การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยกล้องเอ็นโดสโคป

December 27 / 2024

 

การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยกล้องเอ็นโดสโคป

(Endoscopic Spine Surgery)

 

 

     สมัยก่อนเวลาคิดถึงการผ่าตัดกระดูกสันหลัง เราจะนึกถึงภาพการผ่าตัดใหญ่ที่แผลยาว เสียเลือดมาก ต้องนอนห้องไอซียู มีโอกาสบาดเจ็บต่อเส้นประสาทสูง ทำให้ผู้ป่วยหลาย ๆ คนกังวลและกลัวที่จะรักษาอาการที่มีอยู่ให้หายสนิทด้วยวิธีการผ่าตัด ปัจจุบันเทคโนโลยีในการผ่าตัดกระดูกสันหลังได้มีการพัฒนาให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ทำให้การผ่าตัดมีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าอดีตมาก ลดความเสี่ยงที่เรามักจะเคยได้ยินว่า “ผ่ากระดูกสันหลังแล้วจะเดินไม่ได้” ให้เหลือน้อยลงมากๆ จนแทบไม่มีเลย

 

 

วิวัฒนาการของการรักษาด้วยการผ่าตัดรักษาโรคกระดูกสันหลังเป็นอย่างไร?

1.  การผ่าตัดแบบเปิด

     การผ่าตัดรักษาอาการกระดูกสันหลังที่เราคุ้นเคยโดยทั่วไปมักเป็นการผ่าตัดเปิด เพื่อนำเอาส่วนกดทับเส้นประสาทออก รวมถึงสามารถยึดกระดูกสันหลังให้มั่นคงด้วยการใส่เหล็กตรึงเอาไว้ได้ ซึ่งการผ่าตัดในลักษณะนี้มีการทำมานานกว่า 50 ปี และปัจจุบันก็พัฒนาอย่างต่อเนื่องเรื่องเครื่องมือและวัสดุที่ดีขึ้น ทำให้ปลอดภัยขึ้นมากและยังคงใช้รักษาโรคทางกระดูกสันหลังต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

2.  การผ่าตัดผ่านกล้อง Microscope

     ช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาการผ่าตัดกระดูกสันหลังเริ่มพัฒนามากขึ้นด้วยการนำกล้อง microscope เข้ามาใช้ในการผ่าตัด ซึ่งข้อดีของการใช้กล้อง microscope คือแพทย์ผู้ผ่าตัดสามารถเห็นจุดที่ต้องผ่าตัดได้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากกล้องจะขยายภาพจุดที่ผ่าตัดให้ใหญ่ขึ้น ทำให้แพทย์สามารถผ่าตัดได้แม่นยำและปลอดภัยมากขึ้น ทั้งยังช่วยลดขนาดของแผลผ่าตัดพร้อมลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อลงได้มากกว่าเดิมมาก

 

จุดเปลี่ยนเมื่อนำกล้องไมโครสโคปเข้ามา

  • กล้องไมโครสโคปเป็นจุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการการผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบแผลเล็ก (Minimally Invasive Spine Surgery : MISS) ซึ่งแพทย์ผ่าตัดในยุคปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับการลดบาดแผลของเนื้อเยื่อหลังผ่า 
  • กล้องไมโครสโคปยังเป็นจุดต่อยอดให้คิดค้นวิธีผ่าตัดอีกมากมาย ร่วมกันกับเทคนิคการผ่าตัดแบบเจาะผิวหนัง (Percutaneous procedure) เช่น การผ่าตัดเชื่อมข้อแบบ MIS-TLIF, OLIF, การผ่าตัดหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทแบบ Open Microdiscectomy หรือแบบ Tubular Microdiscectomy (Micro-endo) ทำให้ผลการรักษาที่ดีและใช้เวลาพักฟื้นน้อยลง

 

 

 

การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยกล้องเอ็นโดสโคป

 

 

