หมอนรองกระดูกเสื่อมคืออะไร มีกี่ระยะ พร้อมแนะนำวิธีรักษา

May 07 / 2024

 

หมอนรองกระดูกเสื่อม

 

 

‘โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม’ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ‘หมอนรองกระดูกเสื่อม’ นั้น โดยส่วนใหญ่ มีสาเหตุมาจากภาวะความเสื่อมของร่างกาย แต่ในปัจจุบันพบว่า คนในวัยทำงานอายุเพียง 30 ปีก็สามารถเกิดภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมได้ เนื่องจากพฤติกรรมเสี่ยง หรือการใช้งานกระดูกสันหลังอย่างไม่เหมาะสม ทำให้ตัวหมอนรองกระดูกสันหลังไม่สามารถทำหน้าที่รับแรงกระแทกและส่งผ่านน้ำหนักได้ดีเหมือนปกติ ส่งผลให้ข้อต่อกระดูกสันหลังเกิดการอักเสบและเสื่อมสภาพ กลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง และอาจมีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ไม่มากก็น้อยตามระยะความรุนแรงของโรค

 

ความรุนแรงของหมอนรองกระดูกเสื่อม

 

 

3 ระยะความรุนแรงของหมอนรองกระดูกเสื่อม

สำคัญมากสำหรับอาการของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม สัญญาณเตือนภัยที่คุณควรรู้ ซึ่งสัญญาณที่เกิดขึ้นสามารถแบ่งความรุนแรงออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะแรก

อาการของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมในระยะแรก ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดหลังแบบเป็น ๆ หาย ๆ และอาจยังใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติในระยะนี้ แต่หากปล่อยไว้นาน อาการปวดหลังจะเพิ่มมากขึ้น และมีอาการเรื้อรังต่อมา

ระยะกลาง

ระยะต่อมา เมื่อหมอนรองกระดูกเริ่มเคลื่อนหรือปลิ้นออกมาเบียดหรือกดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจะเกิดอาการปวดร้าวบริเวณช่วงคอลงไปถึงแขน หรือจากหลังลงมาถึงขาจรดเท้า และอาจมีอาการชาร่วมด้วย

ระยะรุนแรง

ในระยะนี้ถือว่ามีความอันตราย ผู้ป่วยจะมีอาการปวด ชา และอ่อนแรงมากขึ้น อาจมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเส้นประสาทเกิดการบาดเจ็บอย่างรุนแรง ซึ่งเสี่ยงต่อความพิการ จึงควรต้องรีบเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด

 

 

หมอนรองกระดูกเสื่อมรักษาได้ไหม

 

 

หมอนรองกระดูกเสื่อมรักษาได้ไหม ต้องทำอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคเป็นหลัก โดยในระยะแรก แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยวิธีประคับประคอง เช่น การรับประทานยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ และการกายภาพบำบัด เป็นต้น

 

แต่หากผู้ป่วยมีอาการปวดมากจนทนไม่ได้ แม้ได้รับการรักษาด้วยยา และทำกายภาพบำบัดแล้ว หรือผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาระบบขับถ่ายผิดปกติที่เกิดจากการถูกกดทับของเส้นประสาท แพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบัน การผ่าตัดแบบแผลเล็กส่งผลดี และเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยลงกว่าการผ่าตัดด้วยวิธีดั้งเดิม ทำให้ระยะเวลาพักฟื้นน้อยลง และผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

 

 

ผ่าตัดหมอนรองกระดูกเสื่อม

 

วิธีการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดหมอนรองกระดูกเสื่อม

สำหรับวิธีการดูแลตัวเองหลังเข้ารับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกเสื่อม สามารถทำตามได้ดังนี้

 

  • พักผ่อนให้เพียงพอ สามารถนอนท่าใดก็ได้ ยกเว้นการนอนที่มีการบิดเอี้ยวตัว
  • ควรลุก-นั่งอย่างช้า ๆ เพราะร่างกายยังไม่เข้าที่
  • ออกกำลังกายด้วยวิธีการเดินช้า ๆ ได้ตามที่ไหว
  • หลีกเลี่ยงการเอี้ยวตัวและก้ม ๆ เงย ๆ หรือยกของหนัก
  • ระมัดระวังการไอและจาม ในกรณีที่จามซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่ากลั้นจาม
  • หลีกเลี่ยงการเบ่งอุจจาระ ถ้าท้องผูกต้องแจ้งแพทย์เพื่อรับยาระบาย
  • แนะนำให้ใส่ตัวรัดหลังทุกครั้งเวลานั่ง - ยืน เป็นเวลา 6 - 10 สัปดาห์
  • ทานยาที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง
  • งดสูบบุหรี่
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

 

 

หมายเหตุ:การดูแลรักษาตัวเองหลังเข้ารับการผ่าตัดโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมอย่างเคร่งครัดจะช่วยให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูได้เร็ว และกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้ในที่สุด

 

 

 

ศูนย์กระดูกและข้อ ที่ไหนดี

 

ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลรามคำแหง

ทีมศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลรามคำแหง พร้อมให้บริการตรวจวินิจฉัย รักษา และผ่าตัดกระดูก โดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ ภายใต้มาตรฐานสากล ทำให้ผู้ป่วยทุกคนวางใจ สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างปลอดภัย และไร้กังวล โดยสามารถติดต่อสอบถามแนวทางการรักษาเบื้องต้นผ่านช่องต่าง ๆ ของทางโรงพยาบาลได้ทุกช่อง