6 โรคที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ของเด็กเล็กช่วงเปิดเทอม

December 14 / 2023

 

6 โรคต้องระวัง!...ในเด็กเล็กช่วงเปิดเทอม

 

 

 

เกือบสองสัปดาห์แล้วที่เด็กๆ ไปโรงเรียน การเปิดเทอมที่มาพร้อมกับฤดูฝนแบบนี้!... อาจทำให้เด็กๆ เสี่ยงเจ็บป่วยไม่สบายจากโรคติดต่อต่างๆ ได้ง่ายเนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคต่ำ แถมเวลาไปโรงเรียนยังต้องอยู่ใกล้ชิด และทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งถ้ามีใครในห้องป่วย ก็มักจะติดต่อไปยังเพื่อนร่วมห้อง โดยโรคที่พบบ่อยช่วงเปิดเทอม ที่คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ควรรู้จักเพื่อที่จะได้สังเกต เฝ้าระวังป้องกันให้ดี เพราะแต่ละโรคมีอาการต่างกัน เช่น

 

  • โรคโควิด-19 เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา สามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัส ละอองเสมหะ ไอ จาม น้ำมูกของผู้ติดเชื้อ จะมีอาการไข้สูง อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอ มีเสมหะ บางคนอาจมีอาการอาเจียน ถ่ายเหลวร่วมด้วย การฉีดวัคซีน หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่ออยู่นอกบ้านช่วยป้องกันโรคได้

     
  • โรคตาแดง เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสที่เยื่อบุตา ติดต่อกันได้ง่ายจากการสัมผัสเชื้อโรคโดยตรง เช่น ขี้ตา น้ำตา หรือการใช้ของร่วมกับผู้ที่เป็นตาแดง หากมีอาการตาแดง ควรมาพบแพทย์ และใช้ยาหยอดตาตามที่แพทย์สั่ง ไม่ถูหรือขยี้ตา หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ

     
  • โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส และติดต่อกันได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย ผื่นหรือตุ่มใส ของผู้ป่วย อาการที่เห็นชัดคือ เด็กจะมีตุ่มแดงอักเสบที่ปาก ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม มีตุ่มน้ำใส หรือผื่นนูนสีแดงเล็กๆ ที่มือ และเท้า บางคนอาจมีผื่นที่แขน ขา หัวเข่า ศอก หรือที่ก้น และมักมีไข้ร่วมด้วย วิธีการป้องกันคือให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ ดูแลทำความสะอาดของที่เด็กใช้อยู่เสมอ ไม่คลุกคลีหรือสัมผัสใกล้ชิดกับเด็กที่ป่วย

     
  • โรคอุจจาระร่วง จะมีอาการถ่ายเหลวผิดปกติมากว่า 3 ครั้งติดต่อกัน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และอาจมีไข้ร่วมด้วย เกิดจากการทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน การหยิบจับของเล่นหรือสิ่งของสกปรกเข้าปาก อาการท้องร่วงส่วนมากจะหายเองได้ แต่ต้องระวังภาวะขาดน้ำแนะนำให้จิบน้ำเกลือแร่ ORS หากมีอาการและอ่อนเพลียมาก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที การล้างมือให้สะอาด ดื่มน้ำสะอาด ทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ล้างขวดนมให้สะอาด กำจัดขยะมูลฝอยและถ่ายอุจจาระให้ถูกสุขลักษณะ ช่วยป้องกันได้

     
  • โรคไข้หวัดใหญ่ จะอาการมีไข้สูงติดต่อกันหลายวัน หนาวสั่น ไอ จาม น้ำมูกไหล ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย และอาจมีอาการรุนแรงจนทำให้ปอดบวม เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ติดง่ายผ่านลมหายใจ ไอ จาม ละอองน้ำมูก และเสมหะของผู้ป่วย จากการสัมผัสหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วยการป้องกันไม่ให้เชื้อไข้หวัดใหญ่แพร่กระจายที่เด็กๆ ทำได้คือการหมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ สอนให้เด็กเช็ดน้ำมูก และปิดปากปิดจมูกเวลาไอ จาม รวมทั้งไม่อยู่ใกล้ชิดกับคนที่ป่วย

     
  • โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เริ่มแรกจะมีอาการไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อตามตัว ซึม อ่อนเพลีย ตามมาด้วยการมี ผื่น มีจุดแดงตามผิวหนัง และหากมีอาการอาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด แสดงถึงอันตรายเด็กอาจจะมีภาวะช็อก จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วน ดังนั้นหากลูกหลานมีไข้สูงโดยไม่ทราบสาเหตุก็ควรรีบพาไปพบแพทย์ การป้องกันคือระวังอย่าให้ยุงลายกัด ทำความสะอาดบ้าน และกำจัดแหล่งน้ำขังอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

 

 

 

วิธีป้องกัน

 

ผู้ปกครองควรสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับลูกๆ ด้วยการให้เด็กทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่  ปรุงสุก สะอาด ทานผักผลไม้ ดื่มน้ำสะอาด ล้างมือเป็นประจำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง ลดความเสี่ยงอาการเจ็บป่วยได้ ขณะเดียวกันโรงเรียนก็ควรให้ความสำคัญเรื่องความสะอาดตามบริเวณจุดสัมผัสร่วมต่างๆ ด้วยการเช็ดถูทำความสะอาดอยู่เสมอ

 

 

 

สังเกตอาการของลูกหลานอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีอาการผิดปกติ หรือสงสัยว่าอาจป่วยโรคใดโรคหนึ่ง แนะนำให้ไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรับการรักษาโดยเร็วที่สุด

 

 

แก้ไข

30/05/2566