เครื่องรักษาออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง - โรงพยาบาลรามคำแหง

March 21 / 2024

 

เครื่องรักษาออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง

Hyperbaric Oxygen Therapy

 

 

 

พญ.อริยา ทิมา

อายุรศาสตร์ สาขาประสาทวิทยาและโรคหลอดเลือดสมอง

 


เครื่องรักษาออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง Hyperbaric Oxygen Therapy เป็นการรักษาออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง เป็นวิธีการบำบัดผู้ป่วยด้วยการหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% ในขณะ ที่ผู้ป่วยเข้าไปอยู่ภายใต้สภาพความกดบรรยากาศสูงที่มากกว่า 1 บรรยากาศ ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการละลายของออกซิเจนเข้าไปในพลาสมาได้มากขึ้นร่างกายสามารถดูดซึมออกซิเจนเข้าไปใช้งานในเนื้อเยื่อได้ยาวนานมากกว่าบรรยากาศปกติ จึงสามารถซ่อมแซม สร้างใหม่หรือสมานแผลได้เร็วยิ่งขึ้น กระตุ้นให้มีการสร้างเส้นเลือดฝอยใหม่ อีกทั้งยังช่วยชะลอความเสื่อมในร่างกาย อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพของภูมิต้านทานทำให้ฆ่าเชื้อแบคที่เรียมากขึ้น

 

 

ข้อบ่งชี้

 

ที่สามารถบำบัดด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง ได้รับการรับรองจากสมาคมแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำและเวชศาสตร์ความดันบรรยากาศสูง ( Undersea and hyperbaric Medical Society หรือ UHMS) มีดังนี้


1. รักษาการอุดตันของหลอดเลือดจากฟองอากาศหรือฟองก๊าซ (Air or Gas Embolism) ช่วยลดขนาดของฟองอากาศ ช่วยให้เนื้อเยื่อที่ขาดออกซิเจนกลับฟื้นคืนมา

 

 

2. รักษาการเป็นพิษจากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซค์ และการสำลักควันไฟ เพื่อกำจัดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ออกจากฮีโมโกลบินและเนื้อเยื่อให้เร็วขึ้น เพิ่มออกซิเจนให้กับเนื้อเยื่อที่ขาดออกซิเจน

 

 

3. รักษาการติดเชื้อคลอสทริเดียม(Clostridium) และกล้ามเนื้อตาย

 

 

4. รักษาแผลฉกรรจ์จากอุบัติเหตุและบาดเจ็บของเนื้อยื่อเนื่องจากการถูกบดขยี้ทำให้บริเวณที่ขาดเลือดได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้น ลดอาการบวม

 

 

5. รักษาโรคลดความกดหรือโรคน้ำหนีบ ภาวะสมองขาดเลือดจากการอุดตันของก๊าซไนโตรเจนในนักดำน้ำโดยจะช่วยลดขนาดของฟองก๊าซในเนื้อเยื่อและตามอวัยวะต่างๆ

 

 

6. รักษาภาวะขาดเลือดแดงไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ การอุดตันของหลอดเลือดแดงกลางจอตา กระตุ้นการสมานแผลหายยาก เช่น แผลเบาหวาน, แผลจากการกดทับ, แผลจากการไหลเวียนเลือดไม่ดี

 

 

7. รักษาโลหิตจางอย่างรุนแรง ช่วยให้เนื้อเยื่อที่ขาดออกซิเจนหรือขาดเลือดมาเลี้ยงได้รับออกชิเจนมากขึ้น และทำให้ออกซิเจนละลายได้มากขึ้น

 

 

8. รักษาฝีภายในกะโหลกศีรษะ ช่วยส่งเสริมให้ร่างกายมีกลไกในการป้องกันตัวดีขึ้น และลดการบวมบริเวณสมองได้

 

 

9. รักษาการติดเชื้อที่แผล และการติดเชื้อที่ทำให้เกิดเนื้อตาย ทำให้สภาพแผลดีขึ้น หายได้เร็วขึ้น

 

 

