โรคความดันโลหิตสูง อาการเป็นยังไง สาเหตุของความดันโลหิตสูง

November 15 / 2024

 

 

โรคความดันโลหิตสูง

 

 

 

 

     บางท่านอ่านหัวข้อแล้วอาจจะรู้สึกตกใจว่า 'โรคความดันโลหิตสูง' เป็นสุดฮิตที่พบมากถึง 30-45% และเมื่อเป็นแล้วจะเกิดโรคร้ายตามมา เช่น อัมพฤกษ์-อัมพาต ภาวะหัวใจวาย โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคไต หรือแม้แต่อาการผิดปกติอย่างอาการปวดต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม บางท่านที่เป็นอาจยังไม่มีอาการอะไร แต่หากปล่อยไว้นานจะเกิดอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้ หมอจึงขอนำเสนอหนทางรักษาโรคที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยและญาติที่เป็นโรคนี้ค่ะ   

 

โรคความดันโลหิตสูง

     โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) คือ ภาวะที่แรงดันของเลือดที่มีต่อผนังเลือดสูงพอที่อาจจะทำให้เกิดโรคหัวใจต่าง ๆ ได้ในระยะยาว ความดันโลหิตแปรผันด้วย 2 ปัจจัย ได้แก่  

 

  • ปริมาณเลือดที่ถูกปั๊มออกจากหัวใจ
  • แรงต้านการไหลเวียนของเลือด (กำหนดด้วยความแคบของหลอดเลือด)
  • หากปริมาณเลือดที่ถูกปั๊มออกจากหัวใจสูงขึ้นจะทำให้ความดันยิ่งสูงขึ้น
  • หากหลอดเลือดแคบลงจะเกิดแรงต้านการไหลเวียนของเลือด เหมือนกับแรงดันในระบบการจ่ายน้ำในบ้านเรา ถ้าเราไม่ทำความสะอาดท่อ ปริมาณตะกอนยิ่งมากขึ้น ทำให้ท่อแคบลงและเพิ่มแรงต้านการไหลเวียนของเลือดจนทำให้ความดันสูงขึ้น

 

 

 

โรคความดันโลหิตสูง

 

 

 

อาการของโรคความดันโลหิตสูง

     บางคนที่เป็นความดันโลหิตสูงอยู่หลายปีอาจไม่มีอาการใด แต่เมื่อรู้ตัวอีกทีก็เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง บางรายอาจมีอาการปวดหัว เลือดกำเดาไหล หายใจไม่ทัน ซึ่งอาการเหล่านี้จะมีก็ต่อเมื่อมีความดันสูงมากจนอยู่ในเกณฑ์อันตรายและอาจเสียชีวิตได้

 

 

สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง

โดยทั่วไปโรคความดันโลหิตสูงเกิดได้ใน 2 แบบ ได้แก่

 

  • Primary hypertension ความดันโลหิตสูงที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติจะพบในเวลาที่เราแก่ตัวลง
  • Secondary hypertension ความดันโลหิตสูงที่เกิดจากโรคอื่นหรือผลข้างเคียงของการใช้ยาหรือการใช้สารเสพติด สำหรับคนที่ตกอยู่ในประเภทนี้ อาจจะมีความดันโลหิตสูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน โดยโรคอื่นที่ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง ได้แก่ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ปัญหาไต เนื้องอกในต่อมหมวกไต ปัญหาไทรอยด์ หรือแม้แต่ความผิดปกติของเส้นเลือดตั้งแต่กำเนิด

 

​ผลข้างเคียงของการใช้ยา

 

  • ยาคุม ยาแก้หวัด ยาระบาย ยาแก้ปวด และอื่นๆ
  • โคเคน ยาบ้า
  • การดื่มแอลกอฮอล์

 


เราสามารถควบคุมความดันโลหิตสูงได้แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการป้องกัน


 

 

 

ปัจจัยเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง

 

  • อายุ ความดันโลหิตยิ่งสูง ถ้าอายุมากโดยเฉพาะผู้ชาย
  • พันธุกรรม ผู้ที่มีบิดาและมารดาเป็นโรคความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มสูงที่จะเกิดโรคความดันสูง
  • น้ำหนักเกินหรืออ้วน สัมพันธ์กับอัตราการเกิดความดันโลหิตสูงที่เพิ่มสูงขึ้น
  • การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้นทันทีและสามารถไปทำร้ายผนังเส้นเลือดจนทำให้ผนังเล็กลง
  • เกลือโซเดียม โพแทสเซียม วิตามินดี โซเดียม มีหน้าที่กักน้ำไว้ในร่างกาย หากมีปริมาณน้ำมากเกินจะทำให้ความดันโลหิตสูง ควรควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนปริมาณวิตามินดีจะส่งผลต่อเอนไซม์ในไตที่ควบคุมความดันโลหิต
  • แอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักในระยะยาว อาจทำให้หัวใจมีปัญหา ผู้ชายควรดื่มไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน ผู้หญิงไม่เกิน 1 แก้ว ต่อวัน

 

 

 

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูง

 

  • โรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูงอาจทำให้เส้นเลือดหัวใจหนาและแข็งขึ้นซึ่งอาจทำให้หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองและอื่น ๆ
  • หลอดเลือดสมองโป่งพอง ผนังเส้นเลือดอ่อนตัวลง และโป่งพองจนแตกได้
  • หัวใจล้มเหลว พอมีความดันสูง หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อปั๊มเลือดไปทุกส่วนของร่างกาย กล้ามเนื้อที่หัวใจจึงหนาขึ้น ในระยะยาวหัวใจอาจไม่สามารถปรับตัวได้อีกจนไม่สามารถปั๊มเลือดไปส่งได้พอเพียง หรืออาจมีผลต่อการคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ
  • โรคไตเสื่อม ทำให้ไตถูกทำลายและไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
  • ภาวะเมทาบอลิกซินโดรม การที่ระบบเผาผลาญมีความผิดปกติหลายอย่าง เช่น ไตรกลีเซอร์ไรด์สูง ไขมันในเลือดชนิดดี (HDL Cholesterol) ต่ำ ความดันโลหิตสูง มีน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
  • ปัญหาด้านการจำและทำความเข้าใจ ทำให้ความสามารถในการคิด จดจำ และเรียนรู้ต่ำลง

 

 

เมื่อรู้ว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงต้องตรวจอะไรบ้าง

ตามแนวทางการรักษาของสมาคมโรคหัวใจยุโรปควรจะต้องตรวจหาว่า ความดันโลหิตสูงได้ทำลายอวัยวะภายในโดยที่เรายังไม่มีอาการหรือเปล่า ซึ่งจะมีผลต่อให้แพทย์เลือกใช้ยารักษาที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ 

 

  • การหาภาวะหัวใจโต ทำได้หลายวิธีตั้งแต่ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) หรือการทำอัลตราซาวนด์หัวใจ (Echocardiogram)  ตรวจภาวะไตเสื่อมและการรั่วของโปรตีนจากไต เจาะเลือดและตรวจปัสสาวะ
  • ตรวจค่าหลอดเลือดแข็งตัว ABI และตรวจหาโรคร่วมที่มาพร้อมกับความดันโลหิตสูง เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
     


 

 

 

 

โรคความดันโลหิตสูงโรคความดันโลหิตสูง

 

 

 

การวัดค่าความดันโลหิต

ความดันโลหิตสูงสามารถวัดด้วย "เครื่องวัดความดัน" ซึ่งวัดได้จากท่อนแขนส่วนบนจนปรากฏเป็น 2 ค่า ได้แก่

 

  • ความดันช่วงบน (Systolic pressure) ค่าความดันเลือดขณะที่หัวใจบีบตัว ซึ่งอาจจะสูงตามอายุ อารมณ์ ปริมาณการออกกำลังกาย
  • ความดันช่วงล่าง (Diastolic pressure) คือค่าความดันเลือดขณะหัวใจคลายตัว โดยค่าที่จัดว่าผู้ป่วยอยู่ในเกณฑ์เป็นโรคความดันโลหิตสูงในแต่ละช่วงวัย (Sytolic/diastolic) แบ่งได้ดังนี้
    • ความดันโลหิตสูงสำหรับผู้สูงอายุ            150/90 มม.ปรอท 
    • ความดันโลหิตสูงสำหรับคนอายุน้อย         140/90 มม.ปรอท
    • ความดันโลหิตสูงสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว   140/90 มม.ปรอท

 

 

การรักษาโรคความดันโลหิตสูง

วัตถุประสงค์เพื่อควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ การรักษาโรคความดันโลหิตสูงจึงแบ่งได้ 2 วิธี ได้แก่

 

  • การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดำรงชีวิต เช่น ลดอาหารเค็ม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลิกสูบบุหรี่ ควบคุมปริมาณแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนัก 
  • การรักษาด้วยยา ช่วยลดโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากความดันโลหิตสูงได้ โดยผู้ป่วยแต่ละคนจะตอบสนองต่อยาชนิดต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ซึ่งแพทย์จะปรับยาให้เหมาะสมตามแต่บุคคล 

 

 

 

โรคความดันโลหิตสูงโรคความดันโลหิตสูงโรคความดันโลหิตสูง

 

 

 

ต้องรักษาไปนานแค่ไหน จำเป็นต้องทานยาตลอดหรือไม่  

     เป้าหมายคือการคุมความดันให้ได้ตามเกณฑ์ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามภาวะของผู้ป่วย โดยทั่วไปถือให้ความดันไม่เกิน 140/90 แต่ถ้าอายุมากหมอจะขยับเป็นไม่เกิน 150 ค่ะ ถ้าคุมได้ ไม่ว่าจะใช้ยาหรือปรับพฤติกรรม ก็พบว่าผู้ป่วยมีอัตราตายลดลง หรือพูดง่ายๆ ว่าอายุยืนกว่าคนที่ไม่ได้รักษา ดังนั้นโรคนี้จำเป็นต้องรักษาต่อเนื่อง หากความดันดีแล้วคุณหมออาจจะลดยาหรืออาจจะไม่ต้องใช้ยาแล้วก็ได้ค่ะ

 

 

 


การรักษาความดันโลหิตสูง โรคฮิตร้ายกาจที่ไม่ออกอาการอะไร ทำได้ง่ายหากเราใส่ใจตัวเอง ทานยาต่อเนื่อง ปรับพฤติกรรมและเข้าพบแพทย์ตามนัด ผลตอบแทนที่ได้คือสุขภาพที่ดี ไม่เป็นภาระแก่ลูกหลาน ช่วยเหลือตัวเองได้และมีกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย อย่าลืมดูแลตัวเองนะคะ