เคี้ยวแล้วปวด ขากรรไกรมีเสียง เสี่ยงข้อต่อขากรรไกรผิดปกติ

December 14 / 2023

 

เคี้ยวแล้วปวด ขากรรไกรมีเสียง เสี่ยงข้อต่อขากรรไกรผิดปกติ T.M.D.

 

 

ท่านเคยมีอาการดังต่อไปนี้อย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์หรือไม่
 

  1. รู้สึกติดขัดเวลาอ้าปากไม่สามารถอ้าปากได้เต็มที่
  2. มีอาการปวดบริเวณใบหน้า หรือข้อต่อขากรรไกรขณะอ้าปากกว้าง, หาวหรือขณะเคี้ยวอาหาร
  3. รู้สึกมีเสียง “คลิก” หรือ “เป๊าะ” ที่บริเวณข้อต่อขากรรไกร ขณะอ้าปากหรือหุบปากเคี้ยวอาหาร
  4. เคยมีขากรรไกรค้าง แต่เมื่อขยับคางซ้ายขวาก็สามารถหุบลงได้เอง
  5. มีอาการปวดขมับ

 

 

ถ้าท่านเคยมีอาการข้อใดข้อหนึ่งแสดงว่าท่านอาจจะเริ่มมีความผิดปกติบริเวณกล้ามเนื้อที่ใช้ในการบดเคี้ยวหรือข้อต่อขากรรไกร ซึ่งเรารวมเรียกว่า ระบบการบดเคี้ยว กลุ่มอาการนี้เรียกว่า เทมโพโรแมนดิบูล่าร์ดิสออเดอร์ ซึ่งเขียนย่อว่า T.M.D

 

เทมโพโรแมนดิบูล่าร์ ดิสออเดอร์ (T.M.D) หรือกลุ่มอาการหรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบการบดเคี้ยว ซึ่งจัดเป็นความผิดปกติของระบบกระดูก เอ็น ข้อและกล้ามเนื้อที่ใช้ทำหน้าที่บดเคี้ยว อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดบริเวณใบหน้าและช่องปากและ/ หรือทำให้การทำหน้าที่ของระบบการบดเคี้ยวผิดปกติไป ส่วนอาการที่คล้ายคลึงกับ TMD แต่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากระบบกระดูก เอ็น ข้อ และกล้ามเนื้อโดยตรง จะไม่จัดว่าเป็น TMD อย่างแท้จริง เพราะอาจมีสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ การเกิดโรคของฟันและอวัยวะปริทันต์ กระดูกหัก โรคของหู โรคติดเชื้อ เนื้องอกชนิดต่างๆ โรคของระบบไหลเวียนโลหิต และโรคของระบบประสาท เป็นต้น บางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการของ TMD ร่วมกับความผิดปกติของระบบอื่นๆ ได้พร้อมกัน

 

 

สาเหตุของการเกิด TMD

 

มีปัจจัยต่างๆ ที่ลดความสามารถในการปรับตัวของระบบการบดเคี้ยวและทำให้เกิดกลุ่มอาการ TMD ได้ คือ

 

  • ภยันตราย คือ มีแรงมากระทำต่อระบบการบดเคี้ยวมากกว่าแรงที่เกิดจากการทำงานปกติ เช่น จากอุบัติเหตุต่างๆ ได้แก่ หกล้ม รถชน อุบัติเหตุทางกีฬา เช่น โดนลูกบอลกระแทกหรือชนกัน การถูกทำร้าย เช่น ถูกตบ ถูกตีบริเวณขากรรไกร หรืออีกรูปแบบหนึ่ง เกิดจากการที่ขากรรไกรถูกใช้งานมากเกินไปอย่างกระทันหัน เช่น กัดของแข็งโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน เช่น เม็ดกรวดในข้าว การอ้าปากนานๆ จากการทำฟัน นอกจากนี้อาจเกิดการคนที่ชอบนอนกัดฟันเป็นระยะเวลานานๆ
     

 

  • ลักษณะโครงสร้างของกระดูกขากรรไกร ซึ่งเป็นผลจากพันธุกรรม หรือการเจริญเติบโตหรือเป็นผลกระทบจากการรักษาในอดีต เช่น การจัดฟันที่ไม่ถูกต้อง

