แนวทางป้องกันแผลเบาหวาน พร้อมตอบคำถาม แผลจะรักษาหายขาดไหม

February 12 / 2024

แผลเบาหวาน

 

 

ภาวะหลอดเลือดที่ขาตีบตัน เป็นภัยเงียบที่มักคุกคามชีวิตผู้ป่วยโรคเบาหวาน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากไขมันที่ไปเกาะที่ผนังหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดอักเสบ เกิดเป็นพังผืดและมีแคลเซียมสะสมจนเส้นเลือดตีบตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงที่ขาไม่เพียงพอ เมื่อมีแผลเบาหวาน แล้วผู้ป่วยจึงมักไม่รู้สึก แผลหายยาก เกิดเป็นเนื้อตายดำ ๆ ที่เท้า

 

 

 

 

โรคเบาหวานที่เท้า

 

วิธีการรักษาโรคเบาหวานที่เท้า

การตัดเนื้อตาย หรือตัดนิ้วเท้าเพียงอย่างเดียว มักไม่สามารถทำให้แผลหายขาด แต่กลับทำให้แผลลุกลามมากยิ่งขึ้น ในปัจจุบัน การรักษาแผลเบาหวานที่เท้าที่มีสาเหตุมาจากภาวะหลอดเลือดตีบตันสามารถทำได้หลายวิธี และมีความปลอดภัย โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีการตีบตันเพียงเล็กน้อย อาจสามารถรักษาได้ด้วยการทานยา ส่วนในกรณีที่โรคเริ่มมีความรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาการสอดสายสวนขยายหลอดเลือด หรือการผ่าตัดทำ Bypass หลอดเลือดเพื่อให้มีเลือดไปเลี้ยงที่ขา ซึ่งสามารถทำได้แม้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการตีบตันของหลอดเลือดเป็นระยะทางยาว ๆ โดยวิธีเหล่านี้ เป็นเทคโนโลยีการแพทย์ที่น่าเชื่อถือ และทันสมัย ทำให้เลือดกลับมาไหลเวียนเป็นปกติได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด หรือสูญเสียอวัยวะ

 

แผลเบาหวานที่เท้า

ดูแลเท้าอย่างไร ไม่ให้เกิดแผลเบาหวาน

ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรพึงระวัง และใส่ใจดูแลเท้าเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันโอกาสในการสูญเสียอวัยวะด้วยการปฏิบัติตามวิธีง่าย ๆ ดังนี้

 

  1. หมั่นล้างเท้า และซอกนิ้วด้วยสบู่และน้ำสะอาด และเช็ดให้แห้งทุกครั้ง
  2. เลือกซื้อรองเท้าที่มีขนาดเหมาะสมกับเท้า โดยควรเลือกซื้อในช่วงบ่ายเนื่องจากเท้าขยายตัวเต็มที่
  3. ตัดเล็บเท้าตามแนวของเล็บ ไม่ควรปล่อยให้สั้นหรือยาวเกินไป และระวังไม่ให้เกิดบาดแผลขณะตัดเล็บ
  4. ควรสวมถุงเท้าอยู่เสมอ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของเท้า และป้องกันการเสียดสี
  5. หากผิวแห้ง ควรทาครีมบาง ๆ บริเวณเท้า แต่ควรเว้นบริเวณง้ามหรือซอกนิ้ว เพื่อป้องกันการอับชื้น
  6. หมั่นตรวจเท้าทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า
  7. ตรวจสอบรองเท้าก่อนสวมใส่ทุกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในรองเท้า
  8. เข้ารับการตรวจเท้า โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นระยะ
  9. หากเกิดบาดแผล ควรรีบทำความสะอาดเบื้องต้น และรีบพบแพทย์โดยเร็ว

 

 

การป้องกันแผลเบาหวาน

 

เปลี่ยนพฤติกรรมการกินเพื่อดูแล ‘แผลเบาหวาน’

แม้ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะสามารถรับประทานอาหารโดยส่วนใหญ่ได้เหมือนคนทั่วไปแต่การเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกชนิดของอาหาร และการกำหนดปริมาณให้เหมาะสม ก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น

