“ไทรอยด์เป็นพิษ” มีสิทธิ์บานปลายกลายเป็น “เรื่องใหญ่”

February 23 / 2024

 

อย่ามองข้ามภัยร้าย “ไทรอยด์เป็นพิษ”

มีสิทธิ์บานปลายกลายเป็น “เรื่องใหญ่”

 

 

 


 

วลาส่องกระจกแล้วเห็นอะไรบางอย่างผิดปกติแบบว่าเห็นได้ชัดแต่คิดยังไงก็ไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าเหตุไฉน “คอ” ของเราจึง โตผิดหูผิดตา!! ก็เอาเป็นว่า อย่าเพิ่งตกอกตกใจ แต่ไม่ได้แปลว่าวางใจไม่ให้ความสำคัญโดยเด็ดขาด เพราะนั่นหมายถึงสัญญาณบ่งบอกให้ผู้เป็นเจ้าของคอรีบไปตรวจร่างกายและตรวจเช็คให้แน่ใจว่า “ต่อมไทรอยด์” กำลังมีปัญหาอย่างไรหรือไม่ และหากมีก็ควรรีบรักษาก่อนที่เกิดการลุกลามบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่ให้ต้องเดือดเนื้อร้อนใจเพิ่มขึ้นอีก

 

แม้ว่าจะไม่มีความผิดปกติในเรื่องอื่น ๆ ปรากฎให้เห็นอีกทั้งก็ยังกินได้-สบายดี แต่น้ำหนักกลับลด ซึ่งนั่นคือสัญญาณบ่งชี้ ว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นแน่ ๆ “โรคไทรอยด์เป็นพิษ” ที่จะออกฤทธิ์ทำให้ “คอโต” แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

 

“บริเวณลำคอด้านหน้าหลอดลมจะมีต่อมไทรอยด์ซึ่งเคลื่อนตัวขึ้นลงได้ตามจังหวะที่เรากลืนน้ำลาย แต่หากต่อมนี้บวมโตขึ้นจะทำให้ขนาดคอใหญ่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในที่สุดก็ต้องไปพบแพทย์เพราะผิดสังเกตจากคอบวมนี่เอง”

 

 

 

เมื่อไปพึ่งพาหาหมอก็แน่นอนว่าได้รับการตรวจหาสาเหตุที่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับ “ต่อมไทรอยด์” จึงทำให้มันบวมโตขึ้นจนเห็นได้ชัดว่า “คอโต” อย่างนั้นเป็นเพราะ มีฮอร์โมนระดับสูงอยู่ในกระแสเลือดอันเป็นที่มาของ “โรคไทรอยด์เป็นพิษ”

 

 

สาเหตุที่ทำให้ฮอร์โมนสูงเกิน

 

  • เกิดจากตัวไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากขึ้น

 

  • ต่อมใต้สมองกระตุ้นฮอร์โมนที่ผลิตออกมา สร้างตัวกระตุ้นไทรอยด์ทำให้ฮอร์โมนไทรอยด์เพิ่มขึ้น หรือมิฉะนั้นก็อาจเกิดจากโรคในกลุ่มอื่น และไม่น่าเชื่อว่ากลุ่มคนอายุ 20-40 ปี มักเป็นช่วงอายุที่พบไทรอยด์เป็นพิษมากที่สุดนั่นก็เพราะว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ร่างกายเราสามารถสร้างและผลิตฮอร์โมนได้มากจึงมีโอกาสเป็นกันมากและพบมากตามไปด้วย แต่โรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และความเสี่ยงส่วนใหญ่คือมีคนในครอบครัว เช่นพ่อแม่เป็นมาก่อนก็จะส่งผลให้ลูกมีแนวโน้มเป็นไทรอยด์เป็นพิษได้มากขึ้น สมัยก่อนเชื่อกันว่าการกินสารอาหารบางอย่างเกินขนาด เช่น พวกไอโอดีน ก็อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้

 

 

 

กลุ่มคนที่เป็นไทรอยด์เป็นพิษ ส่วนใหญ่มักจะมาจากหลายกรณี

 

กรณีแรกคือน้ำหนักลด ทั้ง ๆ ที่กินได้ สบายดี แต่น้ำหนักลด แม้จะกินเก่ง-หิวบ่อย แต่ยิ่งกินน้ำหนักยิ่งลด

 

กรณีที่สองที่พบได้เช่นกันคือ มาด้วยอาการคอโต

 

 

อีกกรณีคือ มาด้วยอาการทั่วไปจากอาการหงุดหงิด มือสั่น ใจสั่น เหงื่อออกง่าย โดยบางคนจะมีผมร่วง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ขณะที่บางคนมาด้วยเรื่องประจำเดือนขาด-มาน้อย และเมื่อมาหาหมอแล้วก่อนอื่นก็จะตรวจสัญญาณชีพ ดูว่าชีพจรเต้นเร็วหรือไม่ จากนั้นจะดูน้ำหนักตัวโดยเทียบกับประวัติเก่าว่ามีน้ำหนักลดจากเดิมหรือไม่ มีอาการอื่น ๆ เช่นคอโตหรือไม่ และในบางรายอาจมีการแสดงออกทางตา เช่น ตาโปน หรือมีหนังตาบวมตึง ซึ่งพวกนี้จะช่วยบอกได้ และบางคนมีปัญหาขาอ่อนแรงเดินขึ้นบันไดไม่ไหว

