การดูแลและป้องกันสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ

September 01 / 2023

 

การดูแลและป้องกันสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ

 


ในปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาที่แผนกทันตกรรมนั้น จะเริ่มมีผู้ป่วยที่เป็นผู้ป่วยสูงวัยจำนวนเพิ่มมากขึ้น โรคในช่องปากจัดเป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non Communicable Diease : NCDs) การสูญเสียฟัน ทำให้ความสามารถในการเคี้ยวลดลง การที่ฟันผุ ฟันห่าง หรือฟันมีช่องว่าง ทำให้เกิดความรำคาญ ความไม่สบาย ความไม่สวยงาม ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างแน่นอน มีผลต่อเนื่องทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ถดถอยลง

 

 


เมื่ออายุมากขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงต่ออวัยวะ และการทำงานของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับทางทันตกรรม

 

  • ริมฝีปากแห้ง มุมปากแตก มีแผลเปื่อยที่มุมปาก
  • ตัวฟันมีสีเข้มขึ้น ฟันสึก
  • เหงือกบางลง มีการร่นของเหงือก กระดูกเบ้าฟันบางลง มีการละลายตัวของกระดูกโดยเฉพาะบริเวณที่ไม่มีฟัน
  • เยื่อบุช่องปากแห้ง และบางลง
  • ลิ้นเลี่ยน เป็นร่อง ต่อมรับรสที่ลิ้นลดลง การเคลื่อนไหวของลิ้นจะช้าลง ทำให้การกลืนลำบากขึ้น สำลักอาหารและน้ำได้ง่าย
  • ปริมาณน้ำลายลดลง ซึ่งอาจเกิดจากยาที่รับประทานบางตัวได้ด้วย การที่น้ำลายลดลงนั้น ทำให้การพูด เคี้ยว กลืนลำบาก และยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคฟันผุได้ง่ายขึ้นด้วย
  • กล้ามเนื้อ ข้อต่อขากรรไกรเสื่อม ทำให้แรงบดเคี้ยวลดลง ช้าลง



การดูแลรักษาอนามัยช่องปากสำหรับผู้สูงอายุ

 

  • ถ้ายังมีฟันแท้ ให้แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะก่อนนอน
  • แนะนำให้ใช้อุปกรณ์เสริมบริเวณซอกฟัน เช่น แปรงซอกฟัน ไหมขัดฟัน และการแปรงลิ้นร่วมด้วย สามารถใช้แปรงสีฟันชนิดไฟฟ้าในกรณีที่มีปัญหาข้อมือ มืออ่อนแรง
  • ผู้สูงอายุที่ใส่ฟันเทียมถอดได้ ควรถอดฟันเทียมออกทำความสะอาดด้วยแปรงสีฟันขนนุ่ม และแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อ ในกรณีที่ยังมีฟันแท้อยู่

 

 


ในส่วนของสภาวะปากแห้งนั้น คำแนะนำเบื้องต้นคือ

 

  • ปรับพฤติกรรมการดื่มน้ำ และรับประทานอาหารช่วย เช่น การจิบน้ำระหว่างวัน การดื่มน้ำระหว่างมื้ออาหาร การจัดอาหารที่มีส่วนผสมเป็นน้ำมากขึ้น บ้วนปากบ่อยๆ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ด เค็ม
  • งดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มคาเฟอีน และสามารถใช้สารทดแทนน้ำลาย หรือน้ำลายเทียมช่วยได้

 

 


ฟันแท้ที่เหลืออยู่นั้น สึก บางลง เตี้ยลง ผุมากขึ้น มีช่องว่าง เศษอาหารติด ทำให้เคี้ยวไม่สะดวก วิธีการรักษานั้น บางกรณีการอุดฟันสามารถช่วยแก้ปัญหาได้เลย แต่ในบางกรณีที่เนื้อฟันหายไปมาก การสบฟันไม่ปกติ จำเป็นจะต้องทำการรักษาร่วมกับการใส่ฟันเทียม


 


การมาพบทันตแพทย์ในผู้สูงวัย จะได้รับการตรวจหาปัญหา ประเมินสุขภาพช่องปาก เพื่อการวางแผนการดูแล การป้องกันและการรักษา เพื่อให้ได้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

 

เอกสารอ้างอิง : สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

ทพญ.ปาริชาติ เจริญ

ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาทันตกรรมทั่วไป

 

 

แก้ไข

28/08/2566