กลุ่มพืชผักต่าง ๆ

ควรเน้นผักใบเขียวที่มีเส้นใยสูง และให้สารอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลน้อย ซึ่งจะช่วยในกระบวนการขัดขวางและชะลอการดูดซึมของน้ำตาลและไขมัน เช่น ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักกาด มะระ พืชตระกูลถั่ว เป็นต้น

กลุ่มผลไม้

ควรเลือกผลไม้ที่มีรสหวานน้อย และมีเส้นใยมาก เช่น ฝรั่ง มะละกอ แอปเปิ้ล ส้มเขียวหวาน ส้มโอ ชมพู่ เป็นต้น โดยกำหนดปริมาณ 3-4 ส่วน/วัน

กลุ่มนม

ควรดื่มนมรสจืด นมพร่องมันเนย นมขาดมันเนย หรือนมถั่วเหลือง โดยเลือกสูตรไม่มีน้ำตาล ควรดื่มไม่เกิน 1-2 แก้ว/วัน (ปริมาณ 250 ซีซี)

กลุ่มข้าว แป้ง และธัญพืช

ควรเลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ผ่านการแปรรูปมาก เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืชไม่ขัดสี ขนมปังโฮลวีต โดยกำหนดให้ไม่เกิน 8-9 ทัพพี/วัน และควรหลีกเลี่ยงขนมหวาน รวมถึงระมัดระวังสารให้ความหวานหรือน้ำตาลเทียม เพราะอาจส่งผลให้ร่างกายอยากน้ำตาลมากยิ่งขึ้น

กลุ่มเนื้อสัตว์

ควรเน้นรับประทาน เนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไม่ติดหนัง โดยกำหนดปริมาณไม่เกิน 12 ช้อนโต๊ะ/วัน และหากผู้ป่วยไม่มีภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง สามารถรับประทานไข่ได้ โดยกำหนดให้ไม่เกินวันละ 2-3 ฟอง

กลุ่มไขมัน

ควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงจากไขมันดี เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด และไม่ควรับประทานเกิน 6-7 ช้อนชา/วัน

 

 

ดูแลแผลเบาหวาน

 

ดูแล ‘แผลเบาหวาน’ อย่างไร ไม่ให้เสี่ยงตัดอวัยวะ

นอกจากผู้ป่วยเบาหวานจะต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่เกณฑ์ปกติแล้ว ก็ควรระวังไม่ให้เกิดบาดแผลใด ๆ แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเกิดบาดแผลขึ้น ก็ควรหมั่นดูแลและติดตามอาการของแผลเบาหวานด้วยตัวเองอย่างเคร่งครัด ดังนี้

 

  • ดูแลความสะอาด

    ควรหมั่นทำความสะอาดแผล วันละ 2-4 ครั้ง ด้วยสบู่ น้ำอุ่น หรือน้ำเกลือ และเช็ดให้แห้งทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์ในการทำความสะอาดแผล เนื่องจากแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำลายโปรตีนในเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นอันตรายต่อแผล

  • ปิดแผลให้แห้งสนิท

    เมื่อทำความสะอาดแผลและเช็ดให้แห้งสนิทแล้ว ต้องใส่ยาฆ่าเชื้อตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ปิดแผลให้สนิท และระวังอย่าให้แผลโดนน้ำโดยเด็ดขาด

  • คอยระวัง และหมั่นสังเกตบาดแผล

    หากพบความผิดปกติที่บริเวณบาดแผล เช่น มีอาการปวด บวม หรือมีน้ำเหลือง โดยเฉพาะแผลมีหนอง ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการอักเสบติดเชื้อรุนแรง

  • ใส่ใจแผลกดทับ

    เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการตายของเนื้อเยื่อที่เกิดจากแผลกดทับ ควรระมัดระวังไม่ให้แผลถูกกดทับนานเกิน 2 ชั่วโมง และควรหมั่นทำความสะอาดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำเกลือนอร์มัลซาไลน์ จากนั้นปิดแผลที่แห้งสนิทด้วยผ้าปิดแผลที่ฆ่าเชื้อแล้วเท่านั้น

 

 

แพ็กเกจคัดกรองเบาหวาน

 

แพ็กเกจคัดกรองเบาหวาน โรงพยาบาลรามคำแหง

แพ็กเกจคัดกรองเบาหวาน โรงพยาบาลรามคำแหง Diabetic care package แพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน (ผู้ชาย-ผู้หญิง) ราคา 4,890 บาท