“ต้อหิน” พบก่อนรักษาทัน ป้องกันตาบอดได้

December 23 / 2024

ต้อหิน

 

 


     ต้อหิน (Glaucoma) เป็นโรคที่มีการเสื่อมของเส้นประสาทตา ทำให้มีความบกพร่องในการส่งสัญญาณภาพ เมื่อส่งสัญญาณภาพไม่ได้ก็จะส่งผลทำให้สูญเสียการมองเห็นไปโดยทั่วไป ผู้ป่วยโรคต้อหินมักจะมี "ความดันลูกตาสูง" กว่าปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการทำลายของเส้นประสาทตา

 

ต้อหิน

 

     อาการของโรคต้อหินในระยะแรกจะไม่มีอาการใดๆ ต่อมาเมื่อประสาทตาถูกทำลายไปมากกว่า 40% ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการสูญเสียการมองเห็น โดยลานสายตาจะแคบลงเรื่อยๆ และถ้าไม่ได้รับการรักษาเส้นประสาทตาก็จะสูญเสียไปอย่างช้าๆ จนกระทั่งมองไม่เห็นในที่สุด


 

จะรู้ได้ยังไง? ว่าเป็นโรคต้อหิน

การตรวจผู้ป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยด้วยโรคนี้ อย่างแรกคือ

  • การตรวจวัดความดันตา ซึ่งแพทย์จะส่องดูลักษณะในดวงตาว่ามีกรณีใดที่เข้าได้กับต้อหินบ้าง เช่น ลักษณะขั้วประสาทตาที่ใหญ่กว่าปกติ เพราะเส้นประสาทถูกกดเบียดหรือถูกทำลายหายไป
  • การตรวจเพิ่มเติมด้วยเครื่องมือพิเศษเพื่อตรวจ "ลานสายตา" ซึ่งเป็นการหาจุดบอดที่เส้นประสาทจุดนั้นตรงนั้นว่าทำงานหรือไม่
  • ทดสอบการสแกนขั้วประสาทตา หรือ OCT เป็นการใช้อินฟราเรดเลเซอร์ยิงเข้าไปวัดความหนาของเส้นประสาท หรือไปดูเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น ว่ายังสมบูรณ์ดีหรือไม่ จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลรวมกันแล้วสรุปว่าผู้ป่วยเป็นโรคต้อหินหรือไม่

 

ต้อหิน
 

 

ใครบ้าง?.. ที่เสี่ยงเป็นโรคต้อหิน

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต้อหิน คือ

 

  • ผู้ที่มีระดับความดันตาค่อนข้างสูง โดยสูงมากกว่า 21 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
  • อายุที่มากขึ้น
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคต้อหิน
  • เคยเกิดอุบัติเหตุที่ตาหรือเคยได้รับการผ่าตัดตา
  • มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
  • ผู้ที่มีกระจกตาบางกว่าปกติ

 

 


ทั้งนี้สามารถพบผู้ป่วยโรคนี้ได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ กลุ่มที่พบมากที่สุดคือผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป นอกจากนี้คนที่สายตาสั้นหรือยาวมากๆ ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อหินได้ในอนาคต


 

 

 

ต้อหิน

 


โรคต้อหินรักษาได้อย่างไรบ้าง?

     การรักษามีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้ความดันตาลดลง เป็นการป้องกันและยับยั้งการสูญเสียเส้นประสาทตาจากโรคต้อหินเนื่องจากเส้นประสาทตาส่วนที่เสียไปแล้วจะไม่สามารถกลับคืนมาได้ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้ยาหยอดตา การทำเลเซอร์ และการผ่าตัดโดยอาจเริ่มจากการใช้ยาที่เป็นประเภทยาหยอดตาส่วนการใช้เลเซอร์สามารถใช้ร่วมกับยาได้เพื่อช่วยประคับประคองเส้นประสาทตาไม่ให้ถูกกดทับ ส่วนการผ่าตัดจะใช้ในกรณีที่ยาและเลเซอร์ไม่สามารถควบคุมความดันตาได้จึงต้องผ่าตัดเพื่อลดความดันตาให้ต่ำลง โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน

 

ต้อหินต้อหินต้อหิน
 


 

แผนกจักษุพร้อมให้การดูแล

     ต้อหินมีความอันตรายต่อดวงตาของเรามาก หากไม่ดูแลรักษาสุขภาพดวงตาให้ดี ก็อาจทำให้เสี่ยงสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ นอกการตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำแล้ว การทานอาหารที่มีประโยชน์มีวิตามินอี เอ และวิตามินซี บำรุงสายตา และหลีกเลี่ยงการมองแสงแดดจ้า สวมแว่นกันแดดป้องกันแสงยู ก็ถือเป็นการป้องกันดวงตาที่ดี ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถใช้งานดวงตาได้ยาวนานมากขึ้น

 

 

 

 

ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีความเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้น ควรได้รับการตรวจคัดกรองความดันตาและตรวจขั้วประสาทตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และอาจตรวจซ้ำตามคำแนะนำของแพทย์ หากเกิดความผิดปกติขึ้นกับดวงตาจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที

 

 

แก้ไข

01/09/2566