หมอนรองกระดูกเสื่อม ไม่ใช่ปัญหา! 6 วิธีดูแลตัวเองแบบธรรมชาติ

March 13 / 2024

 

 

หมอนรองกระดูกเสื่อม

 

 

ในปัจจุบัน ภาวะ ‘ปวดหลังเรื้อรัง’ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือพบได้เฉพาะในผู้สูงอายุเหมือนในอดีต จากสถิติพบว่า โรคหมอนรองกระดูกเสื่อม นี้สามารถพบได้บ่อยในคนวัยทำงานตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป มักมีสาเหตุมาจากการใช้งานกระดูกสันหลังอย่างไม่เหมาะสม หรือนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้กระดูกสันหลังเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร หากสำรวจนอกจากการรักษาตามแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว หลายคนยังให้ความสนใจเกี่ยวกับแนวทางการรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่นำไปใช้เสริมหรือใช้ร่วมกับการแพทย์สมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี สามารถช่วยบำบัดรักษาอาการเจ็บปวด และช่วยให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิตได้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

ข้อควรระวังในการเลือกรักษาโรคปวดหลังเรื้อรังแบบธรรมชาติ

แม้ว่าการรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นแบบธรรมชาติจะสามารถทำได้ง่ายและสะดวก แต่ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรศึกษา และทำความเข้าใจถึงพื้นฐานของแนวทางการรักษาแบบต่าง ๆ และควรปรึกษาแพทย์เพื่อประกอบการตัดสินใจทุกครั้ง เนื่องจากการรักษาโรคปวดหลังเรื้อรังแบบธรรมชาติไม่ได้เหมาะกับผู้ป่วยทุกราย และผู้ป่วยแต่ละรายก็มีความต้องการ หรือระดับความรุนแรงของโรคไม่เท่ากัน และที่สำคัญ ไม่ว่าจะเลือกรักษาด้วยวิธีไหน ควรตรวจสอบให้มั่นใจว่าวิธีที่เลือกได้รับมาตรฐานหรือการรับรอง ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย และเพื่อป้องกันไม่ให้อาการของโรคทรุดลงจนถึงขั้นเป็นอัมพาตหรือทุพพลภาพ

6 วิธีธรรมชาติรักษาโรคปวดหลังเรื้อรัง

 

 

การกดจุด

 

 

1. การกดจุด

 

การกดจุดเป็นศาสตร์การแพทย์แผนจีนที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน โดยการกดจุดจะเน้นการใช้นิ้ว ฝ่ามือ และข้อศอกกดกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองในบริเวณนั้น ๆ ซึ่งสามารถช่วยทำให้พลังงานในร่างกายหมุนเวียนถ่ายเทได้ดีขึ้น และสามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดและอักเสบได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการกดจุดจะเหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย แต่สตรีตั้งครรภ์และผู้ที่มีความดันเลือดสูง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการรักษาเสมอ

 

 

การฝังเข็ม

 

 

2. การฝังเข็ม

การฝังเข็มเป็นศาสตร์การแพทย์ทางเลือก ที่มักใช้เป็นการรักษาร่วมกับการทำกายภาพบำบัด โดยมีหลักการคือ การฝังเข็มจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเอ็นโดรฟินเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้ ทำหน้าที่คล้ายกับยาลดปวดแบบธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย และกระตุ้นให้ระบบหมุนเวียนโลหิตทำงานได้ดียิ่งขึ้น

 

 

การจัดกระดูก

 

 

3. การจัดกระดูก

การจัดกระดูกเป็นการช่วยดึงให้หมอนรองกระดูกที่ปลิ้นออกมาให้กลับเข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง แต่ทั้งนี้ ก่อนเข้ารับการจัดกระดูก ผู้ป่วยควรได้รับการวินิจฉัยอย่างละเอียดจากแพทย์ก่อนเสมอ เพราะในบางกรณีหากทำไม่ถูกต้อง หรือไม่ตรงจุด ก็จะทำให้อาการของโรคแย่ลง หรือหมอนรองกระดูกปลิ้นออกมามากกว่าเดิม

 

 

คอลลาเจน

 

 

4. การทานคอลลาเจน

โครงสร้างส่วนใหญ่ของหมอนรองกระดูก ประกอบด้วย น้ำ คอลลาเจน และส่วนประกอบอื่น ๆ รวมถึงโปรตีน ดังนั้น การเน้นรับประทานอาหารที่มีปริมาณคอลลาเจนสูง โดยเฉพาะประเภทซุปกระดูกหมู หรือซุปกระดูกสัตว์อื่น ๆ ก็จะทำให้ผู้ป่วยได้รับคอลลาเจนในปริมาณที่เพียงพอจะสามารถเข้าไปช่วยซ่อมแซมหมอนรองกระดูกและเนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ ที่ได้รับบาดเจ็บได้

 

 

อาหารเสริม

 

 

5. การทานอาหารเสริม

นอกจากคอลลาเจนแล้ว สารอาหารและแร่ธาตุชนิดอื่น ๆ ที่สามารถช่วยในการรักษาและซ่อมแซมหมอนรองกระดูกเสื่อมได้ดี มีดังต่อไปนี้


  • สารอาหารจำพวกกรดอะมิโน อาทิ กลูตามีน (glutamine) ไกลซีน (glycine) โพรลีน (Proline) และอาร์จินีน (arginine)
  • โอเมก้า 3 (Omega 3) ปริมาณ 1,000-2,000 มิลลิกรัมต่อวัน
  • เมทิลซัลโฟนินมีเทน หรือ MSM (methyl-sulfonyl-methane)
  • กลูโคซามีน (Glucosamine) และ คอนดรอยติน (Chondroitin)
  • สมุนไพรที่มีคุณสมบัติลดการอักเสบ เช่น ขมิ้น

 

 

การนวด

 

 

6. การนวด

การนวดด้วยวิธีการรีดเส้น ประกอบกับการบีบนวด สามารถช่วยลดอาการปวดเรื้อรังได้เป็นอย่างดี การนวดถือเป็นการกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ส่งผลให้ออกซิเจนและสารอาหารเข้าไปซ่อมแซมบริเวณกล้ามเนื้อ เกิดการถ่ายโอนของเสีย ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายความตึงตัว และลดการอักเสบกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดี

 

 

โรงพยาบาลกระดูกและข้อ ใกล้ฉัน

 

 

ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลรามคำแหง

ทีมศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลรามคำแหง พร้อมให้บริการตรวจวินิจฉัย รักษา และผ่าตัดกระดูก โดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ ภายใต้มาตรฐานสากล ทำให้ผู้ป่วยทุกคนวางใจ สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างปลอดภัย และไร้กังวล