รากฟันเทียม กุญแจสู่รอยยิ้มที่มั่นใจและสวยงาม

September 25 / 2023

 

รากฟันเทียม กุญแจสู่รอยยิ้มที่มั่นใจและสวยงาม

 

 

ปัจจุบันรากฟันเทียม (Dental implant) เป็นที่นิยมและถือเป็นการรักษาที่ดีที่สุดเพื่อทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป

 

 

 

รากฟันเทียม ประกอบด้วยอะไรชิ้นส่วนอะไรบ้าง

 

 

1. ส่วนรากเทียม (Implant fixture/body) เป็นส่วนของรากเทียมที่มีลักษณะคล้ายสกูร ทำด้วยวัสดุ ไทเทเนี่ยม (titanium) ซึ่งเป็นวัสดุที่เข้ากับร่างกายได้ดี สกูรนี้จะถูกฝังลงในกระดูกและสามารถยึดติดกับกระดูกของคนไข้ได้ โดยทั่วไปหลังฝังรากเทียมจะต้องใช้เวลาประมาณ 2-6 เดือน รากเทียมจึงจะยึดกับกระดูกขากรรไกรได้แข็งแรงพอที่จะต่อส่วนแกนฟันและฟันปลอม ระยะเวลานี้ขึ้นกับสภาพกระดูกของคนไข้ในแต่ละราย

 

2. ส่วนแกนฟัน (Implant abutment) ส่วนแกนฟันนี้ทำด้วยวัสดุไทเทเนี่ยมเป็นส่วนใหญ่ จะเป็นส่วนแกนที่โผล่ขึ้นจากเหงือกโดยยึดกับส่วนรากเทียมที่ฝังในกระดูกด้วยสกูร

 

3. ส่วนทันตกรรมประดิษฐ์ (Prosthetic component) คือส่วนครอบฟัน (crown) สะพานฟัน (bridge) หรือฟันปลอมติดแน่นหรือถอดได้ ที่ยึดติดกับตัวแกนฟันด้วยซีเมนต์ ทางทันตกรรม หรือ สกูร หรือตัวยึดอื่นๆ (attachment)

 

 

ประโยชน์ของการรักษาด้วยรากฟันเทียม มีดังนี้

 

  1. ทดแทนฟันที่สูญเสียไปได้ใกล้เคียงฟันธรรมชาติที่สุดเมื่อเทียบกับฟันปลอมแบบอื่นๆ
  2. เพิ่มประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวอาหาร เคี้ยวอาหารได้ละเอียดซึ่งดีต่อระบบการย่อยอาหาร
  3. กรณีใช้รากเทียมร่วมกับฟันปลอมชนิดถอดได้ จะช่วยลดการเคลื่อนขยับของฟันปลอม ขณะใช้พูด หรือ เคี้ยวอาหาร และลดการเกิดแผลกดทับที่สันเหงือกใต้ฟันปลอม
  4. ช่วยอนุรักษ์และลดการละลายตัวของสันกระดูกบริเวณที่มีรากฟันเทียม
  5. ช่วยส่งผ่านแรงบดเคี้ยวไปที่กระดูกเบ้าฟัน
  6. ช่วยด้านสภาพจิตใจและเพิ่มความมั่นใจให้คนไข้ เช่น การพูด ยิ้ม
  7. หลีกเลี่ยงการกรอฟันข้างเคียงเพื่อการทำสะพานฟัน

 

 

ชนิดทันตกรรมประดิษฐ์ที่ใช้ร่วมกับรากฟันเทียม

 

การออกแบบส่วนทันตกรรมประดิษฐ์นั้นจะแตกต่างไปตามจำนวนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป ปริมาณกระดูกรองรับฟันที่เหลืออยู่ และความต้องการของคนไข้ โดยการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมในคนไข้แต่ละคนจะต้องทำหลังจากได้ทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดในคนไข้ ทั้งการตรวจในช่องปาก ร่วมกับการถ่ายภาพรังสี หรือ CT Scan และข้อมูลอื่นๆที่จำเป็นเพื่อการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละราย

 

1.กรณีสูญเสียฟันไป 1 ซี่ และการทำครอบฟัน (crown)

 

 

สามารถฝังรากเทียมในบริเวณที่ต้องการ ใส่แกนฟันและครอบฟัน โดยไม่ต้องกรอแต่งฟันข้างเคียงเพื่อทำสะพานฟันเหมือนในอดีต ทำให้ทดแทนฟันที่สูญเสียไปได้ใกล้เคียงฟันธรรมชาติและคนไข้สามารถทำความสะอาดได้ง่าย

 

 

ภาพก่อนและหลังการรักษา

   

2. การสูญเสียฟันหลายซี่ และการทำสะพานฟัน ( Bridge)

 

ในกรณีนี้ทันตแพทย์จะประเมินถึงจำนวนของรากเทียมที่จำเป็นต้องใช้ในการรองรับสะพานฟัน โดยไม่ต้องใส่รากเทียมเท่ากับจำนวนฟันที่สูญเสียไป เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการรักษา แต่สะพานฟันที่ได้ยังมีความแข็งแรงเพียงพอในการรองรับแรงบดเคี้ยวอาหาร เช่นในกรณีเคสตัวอย่างที่มีการหายไปของฟันหลายซี่แต่สามารถทำรากเทียมและสะพานฟันกระจายไปอย่างเหมาะสมในขากรรไกรทำให้ได้สะพานฟันติดแน่นที่สวยงาม ดูเป็นธรรมชาติ และบดเคี้ยวอาหารได้ดี

 

 

ภาพก่อนการรักษา

 

 

ภาพหลังฝังรากเทียมและใส่แกนฟันเพื่อทำสะพานฟัน

 

 

ภาพภายหลังการใส่สะพานฟัน หลายชิ้นในแต่ละส่วนของช่องปาก

 

 

รอยยิ้มภายหลังการรักษา

 

 

 

3. การใช้รากฟันเทียมร่วมกับฟันปลอมถอดได้บางส่วน หรือฟันปลอมถอดได้ทั้งปาก (Implant retained or supported overdenture)

 

ในกรณีที่คนไข้มีการสูญเสียฟันไปหลายซี่ หรือสูญเสียฟันทุกซี่ในขากรรไกร และมีกระดูกรองรับฟันในบางตำแหน่งไม่เพียงพอในการทำรากเทียมร่วมกับสะพานฟัน

 

 

การใช้รากเทียมและตัวยึด (attachment) ร่วมกับฟันปลอมถอดได้ก็เป็นทางเลือกที่ดีเพราะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่น้อยกว่า แต่ยังสามารถช่วยลดโอกาสฟันปลอมหลวม หรือขยับ ขณะบดเคี้ยวอาหารทำให้สามารถบดเคี้ยวอาหารได้ดีขึ้น ละเอียดขึ้น และเพิ่มความมั่นใจให้คนไข้ขณะ พูด ยิ้ม หรือ หัวเราะ

 

ภาพตัวอย่างของตัวยึด (attachment) ที่มีส่วนแกนฟันที่ยึดติดกับรากฟันเทียม และส่วนฝาครอบและยางที่ยึดติดกับด้านในของฟันปลอม

 

 

เคสตัวอย่างนี้เนื่องจากมีฟันหลังเหลือเพียง2ซี่ในขากรรไกรบน ทำให้ฟันปลอมถอดได้ชิ้นเดิมของคนไข้ มีการขยับเมื่อพูดหรือเคี้ยวอาหาร ภายหลังการรักษาด้วย รากเทียม แกนฟัน และ ตัวยึดในฟันปลอม ทำให้คนไข้มีความมั่นใจมากขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวัน

 

ภาพก่อนและหลังการรักษา

 

 

ภาพภายหลังการฝังรากเทียมและใส่แกนฟันและตัวยึดในฟันปลอม (attachment)

 

 

ในเคสตัวอย่างถัดไปคนไข้ที่สูญเสียฟันทุกซี่ในขากรรไกรล่าง เคสนี้มีการฝังรากฟันเทียมและแกนฟัน และใส่ตัวยึดในฟันปลอม เพื่อให้ฟันปลอมยึดติดและไม่ขยับเวลา พูด และบดเคี้ยวอาหาร และช่วยการลดแผลกดทับที่เหงือกใต้ฟันปลอม

 

ภาพก่อนและหลังการรักษา

 

 

 

4. การใช้รากฟันเทียมร่วมกับฟันปลอมติดแน่นชนิด ไฮบริด (Hybrid Denture/ All on 4 / All on 6)

 

ในคนไข้มีการสูญเสียฟันไปทั้งหมดในขากรรไกรและสูญเสียกระดูกรองรับฟันไปมากแต่ต้องการทำฟันปลอมทั้งปากชนิดติดแน่นไม่สามารถถอดออกได้ด้วยตัวของคนไข้เอง ฟันปลอมลักษณะนี้ โดยทั่วไปในขากรรไกรล่างควรปักรากเทียมอย่างน้อย 4-6ตัว และขากรรไกรบน อย่างน้อย 6 ตัว เพื่อรองรับชิ้นฟันปลอมที่จะนำมายึดด้วยสกูรกับตัวแกนฟันและรากเทียม ฟันปลอมชนิดไฮบริดนี้จะทำให้คนไข้เคี้ยวอาหารได้ดีมีประสิทธิภาพ มีความมั่นใจมากขึ้นเนื่องจากยึดติดแน่นไม่ต้องถอดฟันปลอม และขนาดของฟันปลอมมีขนาดเล็กกว่าฟันปลอมชนิดถอดได้ ทำให้คนไข้ลดความรำคาญของความรู้สึกใส่ฟันปลอม มีความโล่งสบายช่องปากมากขึ้น

 

 

เคสตัวอย่างในคนไข้ที่สูญเสียฟันล่างไปทั้งหมดและทำการฝังรากเทียม และยึดติดฟันปลอมแบบไฮบริดในขากรรไกรล่าง

 

ภาพขาการไกรล่างที่ได้รับการฝังรากเทียมและใส่แกนฟันจำนวน 6 ตัว

 

 

ภาพชิ้นฟันปลอมไฮบริทบนโมเดล

 

 


ภาพฟันปลอมไฮบริทที่ได้ใส่ในขากรรไกรล่างภายหลังการรักษา

 

 

 

การดูแลรักษาภายหลังการรักษาด้วยรากฟันเทียม

 

แม้รากฟันเทียมจะไม่สามารถเกิดฟันผุได้เหมือนฟันธรรมชาติแต่ยังสามารถเกิดโรคปริทันต์ได้เช่นการอักเสบของหงือกหรือกระดูกรองรับรากฟันเทียม (implant mucocitis /implantitis) ซึ่งอาจทำให้สูญเสียรากฟันเทียมได้ จึงยังจำเป็นต้องรักษาความสะอาดและดูแลเหมือนฟันธรรมชาติทั้งการแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟัน แปรงซอกฟัน เป็นประจำวันละ 1-2 ครั้งและมาพบทันตแพทย์เป็นประจำเพื่อตรวจเช็คสภาพรากเทียม แกนฟันและส่วนฟันปลอม และตัวยึดหรือ สกูรต่างๆ ให้อยู่ในสภาพปกติ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารเหนียวหรือแข็งที่ต้องออกแรงเคี้ยวมากๆ เช่นกระดูกอ่อน น้ำแข็ง เป็นต้น และถ้ามีการนอนกัดฟันหรือกัดเน้นฟันต้องพบทันตแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

 

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

ทพญ.ขวัญศิริ เปล่งสมบัติ

ทันตกรรมประดิษฐ์

 

 

แก้ไข

25/09/2566