ฟันปลอมมีกี่แบบ แบบไหนดี แตกต่างอย่างไร?

December 20 / 2024

​​​​​

ฟันปลอมมีกี่แบบ แบบไหนดี

และแตกต่างอย่างไร?

 

 

 

     ฟันปลอมหรือฟันเทียมเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ออกแบบมาเพื่อทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญหาย ทั้งรูปร่าง ขนาด สี สัมผัสและความแข็งแรงนั้นใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยใช้บดเคี้ยวอาหาร ขยับปากพูดคุยและยิ้มแย้มอย่างมั่นใจได้อีกครั้ง

 

 

ฟันปลอม

 

 

ถ้าไม่ใส่ฟันปลอมจะมีผลอย่างไร

     หากขาดสิ่งที่เรียกว่า 'ฟัน' ก็ทำผู้ป่วยสูญเสียความมั่นใจและต้องหวาดหวั่นเมื่อถึงเวลาอ้าปากพูด ยิ่งถึงเวลารับประทานอาหารก็ยิ่งลำบาก เพราะอาจส่งผลถึงระบบย่อยอาหารจากการเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด โดยเฉพาะผู้สูงอายุยิ่งน่าเป็นห่วง เนื่องจากพบว่าฟันข้างเคียงเริ่มเคลื่อนตัวจนมีช่องว่างร่วมฟันคู่ที่ยื่นยาว ทำให้เศษอาหารติดตามซอกฟันได้ง่ายจนเกิดกลิ่นปากและทำความสะอาดยาก ถ้าปล่อยไว้นานก็อาจเกิดปัญหาข้อต่อขากรรไกรตามมา

 

ชนิดของฟันปลอม

ฟันปลอมแบ่งได้คร่าวๆ ตามรูปแบบการใช้งานได้ 2 กลุ่ม คือ

1. ​ฟันปลอมถอดได้

เป็นฟันปลอมชนิดที่ผู้ป่วยสามารถใส่และถอดออกมาล้างทําความสะอาดเองได้ ซึ่งมีทั้งใส่แบบทั้งปากและใส่แบบบางส่วน

 

 

ฟันปลอมฟันปลอมฟันปลอม

 

 

แบ่งได้ตามวัสดุที่ใช้ทําฐานฟันปลอม ดังนี้

  • ฟันปลอมถอดได้แบบโครงโลหะ ทําจากโลหะผสมที่ไม่เกิดการสึกกร่อนหรือเป็นสนิม ทั้งยังได้รับการออกแบบให้มีฐานบางให้แนบกับเหงือกและฟันได้ดี ซึ่งมีความแข็งแรงต้านแรงบิดตัว ผู้ป่วยจึงสามารถใช้บดเคี้ยวได้ดีและยังรับความรู้สึกร้อนเย็นตามอุณหภูมิของอาหารที่รับประทานด้วย
  • ฟันปลอมถอดได้โครงหรือฐานอะคริลิก มีทั้งแบบโครงชนิดแข็งและชนิดยืดหยุ่น ตามปกติใช้ใส่ชั่วคราวในระหว่างรอให้แผลหาย โดยแพทย์จะถอนฟันเพื่อใส่ฟันถอด โครงโลหะหรือฟันปลอมชนิดติดแน่นต่อไป หรือจะใช้ใส่แบบถาวรก็ได้ ตามแต่เงื่อนไขอื่นประกอบกัน

 

2. ฟันปลอมชนิดติดแน่น

โดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 แบบ ซึ่งผ่านการกรอแต่งรูปร่างไว้ใช้เป็นหลักยึดของฟันปลอม

 

  • ครอบฟัน (Crown) เป็นฟันปลอมติดแน่นแบบแยกเป็นซี่ๆ ไป
  • สะพานฟัน (Bridge) เป็นฟันปลอมติดแน่นแบบยึดโยงระหว่างฟัน ธรรมชาติหลายหลักยึดมีลักษณะคล้ายสะพาน

 

 

 

ฟันปลอมฟันปลอม

 

 