 


 

  • ปัจจัยทางจิตสังคม หมายถึง สภาวะหรือสถานภาพที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการปรับตัวของแต่ละคน ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้ จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วย TMD มักจะมีลักษณะวิตกกังวล (anxiety) และความซึมเศร้า (depression) มากกว่าในคนทั่วไป อาจเป็นได้ว่าเกิดจากความเครียด ทำให้กล้ามเนื้อตึงมีอาการเจ็บปวดได้

 


 

  • ปัจจัยทางระบบ โรคทางระบบหลายๆ โรคที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ระบบต่อมไร้ท่อ เนื้องอก โรคข้อ ความดันและการหล่อลื่นของข้อต่อผิดปกติ ระบบประสาท ระบบหลอดเลือด อาจต้องปรึกษาแพทย์ร่วมด้วย

 

 

 

อาการของ TMD

 

อาการของ TMD พบได้ในคนทุกกลุ่มอายุความชุกในเด็กค่อนข้างน้อยและไม่รุนแรง ความชุกของ TMD จะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ อย่างไรก็ตามระดับความรุนแรงของอาการปวดมักไม่ค่อยแตกต่างกัน แต่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างได้มากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น การกระจายของอายุและเพศในผู้ป่วย TMD ที่มารับการรักษา พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุประมาณ 20-40 ปี เนื่องจากผู้หญิงขอเข้ารับการรักษามากกว่าผู้ชายในอัตราส่วน 3:1 ถึง 9:1 อาจเป็นเพราะว่าผู้หญิงเอาใจใส่สุขภาพของตนเองมากกว่าผู้ชาย

 

 

อาการที่พบได้บ่อย มีดังนี้

 

  1. ความเจ็บปวดและการกดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อใบหน้าและข้อต่อขากรรไกร

เป็นอาการที่พบมากที่สุดในผู้ป่วย TMD และเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์หรือทันตแพทย์ บริเวณที่มักมีอาการปวด ได้แก่ บริเวณ หน้า หู กราม ขมับ อาการปวดมักเพิ่มขึ้นขณะเคี้ยว หาว การพูดหรืออื่นๆเมื่อกดที่บริเวณนั้นๆ จะเกิดอาการเจ็บปวดมากขึ้น ลักษณะการปวดกล้ามเนื้อใบหน้า มักจะมีลักษณะแผ่กระจายต่อเนื่องปวดตื้อๆตึงหรือเหมือนถูกบีบ สาเหตุของการปวดหรือเมื่อยล้านี้เกิดจากการขาดเลือดและมีการหดตัวของหลอดเลือด ส่วนอาการปวดที่ข้อต่อจะมีลักษณะปวดจี๊ดๆ และรุนแรงที่มักเกิดอาการร่วมกับการเคลื่อนที่ของขากรรไกรเมื่อขากรรไกรพักอาการปวดจะหายอย่างรวดเร็ว

 

  1. เสียงที่ข้อต่อขากรรไกร

มักเกิดขณะอ้าปาก หุบปาก เยื้องคางหรือยื่นคาง อาจตรวจพบเสียง “คลิก” ขณะมีการเคลื่อนที่ของขากรรไกร บางครั้งอาจดังมากเป็นเสียง “เป๊าะ” เหมือนหักไม้ เสียงนี้อาจเกิดจากรูปร่างของปุ่มกระดูกหรือหัวข้อต่อผิดปกติหรือขรุขระ ในกรณีที่มีเสียงดังอย่างเดียว แต่ไม่มีอาการปวดก็ยังไม่ถึงต้องรับการรักษา ส่วนในกลุ่มสูงอายุ จะมีเสียงดังผิดปกติ โดยเป็นเสียงดังกรอบแกรบ หรือเสียงครูด คล้ายเสียงลากไม้ไปตามพื้นกรวด มักเกิดจากการเสื่อมสภาพของข้อต่อขากรรไกร มีการทำลายของเนื้อเยื่อ และเอ็นยึดภายใน และผิวกระดูกอ่อนภายในมีความขรุขระ

 

