ฟันผุ รู้ก่อน...ไม่ต้องอุดฟัน

December 20 / 2024

 

ฟันผุ รู้ก่อน...ไม่ต้องอุดฟัน

 

 

     หยุดฟันผุ สร้างการคืนกลับของเกลือแร่...ก่อนฟันเป็นรู พร้อมเข้าใจอาการโรคฟันผุจากทันตแพทย์เฉพาะด้านให้มีสุขภาพปากและฟันที่แข็งแรง การพบฟันผุด้วยการตรวจฟันด้วยตนเองหรือจากทันตแพทย์ตั้งแต่ฟันเริ่มผุในระยะแรกเป็นสิ่งสำคัญมาก ก่อนอื่นมารู้จักลักษณะของฟันผุกันก่อน

 

 

ลักษณะของฟันผุ

1. ฟันผุระยะเริ่มแรก

     ฟันผุระยะเริ่มแรกในชั้นผิวเคลือบฟัน ฟันผุชนิดนี้จะยังไม่มีรู ลักษณะที่พบจะเป็นรอยขุ่นขาวบนด้านเรียบของฟัน หรือเป็นเส้นสีน้ำตาลดำในร่องฟัน การผุของฟันในระยะนี้มีความสำคัญมาก ควรรีบพบทันตแพทย์เพื่อรักษาให้ฟันกลับแข็งแรงตามเดิม หยุดกระบวนการของฟันผุทำให้ไม่ต้องอุดฟัน

 

 

 

2. ฟันผุที่เห็นเป็นรู

     เมื่ออ้าปากตรวจฟันด้วยตนเองแล้วพบฟันผุเป็นรูทั้งในชุดฟันน้ำนมและฟันแท้ แสดงว่าการผุของฟันอยู่ในระยะลุกลามแล้ว ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อการรักษาทันที ไม่ควรรอจนรับประทานอาหารไม่ได้ หรือมีอาการปวด ฟันผุที่ไม่รักษาสามารถลุกลามถึงประสาทฟันทำให้ต้องรักษารากฟัน หรือถอนฟัน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูง

 

 

 

ทำอย่างไรให้ฟันหายผุ

     ปัจจุบันทฤษฎี “Ecological plaque hypothesis” เชื่อกันว่าฟันผุเกิดจากสภาพแวดล้อมในปากที่ไม่เหมาะสม ทำให้เชื้อโรคในพลัคก่อให้เกิดกรดเจริญเติบโตได้ดี มีจำนวนมาก จึงผลิตกรดออกมาได้เยอะ ทำให้เกิดภาวะการสูญเสียแร่ธาตุ (demineralization) และแคลเซียมซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของผิวเคลือบฟันจะละลายตัว เมื่อทุกอย่างเกิดขึ้นจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของฟันผุ ฟันจะมีลักษณะขุ่นขาว เมื่อมีการสูญเสียของแคลเซียมมากขึ้นเรื่อย ๆ โครงสร้างของฟันถูกทำลายจนเป็นรู

 

 

 


ดังนั้นการรักษาฟันผุในปัจจุบันจะเริ่มเร็วขึ้นตั้งแต่พบฟันผุระยะเริ่มแรกของผิวเคลือบฟัน โดยการปรับสมดุลในปาก เพื่อคืนกลับแร่ธาตุ (remineralization) ทำให้ฟันไม่ผุลุกลามต่อจนเป็นรู


 

 

การปรับสภาพในช่องปากที่เอื้อให้เกลือแร่คืนกลับ

  • การแปรงฟัน ขจัดพลัคให้สะอาดด้วยการแปรงฟัน ทั้งในตอนเช้าและก่อนนอน
  • การใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ความเข้มข้น 1,450-1,500 PPM ช่วยให้แคลเซียมคืนกลับสู่ผิวเคลือบฟัน เกิดผลึกผิวเคลือบฟันใหม่ที่แข็งแรง
  • ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียในช่องปากใช้อาหาร ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของแป้งและน้ำตาลยังชีพ เมื่ออยู่รอดจึงผลิตกรดทำลายสุขภาพฟัน ดังนั้นการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้เหมาะสมจะลดเสี่ยงเกิดฟันผุ
    • ควรรับประทานอาหารครบ 3 มื้อ (อาหารเช้า-กลางวัน-เย็น) และทานอาหารว่างไม่เกินวันละ 2 ครั้ง/วัน โดยใช้เวลาทานแต่ละมื้อไม่ควรเกิน 20 นาที เนื่องจากหากใช้เวลานานก็มีโอกาสที่ฟันจะสัมผัสกับกรดนาน ทำให้สูญเสียเกลือแร่มากขึ้น ดังนั้นเวลารับประทานควรหลีกเลี่ยงการเล่นเกมและการแชท  

 

 

ฟันผุฟันผุฟันผุ

 

 

การรักษาฟันผุ

     เมื่อตรวจพบรอยขุ่นขาวบนฟัน ควรรีบพบทันตแพทย์เพื่อขัดฟัน ขจัดพลัคที่ติดบนตัวฟันให้สะอาด ทันตแพทย์จะทาฟลูออไรด์เฉพาะซึ่งมีความเข้มข้นสูงถึง 22,600 PPM ทุก 3-6 เดือน เพื่อเร่งการคืนกลับของเกลือแร่ หยุดยั้งกระบวนการเกิดฟันผุของผิวฟันด้านเรียบ ส่วนการผุระยะเริ่มแรกในบริเวณร่องฟัน ทันตแพทย์จะเคลือบพลาสติกร่องฟันเพื่อป้องกันไม่ให้พลัคเข้าไปสะสม

 

ฟันผุ

 

การวินิจฉัยโรคฟันผุ

     นอกจากนี้ทันตแพทย์อาจถ่ายภาพรังสี เพื่อการตรวจอย่างละเอียดหารอยผุในบริเวณที่ไม่สามารถเห็นได้ การตรวจในช่องปากพบลักษณะรอยผุคล้ายรอยผุระยะเริ่มแรก ภายหลังจากการถ่ายภาพรังสีจะพบรอยผุขนาดใหญ่ใกล้โพรงประสาทฟัน ทันตแพทย์จะสามารถรักษาฟันได้อย่างเหมาะสม ป้องกันการปวดฟัน และป้องกันฟันผุถึงประสาทฟัน

 

ฟันผุ

        

 

หยุดฟันผุ สร้างการคืนกลับของเกลือแร่...ก่อนฟันเป็นรู

  • แปรงฟันให้สะอาด ด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์ 1,450 พีพีเอ็ม
  • ปรับพฤติกรรมการกิน อาหารหลัก 3 มื้อ, อาหารว่างไม่เกิน 2 มื้อ
  • ใช้เวลากินน้อยกว่า 20 นาที/มื้อ
  • รีบไปพบทันตแพทย์

 

อ่านเพิ่มเติม: รวบวิธีป้องกันฟันผุในเด็ก จากกุมารแพทย์ด้านทันตกรรมเด็ก

 

 

 

ฟันผุฟันผุฟันผุฟันผุ

 

 

 


ตรวจฟันเป็นประจำทุก 6-12 เดือน เพื่อป้องกันฟันผุ และโรคปริทันต์ ฟันดี เหงือกดี ทำให้กินอาหารอร่อย


 

 

 

แก้ไข

31/07/2566