10. รักษาการติดเชื้อของกระดูกชนิดที่รักษาด้วยวิธีปกติไม่ได้ผล โดยเพี่มออกซิเจนในบริเวณกระดูกที่ติดเชื้อ ช่วยเสริมฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษา

 

 

11. รักษาเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บภายหลังได้รับรังสี ช่วยเสริมสร้างหลอดเลือดใหม่ ในบริเวณที่เกิดความผิดปกติจากการฉายรังสี และบริเวณเนื้อเยื่อขาดออกซิเจน

 

 

12. รักษาการปลูกถ่ายผิวหนัง และเนื้อเยื่อขาดเลือดไปเลี้ยง กระตุ้นให้มีการสร้างหลอดเลือดขึ้นมาใหม่

 

13. รักษาบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก จำกัดการสูญเสียน้ำในเนื้อเยื่อ ส่งเสริมให้มีการซึมผ่านของเนื้อเยื่อซึ่งทำให้แผลปิดเร็วขึ้น และลดอาการบวม

 

 

14. รักษาโรคหูดับฉับพลันที่ไม่ทราบสาเหตุ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการได้ยิน ให้กับผู้ป่วยที่มีอาการฉับพลัน

 

 

 

ความเสี่ยงและผลข้างเคียง


1. ความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากแรงกดดันที่หูหรือไซนัส ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดที่หูหรือไซนัสได้ และความเสี่ยงจากแรงดันทำให้เนื้อปอดอาจเสียหายได้ จึงต้องทำการตรวจหูและเอ็กซเรย์ปอดก่อน เพื่อป้องกันการบาดเจ็บดังกล่าว


2. ความเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงจากการเป็นพิษของออกซิเจน ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก กล้ามเนื้อกระตุก การเปลี่ยนแปลงของการมองเห็น และอาการชัก จึงต้องทราบแนวทางการปฏิบัติตัวจากคำแนะนำ เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว

 


การปฏิบัติตัวก่อนเข้าบำบัดด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง


1. รักษาความสะอาดทั่วไปของร่างกาย อาบน้ำและสระผมให้สะอาด ไม่มีคราบมัน

2. ไม่ควรอดนอน พักผ่อนอย่างเพียงพอ กรณีมีไข้ เป็นหวัด อ่อนเพลียมาก ท้องเสีย หรือมีอาการทางโรคภูมิแพ้หรือโรคที่ต้องห้ามรับการรักษา เช่น เคยมีประวัติได้รับการบาดเจ็บที่บริเวณทรวงอกและปอดควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อน

3. รับประทานอาหารได้ตามปกติ งดดื่มน้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

4. งดสูบบุหรี่ อย่างน้อย 4 ชั่วโมง

5. รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งได้ตามกำหนด สำหรับอินซูลิน ยาขับปัสสาวะ และยาระบาย ควรเลื่อนไปหลังการบำบัด

6. กรณีเป็นหวัดหรือไซนัสอักเสบ ไม่ควรเข้าเครื่องปรับบรรยากาศความกคดันสูง

7. ผู้ป่วยที่มีแผล วัสดุที่ใช้ทำแผล ควรใช้เป็นผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือหรือ Non-Oil Based Hydrogel

8. คอนแทคเลนส์ ควรถอดออกก่อน เพื่อป้องกันการบีบกดลูกตา

9. ฟันปลอมชนิดถอดได้ ให้ถอดออกเพื่อป้องกันการอุคกั้นทางเดินหายใจ

10. สวมใส่ชุดเสื้อผ้าตามที่โรงพยาบาลกำหนด และต้องเป็นผ้าที่สะอาด ห้ามใช้ผ้าใยสังเคราะห์อื่น

11. ไม่สวมใส่ถุงน่อง ถุงเท้า รวมทั้งวิกผม เนื่องจากมีส่วนผสมของในล่อนและเป็นแหล่งเกิดไฟฟ้าสถิต

12. ไม่สวมใส่เครื่องประดับที่เป็นโลหะ เช่น แว่นตา แหวน นาฬิกา รวมทั้งเครื่องการได้ยิน