  1. การเบี่ยงเบนของแนวการเคลื่อนที่ของขากรรไกร

ลักษณะแนวการอ้าปากและหุบปากของคนปกติเป็นแบบ ภาพที่ 2A คือเป็นแนวเส้นตรง ส่วนในผู้ป่วย TMD อาจมีอาการเบี่ยงเบนของการอ้าปากได้เป็น 3 ลักษณะ คือ

      1.แบบตัว s คือ เวลาอ้าปากจะเฉไปจากแนวตรงและเมื่อหุบปาก ก็จะเบี่ยงกลับมาที่แนวเส้นเดิม

      2.แบบแบนไปด้านข้าง คือเวลาอ้าปากจะเบี่ยงเบนออกไปจากแนวตรงไปทางด้านข้าง ขณะอ้าปากสุดก็จะไม่เบนกลับมาแนวเดิม และเมื่อหุบปากจะได้แนวขนานกับเวลาอ้าปาก

      3.แบบกระตุก เป็นลักษณะของการอ้าปากที่ไม่ราบเรียบและต่อเนื่อง มักพบในกรณีผู้ป่วยที่มีความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ

                         

 

การดูแลตนเอง เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อข้อต่อขากรรไกร

 

ผู้ที่มีนิสัยนอนกัดฟันหรือมีปัญหาเทมโพโรแมนดิบิวล่าร์ดิสออเดอร์ อาจจะมีอาการปวดบริเวณหน้า หูหรือข้อต่อขากรรไกร หรือกล้ามเนื้อบดเคี้ยว บริเวณแก้ม, ขมับได้ดังนี้ท่านควรจะทราบวิธีดูแลตนเองเพื่อบรรเทาอาการที่เป็นอยู่ให้ลดลงได้ ดังนี้

 

  • เลือกรับประทานอาหารอ่อนและนิ่ม

หลีกเลี่ยงอาหารเหนียวและแข็ง เช่น ถั่วทอด กระยาสารท ปลาหมึกแห้ง หมากฝรั่ง ลูกอม รวมทั้งหลีกเลี่ยงการกัดผลไม้ทั้งผล เช่น ฝรั่ง แอปเปิล ควรรับประทานอาหารชิ้นเล็กๆ หรือทานข้าวต้ม, โจ๊ก

 

 

  • เคี้ยวอาหารให้ได้ทั้งสองข้าง

พยายามฝึกเคี้ยวอาหารทั้ง 2 ข้าง อาจเคี้ยวอาหารพร้อมๆกัน หรือสลับกับเคี้ยวไปมา ไม่ควรใช้ฟันข้างใดข้างหนึ่งเคี้ยวอาหารเป็นประจำ ควรใช้ฟันหลังเคี้ยวอาหารไม่ควรยื่นคางออกมาเคี้ยว หรือใช้ฟันหน้าเคี้ยวอาหาร

 

 

  • ประคบความร้อนตรงบริเวณกล้ามเนื้อหรือข้อต่อขากรรไกรที่ปวด

โดยใช้ผ้าขนหนูเล็กชุบน้ำ นำเข้าเครื่องไมโครเวฟประมาณ 1นาที หรือจนกว่าผ้าจะอุ่นและเพื่อให้เกิดความร้อนได้นานขึ้น ความร้อนที่ใช้ควรเป็นความร้อนแบบชื้นไม่ควรใช้กระเป๋าน้ำร้อนวาง ประคบครั้งละ 10-20 นาที โดยทำวันละ 3-4 ครั้ง บางคนอาจจะรู้สึกดีขึ้นถ้าใช้การประคบร้อนสลับกับประคบเย็นก็ได้ การประคบนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลดการใช้ยาแก้ปวดได้

 

 

  • หลีกเลี่ยงนิสัยต่างๆ ที่จะทำให้เกิดแรงที่ข้อต่อขากรรไกร

เช่น การกัดเน้นฟัน การนอนกัดฟัน การกัดแก้มหรือริมฝีปากเล่น การนั่งเท้าคาง การรับโทรศัพท์โดยใช้ไหล่หนีบหูโทศัพท์

 