กรณีฟันปลอมติดแน่นชนิดที่ใช้การฝังรากฟัน

     หากใช้ฟันปลอมติดแน่นชนิดที่ใช้การฝังรากฟันเทียมมาทดแทนบริเวณที่สูญเสียฟัน ทันตแพทย์อาจต้องให้ผู้ป่วยรอนานราว 2 เดือน เพื่อให้กระดูกยึดติดกับรากฟันเทียมแน่น หลังจากนั้นจึงเริ่มทำต่อส่วนแกนฟัน ที่ครอบฟันและตัวยึดติดให้ผู้ป่วยใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพใกล้เคียงฟันธรรมชาติ

 

 

ฟันปลอม

 

 

การพิจารณาเลือกใช้วัสดุทำฟันปลอม

     ทันตแพทย์จะพิจารณาเลือกใช้วัสดุทำฟันปลอมจากความเหมาะสมหลายอย่าง เช่น การสบฟัน แรงบดเคี้ยว ความสวยงาม รวมทั้งความต้องการของผู้ป่วยมาประกอบการตัดสินใจร่วมกัน

 

โดยแบ่งประเภทของวัสดุที่ใช้ได้คร่าว ดังนี้

  • ชนิดโลหะล้วน (Full Metal) เป็นโลหะผสม (alloy) เหมาะกับการใส่ฟันหลังบริเวณที่ต้อง รับแรงบดเคี้ยวมากๆ หรือมีความสูงตัวฟันน้อยทําให้ไม่สามารถกรอด้านสบฟันให้หนาพอที่จะใส่ครอบฟันชนิดอื่นได้
  • ชนิดกระเบื้องยึดติดกับโครงโลหะ (Porcelain Fused to Metal) เหมาะกับการใส่ฟันได้ทุกตําแหน่ง กรณีที่กรอด้านสบฟันแล้วมีความหนาของการทําครอบฟันชนิดนี้พอใส่แล้วมีความสวยงามและใช้บดเคี้ยวได้ดี
  • ชนิดกระเบื้องล้วน (All Ceramic) เหมาะกับฟันหน้าหรือฟันกรามน้อยที่ไม่ต้องใช้แรงบดเคี้ยวมากนัก มีความสวยงาม ที่ได้สวยใกล้เคียงธรรมชาติมาก
  • ชนิดเซอร์โคเนีย (Zirconia) เหมาะกับฟันหน้าและฟันหลังที่ต้องการความแข็งแรงและมีความสวยงามใกล้เคียงฟันธรรมชาติ

 

 

ข้อดีและข้อด้อยของฟันปลอม

1. ฟันปลอมชนิดถอดได้

ข้อดี

  • ใส่ได้ทั้งแบบซี่เดียวและหลายซี่ด้วยการใช้ฐานฟันปลอมชิ้นเดียว
  • ผู้ป่วยสามารถถอดและใส่และทําความสะอาดได้ด้วยตัวเอง
  • ในกรณีมีกระดูกขากรรไกรละลายยุบลงมากจากการถอนฟันมานาน สามารถเสริมความหนาของฐานฟันปลอมเพิ่มทดแทนเพื่อความสวยงามของรูปปากได้
  • ค่าใช้จายไม่สูงเมื่อเทียบกับการใส่ฟันชนิดติดแน่น

 

ข้อด้อย

  • อาจรู้สึกรําคาญ เกะกะจากความหนาของฐานฟันปลอม คือที่เพดานในฟันบนและหน้าลิ้นกับโคนลิ้นด้านข้าง
  • บางครั้งออกเสียงได้ไม่ชัด
  • เคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียดหรือมีแรงเคี้ยวน้อยกว่าการใส่ฟันชนิดติดแน่น
  • ฟันปลอมอาจหลวมได้จากการละลายตัวของกระดูกขากรรไกรเนื่องจากแรงเคี้ยวจะถ่ายลงที่เหงือกและกระดูกใต้ฐานฟันปลอม
  • เห็นตะขอที่ช่วยในการยึดเกาะ แลดูไม่สวยงาม
  • ต้องถอดออกมาทําความสะอาดทุกวันและไม่ควรใส่ในขณะนอนหลับ

