หยุด!..กินตามอารมณ์ เพราะอาจส่งผลเสียมากกว่าที่คิด

October 05 / 2023

 

หยุด!..กินตามอารมณ์ เพราะอาจส่งผลเสียมากกว่าที่คิด

 

 

 

 

กินตามอารมณ์ (Emotional Eating) คือ สาเหตุต้นๆ ที่ทำให้เราน้ำหนักเกิน ผู้เชี่ยวชาญพบว่าคนส่วนใหญ่จะกินเพราะอารมณ์มากถึง 75% โดยเฉพาะอาหารขยะที่มีแคลอรี่และน้ำตาลในปริมาณที่เยอะเกินไป
 

เวลาเครียดเพื่อนๆ ทำอะไรกันครับ บางคนอาจจะแก้เครียดด้วยการนั่งสมาธิ บางคนอาจจะโทรคุยกับเพื่อนเพื่อระบายความรู้สึกอึดอัด บางคนอาจจะฟังเพลงหรืออ่านหนังสือเพื่อแก้เครียด แต่คิดว่าคงมีอีกหลายคนที่ใช้การกินเพื่อลดความเครียด หรือกินแก้เครียด แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ความเครียดเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายๆ คน ที่ชอบกินอาหารเมื่อรู้สึกเบื่อไม่มีอะไรทำ โกรธ เศร้า เหงา ฯลฯ ทั้งที่ไม่ได้มีความหิวซักนิด ซึ่งการกินกับอารมณ์ต่างๆ มักเกี่ยวข้องกัน แต่จะเกี่ยวกันอย่างไร?  มาดูกันครับ...

 

กินตามอารมณ์ (Emotional Eating) คือ การกินอาหารที่ไม่ได้เกิดจากความหิว แต่เกิดจากอารมณ์ โกรธ เบื่อ เหงา เศร้า เครียด และก็อยากกินแต่ของหวานที่มีแป้งเยอะๆ น้ำตาลและไขมันสูงๆ

 

หลายคนคงเคยเป็นเวลาเบื่อๆ หรือกำลังจดจ่อกับละคร, ซีรีย์ เราสามารถกินมันฝรั่งทอดกรอบ หรือช็อคโกแลตหมดถุงได้เลยทีเดียว ซึ่งบางทีเราอาจจะหลงลืมไปว่าสิ่งที่กินเข้าไปนั้นมันคือไขมันและพลังงานอันมหาศาลที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย หรือเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ แต่เมื่อรู้ตัวอีกทีก็หมดไปแล้ว

 

 

 

 

อารมณ์ที่เกิดจากความเครียด ความเบื่อหน่าย หรือแม้แต่ความเหนื่อยล้า ล้วนเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการกินตามมา หลายคนใช้วิธีกินอาหารเพื่อเติมเต็มอารมณ์ต่างๆ เหล่านั้น บางส่วนรู้สึกอยากกินเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้า จึงหาเรื่องที่จะกินเพื่อเติมเต็มอารมณ์แทนการหากิจกรรมอื่นๆ ทำก็เป็นได้

 

เมื่อคนเราเครียดร่างกายจะหลั่งคอร์ติซอล หรือที่เรียกกันว่าฮอร์โมนความเครียดออกมาเพื่อรับมือกับความเครียด แต่หากมีคอร์ติซอลมากเกินไป อาจทำให้มีปัญหาในการนอน วิตกกังวล รวมไปถึงทำให้อยากอาหารมากกว่าปกติได้ด้วย เมื่อเราหายเครียดคอร์ติซอลในร่างกายก็จะลดลงสู่ระดับปกติ แต่หากเรามีความเครียดสะสม เกรลินซึ่งเป็นเปปไทด์ฮอร์โมนที่สร้างจากกระเพาะอาหารและรู้จักกันในชื่อของ ฮอร์โมนความหิว จะถูกหลั่งออกมามากขึ้น ทำให้เรารู้สึกอยากอาหารมากกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีรสชาติ หวาน เค็ม หรือ อาหารไขมันสูง เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด ขนมเค้ก เป็นต้น แน่นอนว่าในตอนแรกของความเครียด เราอาจจะไม่รู้สึกอยากอาหารใดๆ แต่พอเวลาผ่านไปซักพักความอยากอาหารจะโจมตีมาแทน

 

 

กินตามอารมณ์ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไร?


การกินตามอารมณ์หรือกินเพราะเครียด นั้นสร้างปัญหาให้กับระบบเมตาบอลิซึม ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้น้อยลง แคลอรี่ที่เกินมาก็จะกลายไปเป็นไขมันที่พุง ช่องท้อง แขน ขา ฯลฯ ที่อาจส่งผลทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ เช่น ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน เบาหวาน และนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอันตรายร้ายแรงต่อไปได้ในอนาคต

 

 

 

เราจะจัดการกับพฤติกรรมนี้อย่างไร?


สำคัญเลยก็คือเรื่องพฤติกรรม ควรต้องมีสติรู้ตลอดเวลาว่าเรามีอารมณ์อย่างไร ก่อนหยิบอะไรใส่ปาก เพื่อดูให้แน่ใจว่ากินเพราะหิวจริงๆ หรือกินตามอารมณ์ และพยายามกินอาหารให้ครบ 3 มื้อ หรือถ้ารู้ตัวว่าหิวบ่อย แนะนำให้ซื้อของกินเล่นที่มีประโยชน์ เช่น ถั่วเขียวอบ ถั่วพิสตาชิโอ โยเกิร์ตไขมันต่ำและผลไม้สด ติดไว้ทานระหว่างมื้อ เพื่อลดความอยากอาหารลง และจะได้ไม่ไปหาอาหารขยะมากิน หรือหากิจกรรมอย่างอื่นทำ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ออกกำลังกาย ที่สำคัญคือต้องมีสติ มืออย่าหยิบ ปากอย่าเคี้ยว แน่นอนสำหรับบางคนอาจจะเป็นเรื่องยากที่จะทำ และวิธีแก้ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างก็คือการค้นหาต้นตอของความเครียดนั้นๆ

 

 

 

หากปัญหาความเครียดนั้นสูงเกินกว่าปกติเช่นเดียวกับการกิน แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์ และนักโภชนาการดีกว่า เพราะจะช่วยให้เราจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้นนั่นเองครับ

 

 

แก้ไข

05/10/2566