s การตรวจหาหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ CT Calcium Score

การตรวจหาหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ CT Calcium Score

November 06 / 2023

 

การตรวจหาหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ CT Calcium Score

 

 

การตรวจหาหินปูนหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium Score) เป็นการตรวจปริมาณแคลเซียมที่ผนังของหลอดเลือดหัวใจ โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ตรวจคัดกรองระดับหินปูนที่เกาะบริเวณหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อประเมินภาวะการอุดตันของหลอดเลือด ก่อนที่จะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลันซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตสูง หรือประเมินแนวโน้มโอกาสในการที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจว่ามีมากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันในอนาคต ปริมาณแคลเซียมนี้สามารถทำนายโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้ และช่วยป้องกันการเกิดภาวะการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack) เพื่อหาทางป้องกันรักษาการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ ทั้งการปรับรูปแบบการดำเนินชีวิต การรับประทานยา หรือแม้แต่การเข้ารับการรักษาฉีดสีสวนหัวใจและขยายหลอดเลือดหัวใจได้ทันการ การตรวจวัดระดับแคลเซียมผนังหลอดเลือดหัวใจ เป็นวิธีการที่สะดวก แม่นยำ ปลอดภัย และเชื่อถือได้ที่สุด ในการตรวจหาภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันก่อนเกิดโรค และเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

 

 

 

การมีหินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากอะไร?

 

การมีหินปูนเกาะบริเวณผนังหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากการสะสมของแคลเซียมในหลอดเลือดแดง ทั้งการเสื่อมโดยธรรมชาติหรืออาจเกิดจากการอักเสบบริเวณจุดใดจุดหนึ่ง กลไกของร่างกายจึงสร้างแคลเซียมมาป้องกันบาดแผลบริเวณที่อักเสบไว้ หินปูนยังสามารถแฝงตัวมากับคราบไขมันมาเกาะติดบริเวณหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งและตีบตันนั่นเอง โดยมีการศึกษาพบว่าการมีหินปูนเกาะอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจแม้เพียงเล็กน้อยก็เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันและนำไปสู่ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ในอนาคต ดังนั้นการมีหินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจเป็นตัวบ่งชี้ของโรคหลอดเลือดหัวใจและสามารถช่วยในการประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

การไหลเวียนของเลือดที่ดีเป็นสิ่งสำคัญในหลอดเลือดหัวใจ เพราะมันส่งเลือดที่อุดมด้วยออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อเกิดคราบหินปูนและไขมันสะสมในหลอดเลือดแดง จะทำให้เลือดไหลผ่านได้ยากขึ้น หากเลือดไม่สามารถผ่านหลอดเลือดหัวใจได้ อาจทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกและ/หรือหัวใจวายได้

 

 

 

การตรวจ Calcium Score ต่างจากการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) อย่างไร?

 

เนื่องจากภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ จากตีบน้อยไปตีบมาก เป็นกระบวนการเสื่อมของเส้นเลือดทีละน้อยอย่างช้าๆ จนเกิดมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ในระยะท้ายๆ และเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ อุดตัน หรือแตก ในที่สุด ซึ่งการตรวจ Calcium Score จะทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงหรือความเสื่อมของหลอดเลือดได้ตั้งแต่ระยะแรก

 

การตรวจสมรรถภาพหัวใจโดยการเดินสายพาน หรือที่เรียกว่า Exercise Stress Test (EST) เป็นการตรวจหาภาวะขาดเลือดในขณะที่ผู้ป่วยออกกำลังกายหรือหัวใจทำงานหนัก โดยเส้นเลือดที่ตีบมากจะทำให้เลือดไหลผ่านได้น้อยกว่าปกติ จนทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก และคลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงในขณะที่ออกกำลังกายหรือหัวใจทำงานหนัก โดยผลที่ประเมินได้จะเป็นไปในลักษณะที่ว่า