3.  การผ่าตัดผ่านกล้อง Endoscope

     การผ่าตัดกระดูกสันหลังก็ได้มีการพัฒนาต่อไปอีกครั้งในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา ด้วยการเข้ามาของ Endoscope เพื่อใช้ผ่าตัดกระดูกสันหลัง โดยการสอดกล้องเอ็นโดสโคปเข้าไปในตัวผู้ป่วยเพื่อรักษาภาวะต่าง ๆ เหมือนทางศัลยแพทย์ทั่วไปที่มีการผ่าตัดถุงน้ำดีผ่านกล้อง หรือการผ่าตัดไซนัสของแพทย์หูคอจมูก ซึ่งมีข้อดีที่เห็นได้ชัดคือลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อรอบข้างจากการผ่าตัดลงเมื่อเทียบกันกับการผ่าตัดแบบอื่น

 

 

 


เนื่องจากการผ่าตัดในลักษณะนี้ต้องใช้ความแม่นยำสูงในการระบุจุดที่ต้องผ่าตัด การเลาะเนื้อเยื่อรอบข้างที่ไม่จำเป็นลดลงและลดขนาดของแผลผ่าตัดให้เล็กลงกว่าเดิมเหลือเพียง 1-1.5 ซม. ยิ่งทำให้ระยะเวลาพักฟื้นสั้นลงกว่าการผ่าตัดที่เคยมีมา


 

 

ภาพตัวอย่างจริงของแผลผ่าด้วยกล้อง Endoscope

 

การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยกล้องเอ็นโดสโคป

 

 

 


การผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้อง endoscope ในสมัยเริ่มต้นยังมีข้อจำกัดในด้านการรักษาอยู่มาก ส่วนใหญ่มักเลือกใช้วิธีนี้ในการผ่าตัดหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทเพียงอย่างเดียว


 

 

ข้อดีของการผ่าตัดด้วยกล้องเอ็นโดสโคป

     ปัจจุบันวงการแพทย์ได้พัฒนาเครื่องมือผ่าตัดและคิดค้นเทคนิคการผ่าตัดวิธีต่างๆ ผ่านกล้องเอ็นโดสโคป ซึ่งทำได้หลายพยาธิสภาพ เช่น

 

  • การผ่าตัดขยายช่องไขสันหลังในโรคช่องไขสันหลังส่วนเอวตีบ (Endoscopic Lumbar Decompression)
  • การผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนคอหรือส่วนอกกดทับเส้นประสาท (Endoscopic Cervical/Thoracic Decompression)
  • การผ่าตัดเชื่อมข้อ (Endo-LIF) รวมไปถึงการผ่าตัดเพื่อลดอาการปวดของมะเร็งกระดูกสันหลัง

 

ปัจจุบันก็สามารถเลือกที่จะใช้ endoscope ทำได้ แต่ในบางกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหลายจุดมากๆ กระดูกสันหลังผิดรูปต้องแก้ไข การผ่าตัดเปิดก็ยังถือว่ามีความจำเป็นอยู่ ซึ่งมีข้อดีที่ให้แผลผ่าตัดเล็ก ปวดแผลผ่าตัดน้อย โอกาสเสี่ยงติดเชื้อต่ำ ลดการทำลายเนื้อเยื่อส่วนดีที่อยู่รอบบริเวณผ่าตัดและฟื้นตัวหลังผ่าเร็ว กลับบ้านได้ใน 24 ชั่วโมง

 

การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยกล้องเอ็นโดสโคป

 

 

ชนิดของการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป

ปัจจุบันเครื่องมือที่ใช้ผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบ endoscope มีอยู่ 2 แบบ ซึ่งแพทย์ที่ผ่าตัดต้องชำนาญกับเครื่องมือผ่าตัดที่สูงมาก ถึงจะได้ผลการรักษาที่ดี

 