 

 

 

วิธีตรวจที่จะช่วยให้ทราบได้ว่ากำลังก้าวเข้าสู่ “กลุ่มเสี่ยงไทรอยด์เป็นพิษ”

 

เรื่องนี้ไม่ยาก เพราะสามารถใช้วิธีเจาะเลือดมาตรวจดูค่าฮอร์โมนในเลือดว่าสูงหรือไม่ ถ้าสูงก็ยืนยันได้ว่าไทรอยด์เป็นพิษ การตรวจแบบอื่นที่จะช่วยยืนยันก็คือการตรวจที่เขาเรียกว่าตรวจโดยการกลืนน้ำแร่ไอโอดีน เพื่อวัดปริมาณการทำงานของต่อมไทรอยด์ ถ้าสูงผิดปกติก็จะเข้าสู่กลุ่มไทรอยด์เป็นพิษได้ ซึ่งหากมีผลตรวจยืนยันว่าไทรอยด์เป็นพิษแน่ ๆ ก็สามารถเข่าสู่กระบวนการบำบัดรักษาซึ่งมีด้วยกันหลายแบบซึ่งส่วนใหญ่ก็สามารถควบคุมโรคให้สงบลงได้ แต่ถ้าคนไข้ที่เป็นตั้งแต่อายุยังน้อยก็มีโอกาสที่โรคจะสงบแล้วกลับมาใหม่ได้ เพราะฉะนั้นการรักษาบางคนก็หายไปนาน แต่บางคนก็มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำใหม่ได้

 

 

วิธีรักษาไทรอยด์เป็นพิษ

 

การรักษาไทรอยด์เป็นพิษ ส่วนใหญ่มีด้วยกัน 3 วิธี คือ

 

  • วิธีแรกคือ กินยา ซึ่งมักใช้กันตอนเริ่มรักษาและหากกินแล้วสามารถควบคุมโรคได้ หมอก็อาจปรับยาให้กินต่อไปราว 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี ถ้าโรคสงบควบคุมได้ก็จะหยุด

 

  • วิธีที่สองคือ ผ่าตัด เฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยไม่สะดวกกินยาเนื่องจากอาจอยู่ระหว่างตั้งครรภ์ หรือหากต่อมไทรอยด์โตมาก หรือผู้ป่วยมีแพ้ยาบางชนิดก็อาจจะเปลี่ยนมารักษาด้วยการผ่าตัด

 

  • วิธีที่สามคือ รักษาด้วยสารรังสี โดยการให้ผู้ป่วยกลืนน้ำแร่ไอโอดีนซึ่งมีสารกัมมันตรังสีเป็นส่วนประกอบโดยได้รับการคำนวณขนาดให้พอดีสำหรับแต่ละบุคคล

     

 

 

สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ อาจมีโอกาสเจอโรคแทรกซ้อนจากไทรอยด์เป็นพิษ พ่วงมาอีกต่างหากซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระวังให้มาก ผู้ป่วยจะเป็นโรคนี้ร่วมกับโรคหัวใจ ถ้าสมมติว่ามีโรคหัวใจกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจโต และหากเราควบคุมไทรอยด์ไม่ได้ก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ตัวหัวใจคือทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น โอกาสที่จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดก็จะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ส่วนใหญ่แล้วสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้หมอจะพิจารณาว่าปรับยากินไทรอยด์จนควบคุมได้ในระดับหนึ่งก่อนส่งไปรักษาด้วยการกินน้ำแร่ไอโอดีน เพื่อทำลายไทรอยด์ให้ทำงานลดลงหรือบางครั้งอาจจะยอมให้ไทรอยด์ทำงานต่ำไปเลยโดยกินเป็นฮอร์โมนทดแทนซึ่งจะปลอดภัยกว่า เพราะถ้าเราปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาไทรอยด์เป็นพิษละก็ อย่างแรกที่จะเจอคืออาการที่ตามมา ได้แก่ น้ำหนักจะลดลงมากขึ้น มีอาการเหนื่อยมากขึ้น และเวลาที่ผู้ป่วยเหนื่อยมาก ๆ ไทรอยด์จะเป็นตัวกระตุ้นให้หัวใจทำงานเร็วขึ้น เมื่อหัวใจทำงานเร็วมาก ๆ จะมีโอกาสเต้นผิดจังหวะซึ่งก่อให้เกิดลิ่มเลือดในหัวใจขึ้นมาและเมื่อหัวใจบีบเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายก็มีโอกาสที่ลิ่มเลือดนี้จะหลุดไปอุดปลายทางจนเกิดภาวะขาดเลือดที่ปลายทางส่วนนั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วเรื่องนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนของตัวไทรอยด์ที่ต้องระวัง เพราะเหตุนี้จึงต้องขอฝากคำเตือนไว้ด้วยว่า หากมีเวลาควรตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจเช็คไทรอยด์กันไว้สักหน่อยเพื่อความไม่ประมาท โดยเฉพาะใครที่มีคอโตอย่าวางใจเด็ดขาดควรไปตรวจให้ทราบและรักษาก่อนที่มันจะลุกลามบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่ในวันข้างหน้านั่นเอง

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

นพ.พูนศักดิ์ เลาหชวลิต

แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ

 

 

แก้ไข

07/08/2566