ห้ามมองข้าม แผลเบาหวาน สามารถบอกระยะความรุนแรงโรคเบาหวานได้

May 07 / 2024

 

แผลเบาหวาน

 

 

 

อาการ ‘เบาหวานลงเท้า’ ถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบมากในผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะเมื่อน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ก็มักส่งผลทำให้เส้นเลือดฝอยและเส้นประสาทบริเวณปลายเท้าเสื่อมสภาพ เกิดเป็นแผลอักเสบเรื้อรัง ติดเชื้อง่าย และยากต่อการรักษา โดยจากการสำรวจพบว่าใน 1 ปี จะมีผู้ป่วยโรคเบาหวานที่สูญเสียอวัยวะมากกว่า 1 ล้านราย แม้ว่าแนวโน้มของสถิติจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนที่เป็นแผลเบาหวาน จะนำไปสู่การถูกตัดนิ้ว เท้า หรือขาเสมอไป เพราะหัวใจของการดูแลรักษาแผลเบาหวาน คือการดูแลป้องกันไม่ให้แผลลุกลาม รวมถึงการหมั่นสังเกตอาการของแผลบริเวณเท้า และรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะทำให้ลดโอกาสที่จะนำไปสู่การสูญเสียอวัยวะได้อย่างมาก

 

รู้ทัน สัญญาณแผลเบาหวานที่เท้า

นอกจากการสำรวจเท้าตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรหมั่นสังเกตอาการเบื้องต้นของอาการ ‘เบาหวานลงเท้า’ ดังต่อไปนี้

 

  • ขนที่นิ้วเท้า เท้า หรือหน้าแข้งลดน้อยลง
  • สีผิวบริเวณนิ้วเท้าคล้ำขึ้น แต่ในบางรายอาจซีดลงจนผิดสังเกต
  • คลำไม่พบชีพจรที่หลังเท้า
  • รู้สึกปวดขาหรือเท้าเวลาเดิน
  • อุณหภูมิของเท้าสองข้างไม่เท่ากัน โดยเท้าข้างที่เป็นแผลมักจะเย็นกว่าข้างปกติ
  • เล็บเท้าหน้าขึ้น หรือ แตกร่อน
  • เท้า หรือนิ้วเท้า บวม แดง มีสีผิดปกติ
  • เป็นแผลเรื้อรัง รู้สึกเจ็บหรือระคายเคือง มีกลิ่นเหม็น
  • หากมีการติดเชื้อลุกลาม อาจมีน้ำหนองไหล และเกิดอาการนิ้วเท้าเน่า

 

โดยหากพบว่ามีบาดแผลบริเวณเท้าเกิดขึ้น ก็ควรรีบดูแลรักษาให้สะอาด แต่หากแผลเริ่มอักเสบ หายช้า หรือมีอาการรุนแรง ก็ควรรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

 

 

แผลเบาหวาน รุนแรง

 

 

เช็กระดับความรุนแรงของแผลเบาหวาน

ในระยะเริ่มแรกก่อนเกิดแผลเบาหวาน ผู้ป่วยมักสังเกตพบว่าตนเองเริ่มรู้สึกปวดขาเวลาเดินได้ระยะหนึ่งจนต้องหยุดพัก อาการดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากหลอดเลือดส่วนปลายบริเวณขาเริ่มเกิดการตีบตัน และในระยะต่อมาเมื่อการตีบตันเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้ผู้ป่วยเริ่มเดินได้น้อยลง และอาจเริ่มสังเกตเห็นบาดแผลเรื้อรังที่บริเวณเท้า

 

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีผู้ป่วยเบาหวานจำนวนมาก ที่ไม่มีอาการปวด และมาสังเกตเห็นบาดแผลที่เท้าในภายหลัง แผลเบาหวานเหล่านี้ มักไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีปกติ โดยความรุนแรงของบาดแผล จะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของบาดแผล แบ่งออกเป็นได้เป็น 4 ระดับ คือ

 

