ดูแลร่างกายอย่างไร เพื่อป้องกันโรคลิ้นหัวใจรั่วก่อนวัยอันควร

July 06 / 2024

 

 

ลิ้นหัวใจ

 

 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคในยุคนี้มีเพิ่มมากขึ้น การดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงและลดความเสี่ยงของโรค จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของการมีชีวิตที่ยืนยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลลิ้นหัวใจ ที่ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่แท้จริงแล้วมีความสำคัญมาก เพราะลิ้นหัวใจทำหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนของเลือดให้ไปตามทิศทางที่ถูกต้อง และหากลิ้นหัวใจเกิดปัญหา หรือลิ้นหัวใจรั่ว ก็จะทำให้การไหลเวียนของเลือดในร่างกายผิดปกติ ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ถือเป็นความเสี่ยงและอาจนำมาซึ่งอันตรายต่อชีวิต

 

 

สัญญาณเบื้องต้น โรคลิ้นหัวใจ

 

 

5 สัญญาณเตือนเบื้องต้นโรคลิ้นหัวใจ

สัญญาณเตือนเบื้องต้นของโรคลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว สามารถสังเกตได้ ดังนี้

เหนื่อยง่าย หอบ

เหนื่อยง่าย รู้สึกหอบ ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจรั่วมักรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติ มีอาการหอบ โดยเฉพาะเมื่อออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง ในบางรายอาจมีอาการเหนื่อยแม้นั่งพักอยู่เฉย ๆ

เสียงหัวใจผิดปกติ

เสียงหัวใจผิดปกติ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจรั่ว จะได้ยินเสียงหัวใจเป็นลักษณะเสียงฟู่

นอนราบไม่ได้

นอนราบไม่ได้ โดยส่วนใหญ่ เมื่อลิ้นหัวใจรั่วที่ห้องซ้าย อาจส่งผลให้หัวใจห้องซ้ายโต ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้อย่างเพียงพอ เกิดเป็นภาวะน้ำท่วมปอด ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถนอนราบได้ หรือต้องลุกขึ้นหายใจโดยเฉพาะในช่วงกลางคืน

มีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก

มีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก โรคลิ้นหัวใจรั่ว มักรู้สึกอึดอัดและเหนื่อยเวลาหายใจ นอกจากนี้ ยังรู้สึกเจ็บแน่นที่บริเวณกลางหน้าอกด้านซ้าย หรือทั้ง 2 ด้าน ใจสั่น หายใจไม่สะดวก หรือหายใจติดขัดกว่าเดิม

มีอาการบวม

อาการบวมจากลิ้นหัวใจรั่ว เกิดจากภาวะคั่งของน้ำและเกลือในร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการบวมในบริเวณเท้า ข้อเท้า หรือใบหน้า กดแล้วบุ๋ม ในบางรายอาจมีอาการท้องอืด

 

 

สาเหตุการเกิดโรคลิ้นหัวใจรั่ว

 

 

สาเหตุของการเกิดโรคลิ้นหัวใจรั่ว

โรคที่เกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจทั้งอาการลิ้นหัวใจตีบ และลิ้นหัวใจรั่ว เกิดขึ้นได้กับลิ้นหัวใจทั้ง 4 ลิ้น โดยมีสาเหตุหลักทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกต่าง ๆ ดังนี้

ความเสื่อมตามอายุ (Degenerative Valve Disease)

ความเสื่อมตามอายุ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ทำให้โอกาสในการเกิดความเสื่อมสภาพของเนื้อเยื่อของลิ้นหัวใจ และการเกิดหินปูนเกาะบริเวณลิ้นหัวใจเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การเปิดหรือปิดของลิ้นหัวใจผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคลิ้นหัวใจรั่ว หรือทั้งตีบและรั่วได้

โรคหัวใจรูมาติก (Rheumatic Heart Disease)

โรคหัวใจรูมาติกเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส กรุ๊ปเอ ที่ทำให้เป็นไข้รูมาติก ซึ่งนับเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเกิดโรคคออักเสบในวัยเด็ก โดยเชื้อดังกล่าวสามารถออกฤทธิ์ทำลายลิ้นหัวใจของผู้ป่วยในระยะยาว ส่งผลให้ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ อาจเกิดอาการตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว หรือร่วมกันทั้งสอง นับเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคลิ้นหัวใจที่พบได้บ่อยที่สุด

โรคลิ้นหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด (Congenital)

โรคลิ้นหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด เกิดจากความผิดปกติของพัฒนาการของหัวใจของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด โดยทารกอาจแสดงอาการผิดปกติได้ตั้งแต่แรกเกิด หรือมาแสดงอาการเมื่อโตขึ้นแล้วแต่บุคคล

การติดเชื้อบางชนิด (Infection)

การติดเชื้อเกิดได้กับทุกส่วนของหัวใจ แต่มักเกิดกับลิ้นหัวใจ โดยเฉพาะเมื่อลิ้นหัวใจมีความผิดปกติอยู่แล้ว เมื่อมีการติดเชื้อในกระแสเลือด และเลือดไหลเวียนผ่านลิ้นหัวใจ เชื้อโรคในกระแสเลือดก็สามารถเข้าไปเกาะบริเวณลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจรั่วหรือฉีกขาด โดยผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเฉียบพลันและเกิดภาวะหัวใจรุนแรง ทั้งนี้ เชื้อโรคที่ทำให้เกิดการติดเชื้ออาจมีสาเหตุมาจากการอักเสบในช่องปาก หรือฟันผุ ก็เป็นได้

หัวใจวายเฉียบพลัน (Acute Myocardial Infarction)

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันอาจทำให้เกิดผลกระทบกับลิ้นหัวใจ เกิดเป็นภาวะลิ้นหัวใจรั่วเฉียบพลันได้

ความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective Tissue Disease)

ความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน คือ ภาวะที่เกิดความยืดหยุ่นที่มากกว่าปกติ สามารถเกิดได้ในหลายอวัยวะ โดยเมื่อเกิดกับลิ้นหัวใจทำให้เกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่วได้

 

 

ป้องกันการเกิดลิ้นหัวใจรั่ว

 

 

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคลิ้นหัวใจรั่ว

เราสามารถเริ่มต้นดูแลหัวใจ ป้องกันการเกิดลิ้นหัวใจรั่ว ด้วยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ง่าย ๆ ดังนี้

 

  1. เลือกรับประทานอาหารที่ประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป และอาหารรสจัด
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัว
  3. ดูแลสุขอนามัยช่องปาก
  4. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  5. ทำความเข้าใจ และเรียนรู้ถึงอาการของโรคหัวใจต่าง ๆ เพื่อหมั่นสังเกตตนเอง
  6. เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

 

 

ลิ้นหัวใจรั่ว รามคำแหง

 

 

แพ็กเกจคัดกรองหัวใจ ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลรามคำแหง

แพ็กเกจคัดกรองหัวใจ ตรวจลิ้นหัวใจรั่ว ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลรามคำแหง มีดังนี้

 

  • การตรวจเช็กคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (พกพาได้) ราคา 9,000
  • เทคโนโลยีบันทึกการเต้นของหัวใจในโลกยุคดิจิทัล ราคา 6,000
  • การตรวจหาคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ ราคา 5,700
  • โปรแกรมตรวจสุขภาพโรคหัวใจ Healthy heart package (ผู้ชาย-ผู้หญิง) ราคา 5,990
  • โปรแกรมตรวจสุขภาพโรคหัวใจ Healthy heart plus package (ผู้ชาย-ผู้หญิง) ราคา 6,990
  • โปรแกรมตรวจสุขภาพโรคหัวใจ Advanced Intensive heart package (ผู้ชาย-ผู้หญิง) ราคา 9,990
  • โปรแกรมตรวจสุขภาพโรคหัวใจ Advanced Intensive heart plus (ผู้ชาย-ผู้หญิง) ราคา 14,990