 

2. ฟันปลอมชนิดติดแน่น

ข้อดี

  • ใช้บดเคี้ยวได้ดีใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ
  • ไม่มีฐานของฟันปลอมให้รู้สึกรําคาญ
  • แต่งรูปร่างและสีได้ใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ
  • ความแข็งแรงของวัสดุมีมากกว่าฟันปลอมชนิดถอดได้
  • สวยงาม ไม่มีตะขอ
  • ไม่กังวลที่จะต้องถอดตอนนอน

 

ข้อด้อย

  • ในกรณีทําครอบฟันและสะพานฟันในฟันธรรมชาติ ต้องมีการกรอฟันหลักยึดทําให้สูญเสียเนื้อฟันจริงไปบ้าง
  • ถอดล้างทําความสะอาดไม่ได้ แปรงฟันได้ไม่ทั่วถึงในบางบริเวณใต้สะพานฟัน ต้องใช้ไหมขัดฟันช่วยในการทําความสะอาดตามวิธีที่ทันตแพทย์แนะนํา
  • ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการใส่ฟันชนิดถอดได้

 

 

ผู้ป่วยที่ควรได้รับการใส่ฟันปลอม ในกรณีดังต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยสูญเสียฟันธรรมชาติทั้งจากโรคเหงือก โรคปริทันต์ ฟันผุจนบูรณะไม่ได้
  • มีฟันที่เป็นโรคปริทันต์ มีฟันผุที่ไม่สามารถบูรณะได้และยังไม่ได้รับการถอนฟันซี่นั้นออกไป
  • ฟันแตก บิ่นจากอุบัติเหตุที่ทําให้ต้องถอนฟันและที่ไม่สามารถบูรณะด้วยการอุดฟันตามปกติได้

 

 

ขั้นตอนการทําฟันปลอม

  • พบทันตแพทย์เพื่อปรึกษาและวางแผนรักษา
  • พิมพ์แบบฟันเริ่มต้นเพื่อเก็บเป็นต้นแบบและใช้วางแผนการรักษา
  • เอกซเรย์ฟันและกระดูกขากรรไกรที่เกี่ยวข้อง (ในกรณีจําเป็น)
  • เตรียมช่องปากในกรณีที่ต้องถอนฟัน ขูดหินปูน รักษาโรคปริทันต์ อุดฟัน ปรับสบฟัน (ในกรณีมีปัญหาการบดเคี้ยวร่วมด้วยให้เรียบร้อยก่อน)
  • จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนใส่ฟัน ชนิดถอดได้คือ พิมพ์แบบฟัน ลองโครงโลหะ-เทียบสีฟัน ลองฟัน ใส่ฟัน ใช้เวลานัดหมายประมาณ 4-5 ครั้ง
  • กรณีฟันปลอมชนิดติดแน่นซึ่งผ่านการกรอแต่งฟันหลักยึด พิมพ์แบบฟันและใส่ครอบฟันทั้งชั่วคราวและแบบสมบูรณ์ แพทย์จะใช้เวลานัดหมายราว 3 ครั้ง
  • ส่วนการใส่รากฟันเทียมนั้น แพทย์จะฝังรากฟันเทียม พร้อมใส่ตัวผายเหงือก ต่อแกนรากฟันเทียมและใส่ครอบฟัน ซึ่งใช้เวลานัดหมายประมาณ 3-4 ครั้ง
  • นอกจากนี้ยังใส่ฟันถอดได้ หากมีการนํารากฟันเทียมมาช่วยเสริมแรงเคี้ยวและช่วยยึดติดของฐานฟันปลอมถอดได้ชนิดทั้งปากและบางส่วน

 

 

การเตรียมตัวเข้ารับการทํารากฟันเทียม

ภายหลังจากที่ได้วางแผนรักษาเพื่อทําฟันรากเทียมแล้ว ผู้ป่วยจะมีวันนัดเพื่อมาทําการผ่าตัดย่อยเพื่อฝังรากฟันเทียม ผู้ป่วยควรเตรียมตัวดังนี้

