โรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงกว่าปกติ ทำไมต้องรักษา

November 15 / 2024

 

 

โรคเบาหวาน ทำไมต้องรักษา ?

 

 

 

 

     โรคเบาหวาน (Diabetes) เป็นภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งมีผลมาจากความบกพร่องของการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน ภาวะดื้ออินซูลินหรือภาวะทั้งสองอย่างร่วมกัน    

 

กลไกการเกิดโรคเบาหวาน

     เนื่องจากคนปรกติจะมีการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้พอเหมาะ แต่กลไกนี้มีความบกพร่องหรือออกฤทธิ์ได้ไม่ดีในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน

 

ทำไมต้องตรวจหาเบาหวาน

     ผู้ป่วยเบาหวานควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจระดับน้ำตาลและปรับขนาดของยา การที่ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานยาขนาดเดียวกันอยู่ตลอดเวลาอาจไม่สามารถควบคุมน้ำตาลให้สม่ำเสมอ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของอาหารและการพัฒนาของโรค) ตรวจหาภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น เส้นประสาทเสื่อมจากเบาหวาน (Diabetic Neuropathy) จอประสาทตาเสื่อม (Retinopathy) หากเมื่อพบภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยเร็ว แพทย์จะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที

 

 

 

โรคเบาหวาน    โรคเบาหวาน

 

 

 

 

เป้าหมายและการประเมินผลการรักษาเบาหวาน

 

  • การรักษาโรคเบาหวานมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงภาวะปรกติมากที่สุดช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังทั้งทางตา ไต ระบบประสาทส่วนปลาย หัวใจ หลอดเลือดและภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันอื่น เช่น ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันในเลือด ลดน้ำหนักและงดสูบบุหรี่
  • การประเมินผลการรักษาเบาหวานสำคัญมาก เพราะช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานทราบถึงระดับเบาหวานในร่างกาย ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถชี้แนะแนวทางเพื่อปรับปรุงพฤติกรรมเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงปกติ

 

 

อาการของเบาหวาน

เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงย่อมส่งผลให้ผูป่วยเกิดอาการ

 

  • ปัสสาวะมากและบ่อย
  • อ่อนเพลีย หอบ หายใจลำบาก
  • รู้สึกกระหายน้ำและดื่มน้ำมากกว่าปรกติ
  • กล้ามเนื้อเริ่มอ่อนแรง
  • ผิวหนังติดเชื้อเป็นเชื้อรา
  • น้ำหนักตัวลดลงแม้รับประทานอาหารมาก

 

การตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวาน

 

  • ตรวจน้ำตาลในเลือด (Fasting Blood Sugar) อย่างน้อย 8 ชั่วโมงหากพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 126 มก./ดล. ผู้เข้ารับการตรวจก็มีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน
  • ตรวจความทนทานต่อกลูโคส (Oral Glucose Tolerance Test) ด้วยการให้รับประทานกลูโคส 75 กรัม หากระดับน้ำตาลในเลือดยังสูงกว่า 200 มก./ดล. หลังผ่านไป 2 ชั่วโมง ก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคได้เช่นกัน
  • ตรวจค่าน้ำตาลสะสม (Hemoglobin A1C) ค่าดังกล่าว Hb A1C จะช่วยบอกว่าระดับน้ำตาลในเลือดโดยเฉลี่ยดีหรือไม่


 

 

โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเบาหวาน

     หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานและไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจะส่งผลให้ภาวะเลือดเป็นกรด (DKA: Diabetic Ketoacidosis) ซึ่งนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังทางตา ไต ปลายประสาท และความเจ็บป่วยอื่นตามมา

 

อ่านเพิ่มเติม: ระวัง!.. 5 พฤติกรรมเสี่ยง "เบาหวาน" ที่คุณอาจไม่รู้ตัว

 

 


ดังนั้น เบาหวานจึงเป็นโรคที่ต้องการการรักษาที่สม่ำเสมอและต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การใช้ยาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ



 

 

โรคเบาหวานโรคเบาหวานโรคเบาหวานโรคเบาหวาน

 

 

วิธีป้องกันและรักษาโรคเบาหวาน

 

  • หากออกกำลังกายให้เพียงพอ ร่างกายจะเริ่มใช้น้ำตาลในเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงให้อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงปรกติ เมื่อนั้นแพทย์จะพิจารณาปรับลดปริมาณของยาที่ต้องทานหรือลดปริมาณอินซูลินที่ต้องฉีดได้
  • กรณีที่รักษาด้วยการรับประทานแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาเลือกใช้การใช้อินซูลินโดยคำนึงถึงสภาพอาการ
  • แพทย์สามารถเลืิอกใช้ยาฉีดเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด (ที่ไม่ใช่อินซูลิน) ซึ่งใช้รักษาโรคอ้วนร่วม เนื่องจากยามีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนที่หลั่งออกจากระบบทางเดินอาหาร ยาจึงออกฤทธิ์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอินซูลินควบคู่กับลดความอยากอาหาร ส่งผลให้กระเพาะอาหารเคลื่อนไหวลดลง

 

ทำไมต้องตรวจตาทุกปี ?

     ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้รับการควบคุมรักษาอย่างถูกต้องพบว่ามีอาการผิดปกติทางตาได้บ่อย เช่น ตามัว จอประสาทตาเสื่อมหรือเบาหวานขึ้นตา ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจตาอย่างละเอียด โดยจักษุแพทย์ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ อย่างน้อยปีละครั้ง ถ้าตรวจพบได้เร็วและได้รับการดูแลในระยะแรกของโรค ก็จะช่วยป้องกันสายตาของเราจากจอประสาทตาเสื่อม จากโรคเบาหวานได้

 

อ่านเพิ่มเติม: เบาหวานในเด็ก

 

 

โรคเบาหวานโรคเบาหวาน

 

 

การตรวจการทำงานของไตทุกปีก็สำคัญ

     ภาวะไตเสื่อมจากเบาหวานในระยะแรกเริ่มจะไม่ปรากฏอาการ การวัดระดับสารพิษในเลือดจะยังไม่พบอะไรผิดปกติ หากรอให้ระดับสารพิษในเลือดสูง ไตมักเสียหายไปกว่า 90% แล้ว แต่การตรวจปัสสาวะจะเริ่มพบอัลบูมินหรือไข่ขาวเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการตรวจระดับไข่ขาวในปัสสาวะจึงสำคัญมากในการคัดกรองความผิดปกติของไตในระยะแรกเริ่มและควรได้รับการตรวจอย่างสม่ำเสมอทุกปี

 

 

 

โรคเบาหวาน

 

 

 

 

โรคเบาหวาน

 

 

ผู้ป่วยเบาหวานควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจระดับน้ำตาลและปรับขนาดของยา และตรวจหาภาวะแทรกซ้อนต่างๆ หากเมื่อพบภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยเร็ว แพทย์จะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที