ความดันโลหิตสูงที่ทำให้เป็นโรคหัวใจ

December 24 / 2024

ความดันสูง โรคหัวใจ

 

 

 

     ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีโอกาสเสียชีวิตจากหัวใจวายถึง 60 - 75 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่มีความดันโลหิตสูงและมักไม่รู้ว่าเป็น เพราะไม่แสดงอาการ เเต่เมื่อเริ่มมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนแล้วจึงเริ่มสนใจและรักษา สิ่งนั้นอาจทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งการควบคุมความดันโลหิตให้ปกติอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถลดโอกาสเกิดโรค อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้

 

 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง

  • อายุ ส่วนใหญ่เมื่ออายุมากขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้น
  • เวลา ความดันโลหิตจะขึ้นๆ ลงๆ ไม่เท่ากันตลอดทั้งวัน
  • จิตใจและอารมณ์ มีผลต่อความดันโลหิตได้มากในขณะที่ได้รับความเครียด อาจทำให้ความดันโลหิตสูงกว่าปกติได้ถึง 30 มม.ปรอท
  • เพศ พบว่าเพศชายจะเป็นได้บ่อยกว่าเพศหญิง
  • พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม มีประวัติในครอบครัวเป็นความดันโลหิตสูง และสิ่งแวดล้อมที่เคร่งเครียดก็อาจทำให็มีแนวโน้มเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ด้วย
  • สภาพภูมิศาสตร์ การอยู่ในสังคมเมืองจะพบภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าในสังคมชนบท
  • เชื้อชาติ ชาวนิโกรอเมริกันมีโอกาสมากกว่าชาวอเมริกันผิวขาว
  • เกลือโซเดียม การรับประทานเกลือในปริมาณมากจะมีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ที่รับประทานเกลือน้อย

 

 

 

ความดันสูง โรคหัวใจ

 

 

อาการของความดันโลหิตสูง

     ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงอาจไม่มีอาการใดเลย หรืออาจพบว่ามีอาการปวดศีรษะ มึนงง เวียนศีรษะ แน่นหน้าอก นอนไม่หลับหรือเหนื่อยง่ายผิดปกติ

 

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ 2 กรณีด้วยกัน คือ

 

  • ภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงโดยตรง ได้แก่ ภาวะหัวใจวายหรือหลอดเลือดในสมองแตก
  • ภาวะแทรกซ้อนจากหลอดเลือดแดงตีบหรือตัน เช่นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ หลอดเลือดสมองตีบเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือหลอดเลือดแดงในไตตีบมากถึงขั้นไตวายเรื้อรังได้
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคที่เกิดขึ้นเมื่อเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจมีการตีบตัน จนเลือดไม่สามารถไหลผ่านไปได้ คนที่เป็นจะมีอาการเจ็บหน้าอก หัวใจวาย หรือมีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
  • โรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูงจะส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เพื่อให้หัวใจปั๊มเลือดไปทุกส่วนของร่างกาย สิ่งที่ตามมาคือหัวใจห้องซ้ายบนจะหนาขึ้นและเริ่มแข็งตัว ซึ่งทำให้ความสามารถของหัวใจห้องซ้ายในการปั๊มเลือดลดลง ซึ่งอาจทำให้หัวใจวาย หัวใจล้มเหลว หรือ หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว ถ้าเป็นความดันโลหิตสูงเป็นเวลานานๆ แรงดันที่ทำกับหัวใจอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงลงและทำงานโดยไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าทิ้งไว้นานๆ หัวใจจะเสื่อมลงจนไม่สามารถทำงานได้

 

 

การตรวจหาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากความดันโลหิตสูง

1.  การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram)

     การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ “EKG” เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อหัวใจผ่านทางสื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็กที่วางไว้ตามจุดต่างๆ ของร่างกาย เพื่อบันทึกกราฟแสดงคลื่นไฟฟ้าหัวใจลงบนกระดาษซึ่งง่ายและสะดวกในการตรวจและไม่เจ็บซึ่งอาจจะพบภาวะหัวใจโตจากความดันโลหิตสูง หรือ อาจพบลักษณะเส้นเลือดหัวใจอุดตันเกิดเป็นภาวะแทรกซ้อนทางความดันโลหิตสูงได้ แต่อาจไม่พบสิ่งผิดปกติ และอาจต้องใช้การทดสอบสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกายต่อไป

 

ความดันสูง โรคหัวใจความดันสูง โรคหัวใจความดันสูง โรคหัวใจ

 

 

2.  การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography)

     การส่งคลื่นความถี่ลงไปบริเวณหัวใจ เมื่อตกกระทบส่วนต่างๆ ก็จะสะท้อนกลับมายังเครื่องจะทำให้เห็นการเคลื่อนและการบีบตัวของหัวใจปกติหรือไม่ ความเร็วและความดันเลือดในห้องหัวใจเป็นอย่างไร มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา หัวใจโตจากความดันโลหิตสูงหรือไม่ ตลอดจนการตรวจดูความพิการของหัวใจการทำงานของลิ้นหัวใจและโรคหัวใจอื่นๆ เพื่อช่วยตัดสินใจว่าจะใช้ การรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัด การตรวจวิธีนี้สามารถดูได้จากจอแสดงผล และเก็บไว้เป็นรูปภาพได้ เพื่อการตรวจสอบต่อไปซึ่งอาจเรียกว่า “ตรวจเอ็กโคหัวใจ”

 

ความดันสูง โรคหัวใจความดันสูง โรคหัวใจ

 

 

3.  การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย

     อีกชื่อคือการตรวจ EST (Exercise Stress Test) เป็นการตรวจดูสมรรถภาพหัวใจโดยให้ผู้ป่วยเดินบนสายพานเลื่อน หรือปั่นจักรยานเพื่อทดสอบดูการทำงานของหัวใจขณะทำงานหนัก ดูปริมาณออกซิเจนจากเลือดและปริมาณเลือดมาเลี้ยงนั้นเพียงพอหรือไม่

 


กรณีผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันอยู่แล้ว เมื่อเข้ารับการทดสอบคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จะแสดงภาพของกล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือดได้ชัดเจนและบอกระดับความรุนแรงของโรคว่าควรเข้ารับการตรวจเพิ่มด้วยการฉีดสีสวนหัวใจหรือไม่


4.  การตรวจความผิดปรกติของหลอดเลือดขนาดใหญ่

     การตรวจชนิดนี้ใช้เครื่อง ABI (Ankle - Brachail Index) เป็นหลัก ซึ่งช่วยวัดความผิดปกติของหลอดเลือดด้วยการวัดแรงดันโลหิตตรงส่วนปลายขา ก่อนเทียบสัดส่วนของแรงดันโลหิตที่แขนข้างเดียวกัน วิธีนี้ช่วยบ่งชี้โอกาสเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะอัมพฤกษ์-อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมองได้

 

ความดันสูง โรคหัวใจความดันสูง โรคหัวใจ

 

 

5. การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ 128 – Slice CT Scan

     เพื่อตรวจพยาธิสภาพของหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ต้องใส่สายสวนผ่านหลอดเลือดแดง เพื่อใช้ในการวินิจฉัยหลอดเลือดหัวใจ อีกทั้งสามารถตรวจหาปริมาณแคลเซียมหรือหินปูนที่เกาะตามผนังหลอดเลือดหัวใจ และสามารถตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ลักษณะทางกายภาพของหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจ ภาพที่ได้จะถูกประมวลผลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพ ชัดเจนและแม่นยำ ใช้เวลาตรวจเพียง 15 – 30 นาที ผู้รับการตรวจสามารถกลับบ้านได้ทันทีเมื่อตรวจเสร็จ

 

ความดันสูง โรคหัวใจ

 

 

6.  Cardiac MRI (Magnetic Resonance Imaging)

     วิทยาการแพทย์ล่าสุดซึ่งใช้ตรวจและแสดงภาพอวัยวะต่าง ๆ ได้ใกล้เคียงอวัยวะจริงมากที่สุด ทั้งยังมีความไวและความจำเพาะในการวินิจฉัยโรค ทำให้วินิจฉัยโรคได้แม่นยำสูง เพียงส่งผ่านความถี่วิทยุไปยังผู้ป่วยในอุโมงค์สนามแม่เหล็ก ซึ่งช่วยบอกความสามารถในการบีบตัวของหัวใจในระดับโครงสร้างลิ้นหัวใจ และยังสามารถใช้ดูหลอดเลือดหัวใจว่าอุดตันหรือไม่

 

 

 

ความดันสูง โรคหัวใจ

 

 


ควรควบคุมความดันโลหิตให้ปกติอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถลดโอกาสเกิดโรค อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้