  • ระดับ 0: ไม่มีอาการของแผลเปื่อย
  • ระดับ 1: มีแผลเกิดขึ้นแต่ไม่มีอาการอักเสบ
  • ระดับ 2: แผลเริ่มลึก จนมองเห็นเส้นเอ็นและกระดูก
  • ระดับ 3: แผลลุกลามเป็นบริเวณกว้าง และมีตุ่มหนองอักเสบเกิดขึ้น

3 สาเหตุหลักของแผลเบาหวานที่เท้า

ภาวะปลายประสาทเสื่อม

ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักมีอาการชา หรือไร้ความรู้สึกบริเวณเท้า โดยอาจเริ่มรู้สึกชาจากปลายนิ้วเท้า ไล่ขึ้นไปบริเวณหลังเท้าและขา ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่งผลทำให้ระบบประสาททำงานผิดปกติ เกิดเป็นภาวะปลายประสาทเสื่อมได้ในที่สุด ดังนั้นเมื่อเกิดบาดแผลในบริเวณดังกล่าว ผู้ป่วยจึงมักไม่รู้ตัว ปล่อยให้บาดแผลอักเสบ รวมถึงการเดินลงน้ำหนักที่บริเวณแผล ทำให้แผลถูกกดทับ และไม่สามารถหายได้

ความผิดปกติของหลอดเลือด

ภาวะหลอดเลือดตีบแข็งจนเกิดการอุดตันในผู้ป่วยเบาหวาน มักส่งผลให้เนื้อเยื่อขาดเลือด เนื่องจากเลือดไม่สามารถไหลเวียนมาหล่อเลี้ยงได้อย่างเพียงพอ เมื่อเกิดบาดแผลเรื้อรัง การสมานแผลจึงเป็นไปได้ยากกว่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณปลายนิ้วเท้าหรือส้นเท้า

ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ

นอกจากผลกระทบจากภาวะเนื้อเยื่อขาดเลือดมาหล่อเลี้ยง ทำให้การสมานแผลเป็นไปได้ช้ากว่าคนปกติแล้ว บาดแผลบริเวณเท้ามักสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย ส่งผลให้แผลเกิดการอักเสบลุกลาม และนำไปสู่การสูญเสียเท้าหรือขาตามมาได้

 

 

แผลเบาหวาน ดูแล

 

 

ดูแลแผลเบาหวานอย่างไร ไม่ให้อักเสบเรื้อรัง

  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอย่างเคร่งครัด
  • หมั่นทำความสะอาดแผล ด้วยน้ำเกลือล้างแผลปลอดเชื้อวันละ 2-4 ครั้ง
  • ไม่ควรใช้แอลกอฮอล์ในการทำความสะอาดแผล
  • เช็ดแผลให้แห้งหลังทำความสะอาดบาดแผล และปิดแผลให้แห้งสนิท
  • พบแพทย์เพื่อตรวจประเมินแผลว่ามีภาวะเส้นเลือดส่วนปลายตีบตันร่วมด้วยหรือไม่
  • ห้ามล้างบาดแผลโดยการแช่เท้าในน้ำ
  • ห้ามตัดแต่งบาดแผลโดยใช้ของมีคมด้วยตนเอง
  • ลดแรงกระแทกต่อแผล โดยการปรับเปลี่ยนรองเท้า หรือใช้เครื่องมือพิเศษตามคำแนะนำของแพทย์
  • ทำแผลตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากการดูแลใส่ใจตนเองอย่างใกล้ชิดแล้ว หากพบว่าแผลหายช้า และมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น รู้สึกปวด มีหนองออกจากแผล นิ้วเท้ามีสีเขียวคล้ำ หรือมีอาการบวม แดง ร้อน บริเวณเนื้อเยื่อใกล้เคียง ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา ก็จะเป็นการช่วยไม่ให้บาดแผลอักเสบลุกลาม และลดโอกาสในการสูญเสียอวัยวะได้

 

แพ็กเกจคัดกรองเบาหวาน โรงพยาบาลรามคำแหง

แพ็กเกจคัดกรองเบาหวาน โรงพยาบาลรามคำแหง จะมีเป็น Diabetic care package แพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน (ผู้ชาย-ผู้หญิง) ราคา 4,890 บาท