นิสัยเหล่านี้มักเกิดขึ้นในเวลาที่ไม่รู้ตัว ดังนั้นลองสังเกตตนเวลาทำงานหรือออกกำลังกายว่ามีนิสัยดังกล่าวหรือไม่ ถ้ามีพยายามเลี่ยงเสีย ส่วนการนอนกัดฟันอาจเลี่ยงได้ยาก ควรปรึกษาทันตแพทย์

 

 

  • รู้จักวางตำแหน่งขากรรไกรล่างให้ถูกต้อง

ตำแหน่งของขากรรไกรล่างที่เหมาะสมและสบายเป็นตำแหน่งที่ลิ้นยกตัวขึ้นไปอยู่หลังฟันหน้าบน ฟันต้องไม่สบกัน กล้ามเนื้อขากรรไกรผ่อนคลาย ดังนี้ในระหว่างวัน ลองสังเกตว่าขากรรไกรล่างของตนวางตัวในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่

 

 

  • นอนหลับให้เพียงพอ

นอนหลับให้สนิทอย่างเพียงพอ ควรจัดห้องนอนให้เป็นที่พักผ่อนจริงๆ อย่าใช้แสงจ้าเกินไปหรืออย่าให้มีเสียงดัง รบกวนไม่นอนคว่ำหน้า

 


 

 

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือท่าทางที่ต้องอ้าปากกว้างมากเกินไป

การอ้าปากกว้างในขณะที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อขากรรไกรอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น เช่น การอ้าปากหาว หรือการอ้าปากทำฟันนานๆ เป็นต้น จึงควรฝึกหาวโดยการผ่อนลม คือให้ปลายลิ้นแตะบริเวณเพดานตลอดเวลาที่อ้าปากหาว แล้วค่อยๆผ่อนลมออกมา

 

ถ้าท่านต้องรับการรักษาทางทันตกรรมอื่นๆ เช่น อุดฟัน ขูดหินปูน ท่านควรบอกทันตแพทย์ที่ให้การรักษาทราบเกี่ยวกับปัญหาขากรรไกรของท่านล่วงหน้า

 

กิจกรรมหรือท่าทางบางอย่างที่ทำให้ขากรรไกรได้รับแรงไม่เท่ากันได้แก่ การนอนตะแคงข้างใดข้างหนึ่ง, การนั่งเท้าคาง, การนอนคว่ำอ่านหนังสือ การตะโกนหรือร้องเพลงดัง ควรหลีกเลี่ยงเสีย เพราะจะทำให้อาการปวดเพิ่มขึ้น

 

 

  • ใช้ยาแก้ปวดและยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์

 

คุณสามารถทานยาแก้ปวดทั่วไป เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อลดอาการปวดกล้ามเนื้อ หรือข้อต่อขากรรไกรได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ด้วย

 

 

  • พยายามสังเกตเหตุการณ์ที่กระตุ้นอาการปวด

 

ควรบันทึกอาการปวดประจำวันพร้อมกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดมากขึ้นและพยายามหลีกเลี่ยงพฤติกรรมหรือเหตุการณ์นั้นๆ

 

 

  • รู้วิธีบริหารขากรรไกร

 

การบริหารขากรรไกรช้าและนุ่มนวลอาจช่วยให้ขากรรไกรเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ความต้องการและลักษณะการบริหารขากรรไกรจะแตกต่างกันในแต่ละคน ควรปรึกษาทันตแพทย์/นักกายภาพบำบัด

 

 

  • รู้จักวิธีผ่อนคลาย

 

การหายใจลึกๆ ช้าๆ จะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายได้ดีขึ้น ลองหาเทคนิคต่างๆ ที่ช่วยให้ตนเองผ่อนคลายมากขึ้น ฟังเพลงเบาๆ คิดในสิ่งที่ดีๆ จะทำให้สามารถปรับเข้ากับความปวดได้ดีขึ้นด้วย

 

 

 

การดูแลตนเองที่ถูกวิธีจะช่วยบรรเทาอาการลงได้บ้าง ถ้าอาการยังไม่ปกติ ควรนัดตรวจกับทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบบดเคี้ยวต่อไป

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

รศ.ทพญ.สุปราณี วิเชียรเนตร

ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาทันตกรรมบดเคี้ยวและความเจ็บปวดบริเวณใบหน้า

 

 

แก้ไข

13/09/2566