  • การตรวจ EST จะพบความผิดปกติก็ต่อเมื่อเส้นเลือดหัวใจได้ตีบมากแล้ว

  • แต่การตรวจ Calcium Score สามารถตรวจพบความผิดปกติของเส้นเลือดที่มีหินปูนไปเกาะบนผนังของเส้นเลือดตั้งแต่ระยะที่มีการตีบไม่มากไปจนถึงตีบมากได้

 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า CAC เป็นการตรวจที่สามารถหา “ความเสื่อม” ของเส้นเลือดหัวใจตั้งแต่ระยะแรกๆ ที่ยังไม่มีอาการได้ จึงช่วยประเมิน “ความเสี่ยง” ของการเกิดโรคหัวใจในอนาคตได้ดีและรวดเร็ว นำไปสู่การจัดการหรือการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่เหมาะสมต่อไป

 

 

ความสัมพันธ์ของ Calcium Score กับความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจในอนาคต

 

นอกจากหินปูนที่ตรวจพบ การตรวจ Calcium Score จะบ่งบอกถึงความเสื่อมของเส้นเลือด ปริมาณหินปูนที่พบยังสัมพันธ์กับปริมาณตะกรันในหลอดเลือด (Plague burden) คือ ค่ายิ่งมากแปลว่าหลอดเลือดยิ่งเสื่อมมาก หรือมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

 

 

 

อาการของผู้ที่มีหินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ

 

ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมักไม่มีอาการใดๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป อาจมีอาการต่างๆ เช่น

 

1. ภาวะเจ็บแน่นหน้าอก
2. อาการหายใจไม่อิ่ม หายใจสั้นๆ รู้สึกหายใจลำบาก
3. กล้ามเนื้อหัวใจตายหรือขาดเลือดเฉียบพลัน

 

ข้อดีของการตรวจ CT Calcium Score

 

  • มีความแม่นยำสูงในการประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ จึงช่วยให้เกิดการวางแผนป้องกันหรือรีบรักษาอย่างทันท่วงที

  • ไม่ต้องมีการเตรียมตัว สามารถตรวจได้ทันที ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล

  • ใช้เวลาในการตรวจน้อย ไม่เจ็บตัว

  • ไม่มีการฉีดสารทึบรังสี

 

 

ใครที่ควรเข้ารับการตรวจ CT Calcium Score

 

  • บุคคลทั่วไปที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ทั้งชายและหญิง

  • ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง

  • ผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่

  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน, โรคอ้วน

  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

 

 

ประโยชน์ของการตรวจ CT Calcium Score

 

การตรวจพบหินปูนที่หลอดเลือด จะทำให้เราทราบถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในอนาคตว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะเมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับความเสี่ยงพื้นฐานของแต่ละคน เช่น อายุ โรคร่วมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เช่น ความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือประวัติสูบบุหรี่ ซึ่งจะนำพาไปสู่การควบคุมและรักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดโอกาสเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในอนาคตได้

 

 

การป้องกันโรคหัวใจ

 

เพราะการป้องกันโรคหัวใจนี้ สามารถทำได้ง่ายๆ และทำได้ทุกคน ไม่ว่าจะเสี่ยงมากหรือน้อย เช่น

  • งดสูบบุหรี่

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

  • ลดอาหารไขมัน

  • พักผ่อนให้เพียงพอ

  • ไม่เครียด

  • โดยเฉพาะถ้าเป็นความดันเลือดสูง และ เบาหวาน ก็จะได้ปรับพฤติกรรมและดูแลตัวเองมากขึ้น

 

 

 

Calcium Score คือการตรวจหา ‘หินปูนในเส้นเลือดหัวใจ’ ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อสำรวจ ‘ความเสื่อม’ ของเส้นเลือดหัวใจ และประเมิน ‘ความเสี่ยง’ ของการเกิด โรคหลอดเลือดหัวใจ ในอนาคต แม้จะยังไม่มีอาการแสดง

 

 

แก้ไข

18/10/2566