เมื่อถึงช่วงวัยเกษียณ “ฮอร์โมน” มีความสำคัญอย่างไร

December 14 / 2023

 

“ฮอร์โมน” สำคัญอย่างไร?...ในวัยเกษียณ

 

 

 


เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดถ้ามองจากภายนอกคือ ร่างกายรูปร่างที่เปลี่ยนไป ผมเริ่มขาว ผิวหนังเหี่ยวย่น เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องภายนอก แต่อีกปัญหาที่เกิดจากภายในก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งเมื่อวัยเริ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ที่เรียกว่าอาการของ “วัยทอง” ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นในเพศหญิงมากกว่าเมื่อมีอายุ 45 ปีขึ้นไปแต่ผู้ชายก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน

 

 

 

ฮอร์โมนเพศ หรือฮอร์โมนเอสโตรเจน จะลดลงเรื่อยๆ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคนด้วย ฮอร์โมนมากมายที่อยู่ในร่างกายจะมีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะขึ้นอยู่กับลักษณะของฮอร์โมนชนิดนั้นๆ และฮอร์โมนบางชนิดก็อาจมีหลายบทบาทได้เหมือนกัน

 

 
เมื่อระดับฮอร์โมนลดลงโดยทั่วไปจะเกิดอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตัว รู้สึกร้อนวูบวาบตามร่างกาย เหงื่อออกและใจสั่น รวมถึงอาการทางจิตใจและสมอง เช่น ความจำลดลง สมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย ตลอดจนเรื่องของอารมณ์ทางเพศที่ลดลงตามไปด้วย การใช้ฮอร์โมนทดแทนก็ขึ้นอยู่กับว่าอาการที่เป็นนั้นกระทบชีวิตประจำวันมากน้อยแค่ไหน รวมถึงสภาพจิตใจของแต่ละคนด้วย หากไม่ได้กระทบมากก็ไม่จำเป็น ต้องใช้ฮอร์โมนทดแทน ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อนหากต้องการใช้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

 

 


ทั้งนี้ เราสามารถเสริมฮอร์โมนได้ด้วยอาหารที่มีส่วนประกอบตามธรรมชาติคล้ายฮอร์โมนได้เช่นเดียวกัน เช่น

 

อาหารในกลุ่มเบตาแคโรทีน ช่วยในการขจัดสารพิษในสมองและช่วยให้สมองได้รับออกซิเจน พบมากในผลไม้ที่มีสีต่างๆ เช่น แครอท ฟักทอง แคนตาลูป มะเขือเทศ มะละกอ ส้มและผักใบเขียว เช่น ตำลึง คะน้า บรอกโคลีเป็นต้น

 

 

 

อาหารจำพวกวิตามินบี จะช่วยส่งเสริมระบบไหลเวียนเลือด การทำงานของฮอร์โมน ประสาทและเสริมให้ระบบกล้ามเนื้อแข็งแรง โดยวิตามินบี 6 มีมากในจมูกข้าวสาลี กล้วย ไก่ ปลา กะหล่ำดอก ส่วน วิตามินบี 12 มีมากในตับ เนื้อวัว เนื้อหมู ปลาเนื้อขาว ไข่ ธัญพืช นม

 

 

วิตามินซี ช่วยด้านการไหลเวียนโลหิต ทำให้เส้นเลือดมีความยืดหยุ่นและขยายตัวได้ดี และช่วยให้อสุจิแข็งแรง ไม่จับตัวเป็นกลุ่ม พบได้ในผักและผลไม้สดทุกชนิด

 

 

 

วิตามินอี ช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระ เสริมความแข็งแกร่งของเซลล์เนื้อเยื่อหัวใจและกล้ามเนื้อต่างๆ ป้องกันการเสื่อมชราของเนื้อเยื่อและสร้างฮอร์โมน สร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย

 

 

แคลเซียม ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบประสาท พบได้ในนม ผลิตภัณฑ์จากนมและถั่วเหลือง ผักใบเขียว เช่น คะน้า ตำลึง เป็นต้น

 

 

โครเมียม หากขาดโครเมียมจะทำให้ความต้องการทางเพศลดลง พบได้ในแอปเปิ้ล องุ่น ลูกเกด ผักใบเขียว เห็ด ถั่ว เป็นต้น

 

สังกะสี มีบทบาทสำคัญในการสร้างฮอร์โมนเพศชาย และการทำงานของต่อมลูกหมาก พบมากใน หอยนางรมเนื้อปู เมล็ดฟักทอง ถั่ว หัวหอม ไข่แดง เป็นต้น

 

 

           

ลูกหลานต้องช่วยกันดูแลผู้สูงวัยอย่างใกล้ชิด เลือกอาหารที่มีประโยชน์ให้ท่านทาน และที่สำคัญไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณาเกี่ยวกับการทานยาสมุนไพรหรืออาหารเสริมต่างๆ

 

 

แก้ไข

05/04/2566