 

  • พักผ่อนให้เพียงพอก่อนถึงวันนัด           
  • รับประทานอาหารให้เรียบร้อยก่อนเวลานัด
  • หากมียาที่ต้องงดก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ประจําตัวและงดยามาก่อนตามคำแนะนำของแพทย์ หรือถ้ามียาประจําตัวที่ไม่จําเป็นต้องงดก็ควรรับประทานมาให้เรียบร้อย
  • นํารายการยาที่ได้รับอยู่เป็นประจําและที่รับอยู่ตอนนั้นแจ้งทันตแพทย์ก่อนเข้ารับการรักษา
  • หากมีประวัติการแพ้ยาใดให้แจ้งแพทย์ด้วยเช่นกัน
  • เพื่อความสบายใจแนะนําให้มีญาติหรือเพื่อนมาด้วย

 

 

 

ฟันปลอมฟันปลอมฟันปลอมฟันปลอม

 

 

การดูแลฟันปลอม

การดูแลฟันปลอมถอดได้

  • ถอดล้างทําความสะอาดทุกครั้งหลังทานอาหารพร้อมบ้วนปาก (ถ้าทําได้)
  • ห้ามเคี้ยวอาหารแข็งหรือเหนียวเกินไป ฟันปลอมอาจแตกบิ่นได้
  • ให้ถอดฟันปลอมออกมาทําความสะอาดด้วยแปรงสีฟันขนอ่อนและนํ้าสบู่แปรงปัดเบา ๆ ให้ทั่วทั้งตัวและฐานฟันปลอม ทั้งนี้ไม่ควรใช้ยาสีฟันร่วมกับแปรงทําความสะอาดเพราะผงขัดในยาสีฟันจะทําให้ฟันปลอมสึกเร็วและหมอง
  • ขณะทําความสะอาดฟันปลอมควรใช้ขันหรืออ่างใส่นํ้ารองไว้ด้านใต้เผื่อฟันปลอมลื่นตกจะได้ไม่แตกบิ่น
  • ก่อนนอนให้ถอดฟันปลอมที่ทําความสะอาดแล้วแช่นํ้าเปล่าไม่ร้อนไม่เย็น (ในภาชนะที่มีฝาปิด) โดยแช่ให้ฟันปลอมจมอยู่ในนํ้าทั้งชิ้น หรือจําไว้ว่าถ้าฟันปลอมไม่ได้ใส่อยู่ในปากก็ให้แช่อยู่ในนํ้าตลอดเวลา จะช่วยให้ฟันปลอมไม่บิดรูปจากความแห้งถ้าไม่แช่นํ้า และอาจทําให้ใส่ฟันปลอมได้ไม่พอดีอย่างเดิมได้ ผู้ป่วยสามารถใช้เม็ดฟู่แช่ฟันปลอมได้ซึ่งจะช่วยกําจัดเชื้อโรคและขจัดคราบติดแน่นบนฟันปลอมได้ดีขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการห่อฟันปลอมด้วยกระดาษทิชชู เพราะบ่อยครั้งผู้ป่วยเผลอทิ้งฟันปลอมไปกับกระดาษทิชชูและต้องกลับมาทําฟันปลอมใหม่

 

การดูแลฟันปลอมชนิดติดแน่น

  • กรณีที่ครอบฟัน ให้แปรงฟันด้านข้างและด้านสบฟันตามปกติเหมือนดูแลฟันธรรมชาติ และใช้ไหมขัดฟันช่วยทําความสะอาดด้านเบียดกับฟันข้างเคียง
  • กรณีสะพานฟัน ดูแลเหมือนที่ครอบฟันทุกอย่าง แต่เพิ่มการใช้เข็มพลาสติกและนําไหมขัดฟันร้อยลอดผ่านใต้สะพานฟันเพื่อทําความสะอาด
  • หลีกเลี่ยงการขบเคี้ยวอาหารที่แข็งและเหนียว

 

 

แก้ไข

22/09/2566