เมื่อไหร่ควรเริ่มระวังหมอนรองกระดูกเสื่อม พร้อมวิธีป้องกัน

February 12 / 2024

 

หมอนรองกระดูกเสื่อม

 

ในปัจจุบัน โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม (Lumbar Degenerative Disc Disease) หรือที่เรามักเรียกสั้น ๆ ว่า ‘หมอนรองกระดูกเสื่อม’ เป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่พบมากโดยเฉพาะในหนุ่มสาววัยทำงาน ไม่จำกัดแค่ในผู้สูงอายุเหมือนในอดีต สาเหตุหลักมักเกิดจากการใช้งานอย่างหนัก และการนั่งอยู่กับที่ หรือยืนอยู่เฉย ๆ นาน ๆ โดยสามารถสังเกตอาการเริ่มต้นได้จากอาการปวดบริเวณต้นคอร้าวมาที่ไหล่ อาจมีอาการปวดหน่วง ๆ บริเวณรอบเอว หรืออาจปวดร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งร่วมกับอาการชาบริเวณปลายเท้า ซึ่งอาการเหล่านี้ จะค่อย ๆ เริ่มส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี

อายุเท่าไหร่ ต้องเริ่มใส่ใจหมอนรองกระดูกเสื่อม?

โดยปกติ หมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นอวัยวะที่ช่วยคั่นกลางรอยต่อระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละคู่ จะเริ่มเกิดภาวะแห้งลง สูญเสียความยืดหยุ่น และค่อย ๆ เสื่อมลงตามอายุ แต่ในปัจจุบันพบว่า ปัจจัยทางด้านการสูบบุหรี่ ทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมอย่างรวดเร็ว พฤติกรรม อาทิ การยกของหนัก การนั่งอยู่กับที่นาน ๆ หรือนั่งผิดท่าเป็นประจำ การขับรถระยะทางไกล ๆ รวมถึงการมีน้ำหนักตัวมากเกินไป มีส่วนอย่างมากในการเร่งความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งการเสื่อมของหมอนรองกระดูกระยะแรก สามารถเกิดได้เร็วตั้งแต่อายุ 30 ปี และพบภาวะดังกล่าวในผู้ที่มีอายุ 30-50 ปีมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

หมอนรองกระดูกเสื่อม ผลกระทบ

 

ผลกระทบจากภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม

ผลกระทบนอกจากภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม นอกจากอาการปวดหลังเรื้อรัง ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยที่มีภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม เมื่อหมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพมากขึ้น ก็อาจพบภาวะข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อมร่วมด้วย และหากหมอนรองกระดูกสันหลังเริ่มมีลักษณะบาง จนทำให้ข้อกระดูกสันหลังสีกัน ก็จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวด และข้อฝืด จนไม่สามารถเดินได้ปกติ ผู้ป่วยจึงมักไม่อยากขยับตัวทำกิจกรรมใด ๆ ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อหลังยืดหยุ่นได้น้อยลง กล้ามเนื้อตึงตัว เกิดลิ่มเลือดในขา หรือมีภาวะซึมเศร้าได้

 

วิธีป้องกันหมอนรองกระดูกสันหลัง

 

วิธีป้องกันหมอนรองกระดูกเสื่อม

การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันและชะลอการเกิดโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม มีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

 

  • ควรนั่งหลังตรง และควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ ไม่ควรนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน ๆ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อเสริมกล้ามเนื้อในแนวแกนกลางลำตัว ซึ่งได้แก่ บริเวณกล้ามเนื้อหน้าท้อง และกล้ามเนื้อหลัง
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือการก้ม ๆ เงย ๆ รวมถึงการก้มดูหน้าจอโทรศัพท์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
  • ระมัดระวังอุบัติเหตุ ที่อาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อกระดูกสันหลัง
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

 

 

หมอนรองกระดูกเสื่อม การรักษา

หมอนรองกระดูกเสื่อม รักษาอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม สามารถทำได้หลายวิธี โดยจะมีความแตกต่างกันตามความรุนแรงของโรค ดังนี้

หลีกเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง

หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่มีผลต่อกระดูกสันหลัง เช่น หลีกเลี่ยงการก้ม ๆ เงย ๆ การยกของหนัก รวมถึงกีฬาที่มีการกระแทก

การทำกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง ได้แก่ การประคบร้อน การทำอัลตราซาวด์ หรือการช็อกเวฟ จะช่วยบรรเทาอาการปวดและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง

การใช้ยาลดปวด

การใช้ยาลดปวด แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาลดอาการปวดร่วมกับวิธีอื่น แต่ควรระวังเรื่องการใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากยากลุ่มนี้มักมีผลต่อไต

การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง

การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง เป็นวิธีการรักษาที่ช่วยลดอาการปวด และอักเสบของเส้นประสาท ถือเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงในการทำหัตถการน้อย แต่ยาจะสามารถออกฤทธิ์ได้ประมาณ 3-6 เดือนเท่านั้น

การผ่าตัด

การผ่าตัดนั้น หากอาการของผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้น รวมถึงมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนหรือขา และมีความผิดปกติของระบบขับถ่ายร่วมด้วย แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัด

 

ศูนย์กระดูกและข้อ

ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลรามคำแหง

ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลรามคำแหง มีความเป็นเลิศทางการแพทย์ พร้อมให้บริการวินิจฉัย ดูแลรักษาความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลัง ไขสันหลัง และเส้นประสาท โดยมุ่งเน้นผลการรักษาและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยเป็นหลัก ดังนั้น หากพบว่ามีอาการปวดหลังเรื้อรัง หรือร้าวลงขาเป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรรีบเข้ารับการตรวจและปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรับการรักษาอย่างตรงจุด ก่อนที่หมอนรองกระดูกจะเสียหายมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ยากต่อการรักษาตามไปด้วย