาวะเส้นเลือดแข็งหรืออุดตัน ก็สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในหลอดเลือดแดงใหญ่และหลอดเลือดฝอย ส่งผลให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนมาหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ตามปกติ อาจทำให้เนื้อเยื่อเกิดบาดแผลเนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง หรือหากเกิดบาดแผลจากสาเหตุอื่นก็ทำให้การสมานแผลจึงเป็นไปได้ยาก เกิดเป็นการอักเสบเรื้อรัง โดยเฉพาะบริเวณปลายนิ้วเท้าหรือส้นเท้า มีโอกาสทำให้เกิดแผลเบาหวานได้

ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ

ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ อีกหนึ่งสาเหตุหลักของการเกิดแผลเบาหวาน เพราะบาดแผลของผู้ป่วยเบาหวานนั้นมักเกิดการติดเชื้อร่วมด้วย โดยเฉพาะหากเกิดในบริเวณนิ้วเท้าและฝ่าเท้า ซึ่งสัมผัสกับแบคทีเรียได้โดยง่าย และการสมานแผลเป็นไปได้ช้าเนื่องจากเนื้อเยื่อขาดเลือดมาหล่อเลี้ยง ทำให้เกิดความเสี่ยงในการอักเสบลุกลาม หรือหากรักษาไม่หาย และแผลมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจจำเป็นต้องตัดขาหรือเท้า หรืออวัยวะส่วนนั้น ๆ ออกไป

 

 

แผลเบาหวาน อาการ

 

 

แผลเบาหวาน เกิดจากโรคเบาหวานชนิดใด และอาการเป็นอย่างไร

สำหรับผู้ที่สงสัยว่า แผลเบาหวาน เกิดจากโรคเบาหวานชนิดใด และอาการเป็นอย่างไร สามารถอธิบายได้ว่า แผลเบาหวาน ถือเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและหลอดเลือด สาเหตุหลักมาจากการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้หลอดเลือดเกิดความเสียหายและระบบประสาททำงานผิดปกติเพราะน้ำตาลในเลือดที่สะสมอยู่เป็นเวลานาน ก่อให้เกิดเป็นภาวะเส้นประสาทเสื่อม และเกิดอาการชา หรือไร้ความรู้สึกโดยเฉพาะบริเวณปลายเท้า

ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นแผลเบาหวาน

ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นแผลเบาหวาน และควรระมัดระวังการเกิดแผลเบาหวาน คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นโรคเบาหวานมานาน เพราะยิ่งเป็นโรคเบาหวานมานานเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดบาดแผลได้มากขึ้นเท่านั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นแผลเบาหวานเรื้อรังมานาน 5-10 ปี

 

 

วิธีป้องกันแผลเบาหวาน

 

 

7 วิธีดูแลตัวเองให้ห่างไกลแผลเบาหวาน

7 วิธีการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากการเกิดแผลเบาหวาน มีดังต่อไปนี้

1. ตรวจเช็กเท้าตัวเอง

ตรวจเช็กเท้าตัวเองทุกวัน ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น มีรอยถลอก รอยบวมแดง ผื่นคัน ตุ่มน้ำใส ขุยขาวที่ซอกนิ้วเท้า ตาปลา และสีเล็บที่ผิดปกติ

2. ทำความสะอาดเท้าทุกวัน

ทำความสะอาดเท้าทุกวัน และเช็ดเท้าให้แห้งสนิททุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อบริเวณเท้า

3. ทาครีมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น

ทาครีมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ป้องกันเท้าแห้งแตก แต่ควรงดเว้นการทาครีมที่บริเวณซอกนิ้วเพื่อป้องกันการอับชื้นและการติดเชื้อ

4. ตัดเล็บเท้าด้วยความระมัดระวัง

ตัดเล็บเท้าด้วยความระมัดระวัง และดูแลไม่ให้เล็บยาวหรือสั้นจนเกินไป

5. ควรสวมถุงเท้าที่สะอาด

ควรสวมถุงเท้าที่สะอาด ไร้ตะเข็บ ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดแน่นจนเกินไป เพื่อลดการเสียดสีของเท้า

6. เลือกสวมรองเท้าที่ถูกสุขลักษณะ

เลือกสวมรองเท้าที่ถูกสุขลักษณะ ควรเลือกรองเท้าให้มีขนาดพอดีและสวมใส่สบาย ทั้งขณะเดินในบ้านและนอกบ้าน

7. ออกกำลังกายบริหารเท้า

ออกกำลังกายบริหารเท้า เพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น

หากผู้ป่วยเบาหวานเกิดแผลที่เท้า จะเป็นแผลเบาหวานหรือไม่? และควรปฏิบัติตัวอย่างไร

เนื่องจากแผลเบาหวาน เกิดได้จากหลายสาเหตุ และบางครั้งจำเป็นต้องอาศัยการวินิจฉัย และการรักษาที่ซับซ้อน เพื่อป้องกันไม่ให้แผลลุกลามจนต้องตัดขาหรือเท้า ดังนั้นหากผู้ป่วยเบาหวานตรวจพบว่ามีแผลเกิดขึ้น ควรรีบทำความสะอาดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำเกลือปลอดเชื้อและปิดผ้าก๊อซที่สะอาด หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทก เสียดสีหรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อม และควรทำความสะอาดแผลทุกวัน หากพบว่าแผลไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรรีบไปแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที