เทคนิค 8 ดี ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมสำหรับผู้สูงวัย

January 30 / 2024

 

เทคนิค 8 ดี ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมในผู้สูงวัย

 

 

 

เมื่ออายุมากขึ้นบรรดาโรคภัยต่างๆ ก็มักจะเข้ามาเบียดเบียนร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะผู้ที่ก้าวเข้าสู่วัยเกษียณหรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้น เนื่องจากเป็นวัยที่อ่อนแอ เปราะบาง มีโรคประจำตัวมีความเสี่ยงจะเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย

 

 

 

และหนึ่งในโรคที่ผู้สูงวัยอาจจะต้องเผชิญนั่นก็คือ โรคสมองเสื่อม ซึ่งหากป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ทำให้ความสามารถทางสติปัญญาลดลง คิดหรือจำอะไรไม่ค่อยได้ ขี้หลงขี้ลืม รวมถึงมีอารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ดังนั้นเพื่อไม่ให้ผู้สูงวัยต้องเผชิญกับโรคสมองเสื่อมจนไปถึงขั้นที่รุนแรง... วันนี้เราจึงมีเทคนิคดีๆ มาแนะนำให้ผู้สูงวัยนำไปปฏิบัติตาม เพื่อป้องกันช่วยให้เกิดโรคนี้น้อยลง แม้อาจไม่สามารถป้องกันได้ถึง 100% แต่ก็ช่วยให้สมองมีประสิทธิภาพ และชะลอความเสื่อมของสมองได้ ว่าแต่จะมีวิธีไหนบ้างมาดูกันเลยครับ...

 

  • กินดี เรื่องของ อาหารถือเป็นเรื่องสำคัญเลยก็ว่าได้ ผู้สูงวัยจึงควรได้รับปริมาณอาหารที่เหมาะสม เช่น ควรทานแป้งวันละ 7-9 ทัพพี ผักวันละ 4 ทัพพี ผลไม้วันละ1-3 ส่วน เนื้อสัตว์วันละ 6-8 ช้อนกินข้าว ดื่มนมวันละ 1-2 แก้ว หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรส หวาน มัน เค็ม ต่างๆ
     
  • ฟันดี ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน โดยควรแปรงฟันด้วยยาฟันที่ผสมฟลูออไรด์อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 นาที และเลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม มีปลายขนแปรงมน เน้นการแปรงบริเวณขอบเหงือกและคอฟัน ควรแปรงให้ทั่วถึงทุกซี่ทั้งด้านนอกที่ติดกระพุ้งแก้มและด้านในที่ติดกับลิ้นหรือเพดาน รวมทั้งด้านบดเคี้ยว
     
  • ตาดี แน่นอนว่าวัยนี้เป็นวัยที่ต้องเจอกับปัญหาทางด้านสายตาโดยเฉพาะ อาการสายตายาวที่ทำให้ไม่สามารถมองเห็นภาพระยะใกล้ได้อย่างชัดเจน จึงควรต้องไปพบจักษุแพทย์เป็นประจำ เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพดวงตาที่ถูกต้อง แถมยังช่วยชะลออาการเสื่อมของสายตาอีกด้วย
     
  • เคลื่อนไหวดี การเคลื่อนไหวถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย ดังนั้นจึงควร “ออกกำลังกาย” เป็นประจำ เพื่อชะลอการเสื่อมของกระดูกและกล้ามเนื้อต่างๆ ซึ่งการออกกำลังกายด้วยการเดินอย่างน้อยวันละ 5,000 ก้าว สามารถช่วยป้องกันการหกล้ม และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อให้ทรงตัวดีขึ้น การเดิน 6,000 ก้าวต่อวัน ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และที่ดีไปกว่านั้นคือหากมีการเดินเพิ่มมากขึ้นเป็นวันละ 7,000-10,000 ก้าวก็จะช่วยป้องกันโรคไม่ติดต่อ ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางกายให้ดีขึ้น ช่วยให้ผู้สูงวัยมีการเคลื่อนไหวที่ดี ป้องกันการหกล้ม ใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง ช่วยเหลือตัวเองได้ และเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

  • สภาพแวดล้อมดี ที่อยู่อาศัยถือเป็นสิ่งที่มีผลต่อการใช้ชีวิตเลยก็ว่าได้ โดยควรจัดบ้านให้มีความเหมาะสมกับผู้สูงวัย เช่น จัดวางของในบ้านให้เป็นระเบียบ สะอาด ไม่มีสิ่งกีดขวางทางเดิน ปูพื้นห้องน้ำด้วยพื้นหยาบและมีราวจับเพื่อป้องกันการหกล้ม
     
  • อารมณ์ดี แน่นอนว่าการมีอารมณ์ดีก็จะส่งผลให้จิตใจของผู้สูงวัยดีตามไปด้วย ดังนั้นลูกหลานหรือผู้ใกล้ชิด จึงควรหาเวลาทำกิจกรรมร่วมกันกับท่าน เช่น การออกกำลังกาย เข้าวัดทำบุญ ไปทานอาหารนอกบ้าน หรือแนะนำให้ท่านไปพบปะ พูดคุย เข้าร่วมกิจกรรมในชมรมผู้สูงอายุ เพื่อไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยวหรือถูกทอดทิ้ง
     
  • สมองดี เพราะสมองคืออวัยวะที่รวมทุกๆ ปัจจัยเข้าไว้ด้วยกัน หากผู้สูงวัยมีการทานอาหารที่ดี
    มีสภาพจิตใจที่ดี รวมถึงมีสภาพแวดล้อมที่ดี ก็จะส่งผลให้สมองดีตามไปด้วย

     
  • นอนหลับดี ข้อสุดท้ายนี้บอกเลยว่าควรปฏิบัติอย่างมาก โดยผู้สูงวัยควรนอนหลับให้ได้วันละ 7-8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายมีการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ นอกจากนี้ก็ยังป้องกันการเกิดโรคต่างๆได้ด้วย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี

 

 

 

ผู้สูงวัยบางท่านก็อาจเจอโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ด้วย ดังนั้นหากมีการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคต่างๆได้ด้วยเช่นกัน จึงอยากให้ลูกหลานใส่ใจดูแลท่านให้มากขึ้น เพื่อให้ท่านมีสุขภาพกายและใจที่ดีและจะได้อยู่กับเราไปนานๆ นั่นเองครับ

 

 

แก้ไข

20/06/2566