กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ป้องกันได้ยังไง? ต้องอ่าน

December 13 / 2024

 

 

 

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ป้องกันได้ยังไง? ต้องอ่าน

 

 

 


     กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ด เป็นอาการที่ไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้ อาจพบอาการปัสสาวะเล็ดขณะเคลื่อนไหว หรือปัสสาวะราด ปัญหานี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุทั้งหญิงและชาย ทั้งยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตและจิตใจของผู้สูงอายุ 

 

 

 

 

 

กลั้นฉี่ไม่อยู่

 

 

 

 

สาเหตุของการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

เมื่ออายุที่เพิ่มขึ้น ร่างกายส่วนต่างๆ ก็เริ่มเสื่อมและทำงานได้น้อยลง อีกทั้งโรค ยา และการใช้ชีวิตก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของอาการปัสสาวะเล็ดมากขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้สูงอายุบางคนเจอกับปัญหานี้ โดยสาเหตุอาจมาจาก

 

  • ความผิดปกติของกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรง จึงทำให้กล้ามเนื้อหูรูดปิดไม่สนิท หรือกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะทำงานมากกว่าปกติ เมื่อมีปริมาณปัสสาวะมากก็อาจทำให้ปัสสาวะเล็ดและกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ฯลฯ
  • การติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศหญิงหรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
  • เส้นประสาทที่คอยควบคุมการปัสสาวะเสียหาย ซึ่งอาจมีผลจากการบาดเจ็บหรือโรคอื่น เช่น โรคเบาหวาน โรคพาร์กินสัน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ฯลฯ
  • กระบังลมหย่อนส่งผลให้อวัยวะในบริเวณอุ้งเชิงกรานหย่อน อย่างมดลูก ลำไส้ และกระเพาะปัสสาวะ
  • โรคต่อมลูกหมากอักเสบ ต่อมลูกหมากโต กล้ามเนื้อและเส้นประสาทบริเวณต่อมลูกหมากเสียหายหรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุและการผ่าตัด ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดในผู้สูงอายุเพศชาย
  • การรับประทานอาหาร เครื่องดื่มหรือยาบางชนิดก็มีส่วนกระตุ้นให้ร่างกายผลิตปัสสาวะมากขึ้น ทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยและอาจมีปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน น้ำอัดลม อาหารรสจัด (เผ็ด หวาน เปรี้ยว)
  • หากมีน้ำหนักตัวมาก สูบบุหรี่หรือมีประวัติคนในครอบครัวกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ก็อาจเสี่ยงปัสสาวะเล็ดได้สูงกว่าคนทั่วไป

 

 

 


ผู้สูงอายุที่ใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะยารักษาโรคหัวใจ ยาโรคความดันโลหิต ยาคลายกล้ามเนื้อหรืออาหารเสริม ควรปรึกษาแพทย์เรื่องปัญหาปัสสาวะเล็ดที่เกิดขึ้น เนื่องจากอาจเกิดจากการใช้ยาและอาหารเสริมเหล่านี้ได้


 

 

 

 

 

 

กลั้นฉี่ไม่อยู่กลั้นฉี่ไม่อยู่กลั้นฉี่ไม่อยู่

 

 

 

 

ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเหล่านี้อยู่ แนะนำให้ลองทำตามนี้ดูครับ

1.  ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

การใช้ชีวิตบางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ด หากปรับพฤติกรรมจะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าว เช่น

 

  • ลดและควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้ปัสสาวะบ่อย เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม 
  • งดสูบบุหรี่และเลี่ยงทานอาหารรสจัด ไม่ยกของหนักเกิน ซึ่งทำให้เกิดแรงกดบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ฯลฯ

 

 

 

กลั้นฉี่ไม่อยู่กลั้นฉี่ไม่อยู่

 

 

 

2.  ฝึกควบคุมการขับถ่าย

     ควรฝึกกลั้นปัสสาวะให้นานขึ้นเล็กน้อยก่อนถ่ายปัสสาวะ และพยายามฝึกเข้าห้องน้ำให้เป็นเวลา ไม่ควรเบ่งปัสสาวะอย่างรุนแรงและควรปัสสาวะให้หมด

 

 

กลั้นฉี่ไม่อยู่กลั้นฉี่ไม่อยู่

 

 

3.  หมั่นบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและหูรูด

     สาเหตุหลักที่พบบ่อยคือกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน หูรูดไม่แข็งแรงหรือเสื่อมสภาพไปตามวัย หากผู้สูงอายุหมั่นฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและหูรูดให้แข็งแรง ก็ช่วยลดปัญหาเหล่านี้ลงได้เป็นอย่างดี

 

 

 

 

กลั้นฉี่ไม่อยู่กลั้นฉี่ไม่อยู่

 

 

 

ฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและหูรูดให้แข็งแรง

1.  บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน

  • นอนราบกับพื้น ยกเข่าทั้งสองตั้งขึ้น แยกขาออกจากกันเล็กน้อยให้ปลายเท้าขนานกับไหล่
  • ออกแรงเกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ก้น และท้องน้อย ค้างไว้เป็นเวลา 5 วินาที
  • เมื่อครบ 5 วินาที ค่อยคลายกล้ามเนื้อแล้วกลับมาอยู่ในท่าตั้งต้น (ตามข้อที่ 1)
  • ทำตามข้อที่ 2 และ 3 ซ้ำ ให้ครบ 1 นาที (นับเป็น 1 รอบ) ทำซ้ำเป็นจำนวน 10 รอบ หรือ 10 นาที

 

2.  บริหารกล้ามเนื้อหูรูด

     ฝึกขมิบกล้ามเนื้อหูรูด ครั้งละประมาณ 5 วินาที และหยุดขมิบ 10 วินาที ทำซ้ำให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยแบ่งทำในช่วงเช้า กลางวัน และเย็น เป็นประจำทุกวัน แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาให้มากขึ้น ซึ่งการฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและหูรูดทุกวันสามารถช่วยป้องกันและลดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือปัสสาวะเล็ดได้
 

 

อ่านเพิ่มเติม: รักษาโรคปัสสาวะเล็ดด้วยเทคโนโลยีเก้าอี้คลื่นแม่เหล็ก

 

 

 


ปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ดนับวันเริ่มเป็นมากขึ้นและกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ซึ่งช่วยให้ผู้สูงอายุกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีความสุข


 

 

 

แก้ไข

25/08/2566