13. ไม่นำพาวัสดุเชื้อเพลิงใดๆ ที่ก่อให้เกิดการลุกไหม้ เกิดไฟฟ้าสถิต เกิดความร้อน เช่น หนังสือ ไฟแช็ค บุหรี่ ไม้ขีดไฟ แบตเตอรี่ โทรศัพท์มือถือ ขวดน้ำมันหอมระเหย งดการใช้เครื่องสำอางค์ เช่น ลิป น้ำหอม โลชั่น แป้ง เจลใส่ผม เข้าไปในเครื่องปรับความดันบรรยากาศ

 

 

ข้อปฏิบัติภายหลังการรักษาด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง

 

เพื่อความปลอดภัยจากภาวะเจ็บป่วยจากการลดความกคอากาศ ภายหลังจากรับการบำบัดด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง ผู้ป่วยควรปฏิบัติตนดังนี้


- ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง ควรงดเดินทางโดยเครื่องบินหรือการเดินทางไปที่สูง เช่น ภูเขา ในช่วงระยะเวลา 24 ชั่วโมง ภายหลังการรักษา
- ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยจากการดำน้ำ เช่น ภาวะเจ็บป่วยจากการลดความกดอากาศหรือภาวะฟองแก๊สในหลอดเลือด ควรงดเดินทางโดยเครื่องบินหรือการเดินทางไปที่สูง เช่น ภูเขาในช่วงระยะเวลา 72 ชั่วโมง ภายหลังการรักษา

 

 

 

ขั้นตอนการรักษาด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง

 

ก่อนเข้ารับการรักษาแพทย์จะตรวจประเมินสภาพร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียดเพื่อความปลอดภัยและเป็นการลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้


1. ผู้ป่วยต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายตามที่ โรงพยาบาลจัดเตรียมไว้ให้

2. ผู้ป่วยนอนบนเตียงที่สามารถเลื่อนเข้าไปภายในเครื่องปรับแรงดันบรรยากาศสูงชนิดใช้การรักษาผู้ป่วยได้ครั้งละ 1 คน ( Monoplace chamber )
3. แพทย์หรือพยาบาลจะเปิดออกซิเจน 100% ให้เข้าไปในเครื่องแล้วค่อยๆ ปรับความดันออกซิเจนให้มากกว่าปกติ เพื่อผลในการรักษา โดยผู้ป่วยอาจมีอาการหูอื้อเล็กน้อยในระยะแรก ผู้ป่วยสามารถปรับแรงดันในช่องหูได้เพื่อลดภาวะกดเยื่อแก้วหูด้วยวิธีการดังนี้ การปีดปาก ปิดจมูก และกลืนน้ำลาย, การปิดปาก ปิดจมูกพร้อมเบ่งลม, การขยับขากรรไกร ขึ้น-ลง, การหาว, การจิบน้ำ ซึ่งแพทย์หรือพยาบาลจะคอยสังเกตอาการของผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา และสื่อสารกับผู้ป่วยทางโทรศัพท์ที่ติดมากับเครื่อง
4. ผู้ป่วยสามารถปรับท่าทางให้สบาย อาจรับชมโทรทัศน์ หรือนอนหลับพักผ่อนได้
5. เมื่อครบเวลาที่กำหนด แพทย์หรือพยาบาลจะปรับลดความกดบรรยากาศในเครื่องให้ลงมาเท่ากับความกดบรรยากาศปกติและนำผู้ป่วยออกจากเครื่อง
6. ในกรณีผู้ป่วยนอก สามารถเปลี่ยนเสื้อผ้ากลับบ้านได้โดยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล

 

 

ระยะเวลาที่ทำการรักษา

 

ใช้เวลาประมาณ 60-90 นาที ต่อครั้ง จำนวนครั้งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการรักษาและการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย

 

 

การเข้ารับบริการ

 

ท่านสามารถเข้ารับบริการได้ที่แผนกเบาหวาน โดยทำการนัดเข้ารับบริการได้ที่ 1512 ต่อ 2110, 2119 ศูนย์สมองและระบบประสาท ต่อ 2130, 2138, 2139