  • Full-Endoscopic Surgery การใช้เครื่องมีลักษณะนี้จะมีแผลผ่าตัดเพียงแค่แผลเดียว ซึ่งแพทย์ที่ผ่าตัดจะสอดเครื่องมือผ่านรูจากตัวกล้อง ข้อดีคือเลาะเนื้อเยื่อรอบข้างน้อยมาก ๆ แต่ข้อเสียคือเครื่องมือในการผ่าตัดในลักษณะนี้อาจไม่ได้มีพร้อมทุกโรงพยาบาล 
  • Bi-portal Endoscopic Surgery (UBE/BES) การผ่าตัดในลักษณะนี้จะมีแผลผ่าตัด 2 จุด จุดแรกเป็นจุดที่ใช้สอดกล้องอีกจุดสอดเครื่องมือเข้าไปผ่าตัด ซึ่งมีข้อดีคือมีอุปกรณ์และเครื่องมือที่พร้อมในหลายโรงพยาบาล ครอบคลุมการรักษาเกือบทุกจังหวัด และให้ผลการรักษาที่ดี ไม่ได้แตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ข้อเสียก็คือต้องเลาะเนื้อเยื่อมากกว่าการผ่าตัดแบบ Full-Endoscopic Surgery เพื่อเปิดพื้นที่ให้ขยับกล้องและเครื่องมือได้

 

การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยกล้องเอ็นโดสโคป

 

 

ขั้นตอนการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป

โดยตามปกติ ขั้นตอนในการรักษาโรคทางกระดูกสันหลัง แพทย์ผู้ทำการรักษามักจะเริ่มด้วย

 

  • การซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อสืบหาสาเหตุอาการ
  • พิจารณาส่งตรวจทางรังสีในแบบต่าง ๆ เช่น การทำเอกซเรย์ CT-Scan การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่แม่นยำภายใต้การดูแลของศัลยแพทย์ชำนาญการเป็นสำคัญ
  • แพทย์เสนอทางเลือกรักษาตั้งแต่การรับประทานยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการในกรณีที่เป็นไม่มากจนถึงการผ่าตัดแก้ไข
  • หากจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด แพทย์จะใช้ดุลยพินิจเลือกวิธีรักษาที่ลดโอกาสเสี่ยงและฟื้นตัวเร็วที่สุดก่อนเสมอ กรณีที่กระดูกมีการทรุด-เสื่อม หรือไม่สามารถเลือกใช้การรักษาอื่น แพทย์จะพิจารณาเลือกการผ่าตัดในรูปแบบอื่นที่เหมาะสมตามสภาพ
  • หลังรักษาเสร็จสิ้น ผู้ป่วยมักสามารถลุกเดินทำกิจวัตรและกลับบ้านได้ในวันรุ่งขึ้น
  • แพทย์จะนัดมาดูการฟื้นตัวของผู้ป่วยให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ร่วมแนะนำการปฏิบัติตัวให้เหมาะสมกับช่วงเวลาต่าง ๆ หลังผ่าตัด โดยทั่วไปผู้ป่วยสามารถกลับมาเล่นกีฬาหรือใช้งานโดยไม่ต้องระวังตัวมากนักหลังผ่านไป 6 เดือน

 

 

การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยกล้องเอ็นโดสโคปการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยกล้องเอ็นโดสโคปการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยกล้องเอ็นโดสโคป

 

 

     


โรคทางกระดูกสันหลังส่วนมากรักษาหายหากใช้วิธีรักษาที่เหมาะสม ปัจจุบันเทคโนโลยีผ่าตัดได้ก้าวหน้ามากเมื่อเทียบ 10 – 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผลการรักษาออกมาดี ลดความเสี่ยงและผลข้างเคียงของการผ่าตัดได้มาก โอกาสที่เกิดสิ่งที่เรามักจะเคยได้ยินว่า “ผ่ากระดูกสันหลังแล้วจะเดินไม่ได้” ก็ต่ำมาก


 

แก้ไข

02/09/2566