ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest)

January 02 / 2025

 

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

 

 

 

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

 

 

     ปกติหัวใจคนเราเต้นประมาณ 60 - 80 ครั้ง/นาที เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อย่างไรก็ตาม กรณีของคนที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หัวใจจะหยุดเต้นหรือเต้นแบบไม่มีประสิทธิภาพจนไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ ซึ่งเกิดจากระบบไฟฟ้าหัวใจที่มีปัญหา

 

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

     ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest : SCA) คือการที่หัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้เพียงพอ เนื่องจากระบบไฟฟ้าที่กำกับระบบจังหวะการเต้นของหัวใจมีปัญหา หัวใจจึงเต้นได้ไม่มีประสิทธิภาพหรือหยุดเต้น

 

 

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน  หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

 

 

ใครที่มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

     หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยมักเกิดขึ้นเฉียบพลันและไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อน ทำให้ไม่มีโอกาสเตรียมตัว โดยเฉพาะคนที่มีโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีโอกาสเสี่ยงสูงกว่าคนอื่น เนื่องจากระบบไฟฟ้าของหัวใจ (Arrhythmia) มีปัญหาอยู่แล้ว ส่วนคนที่มีปัญหาหลอดเลือดหัวใจ ก็อาจไปกระตุ้นทำให้เกิดภาวะได้

 

 

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

  • ประวัติครอบครัว
  • ความดันโลหิตสูง
  • สูบบุหรี่
  • โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
  • เคยเป็นลมไม่ทราบสาเหตุ
  • มีหัวใจเต้นผิดปกติ
  • เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย

 

 

อาการของภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

คนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจะหมดสติทันที เพราะสมองขาดเลือดจากหัวใจที่หยุดเต้น พร้อมกับอาการอื่นร่วม เช่น

 

  • เป็นลมหมดสติ
  • ไม่มีชีพจร
  • ไม่หายใจ

 

 


ผู้ที่มีโรคหัวใจอยู่แล้ว เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย กล้ามเนื้อหัวใจหนา กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนกำลัง หัวใจทำงานล้มเหลว ท่านเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิด SCA ควรเข้ารับการรักษา และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อหาวิธีการป้องไม่เป็นโรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน


 

 

วิธีตรวจหาภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
  • ตรวจวัดค่าแรงบีบตัวของหัวใจด้วยการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram)
  • สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาหัวใจเต้นผิดปกติ ควรรักษาให้ถูกต้อง ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดถ้าใช้ไม่ระมัดระวังอาจทำให้เกิด SCA ได้
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีความเสี่ยงสูงหรือเคยรอดชีวิตจาก SCA แพทย์จะทำการฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เรียกว่าเครื่องกระตุกหัวใจ (AICD) ไว้ที่หน้าอก เครื่องนี้จะทำหน้าที่เหมือนเป็นแพทย์ประจำตัวที่จะทำการกระตุกหัวใจให้กลับมาเป็นปกติโดยอัตโนมัติ เมื่อเกิด SCA สำหรับท่านที่มีโรคหัวใจอ่อนกำลัง ควรปรึกษาแพทย์ว่าท่านควรได้รับเครื่องตัวนี้หรือไม่

 

 

การป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

กรณีเป็นโรคที่หายยากอย่างเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงควรควบคุมให้อยู่ในระดับที่แพทย์แนะนำ อย่างไรก็ตาม รายที่เป็นโรคหัวใจอื่น ๆ อยู่ ควรตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เนื่องจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมักเกิดขึ้นทันที

 

  • เลิกสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์
  • ตรวจสอบประวัติครอบครัว
  • ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รักษาภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เเละเบาหวาน
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

 

 

หากพบคนที่ทรุดตัวลงหรือลงไปนอนกับพื้น ควรทำอย่างไร?

ควรดูว่าหมดสติ มีชีพจร หายใจอยู่หรือไม่ เนื่องจากคนที่หมดสติหรือทรุดตัวลงอาจเกิดจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการกู้ชีวิตทันที

 

  • กู้ชีวิตพื้นฐาน หรือ เรียกคนมาช่วย
  • โทรหาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือ โทร. 1669
  • ใช้ AED

 

 

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเกิดขึ้นได้กับทุกคน มักเกิดขึ้นเฉียบพลันและไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อน คนที่มีโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะจะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนอื่น