Fiber tractography เทคโนโลยีที่ปลอดภัยในการผ่าตัดสมอง

July 26 / 2024

 

Fiber tractography เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนความไม่มั่นใจ ให้เป็นความปลอดภัยในการผ่าตัดสมอง

 

 

สารบัญ

 

  1. มัดใยประสาท (Fiber tract) คืออะไร?
  2. Fiber tractography ช่วยศัลยแพทย์ในการผ่าตัดสมองได้อย่างไร?
  3. ภาพตัวอย่างผู้ป่วยจริงในโรงพยาบาลรามคำแหงที่ได้รับการตรวจดูถึงระดับของมัดใยประสาท
  4. ภาพ MRI แบบปกติ
  5. ภาพมัดใยประสาทที่เห็นในผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง
  6. ภาพแสดงการวางตัวของมัดใยประสาทกับเนื้องอกในสมอง

 

นพ. นภสินธุ์ เถกิงเดช

ประสาทศัลยแพทย์

 

 

ในอดีต หากพูดถึงการผ่าตัดสมองนั้น ก็ทำให้รู้สึกถึงความน่ากลัว ไม่ปลอดภัย กลัวว่าจะพิการหลังได้รับการผ่าตัด แต่ในปัจจุบัน หากได้มีการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ ก็จะช่วยทำให้การผ่าตัดสมองนั้นมีความปลอดภัยกับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะถ้าได้มีการวางแผนการผ่าตัดด้วยการใช้ ภาพเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ที่สร้างภาพของมัดใยประสาท(Fiber tractography) ขึ้นมาได้ จะทำให้เราเห็นแนวการเดินทางของมัดใยประสาทที่สำคัญในสมอง ซึ่งต่างจากในอดีตที่เห็นได้เพียงแค่ภาพของเนื้อสมองแต่ไม่รู้ว่าพื้นที่ตรงไหนมีความสำคัญมากกว่ากัน

 

 

 

มัดใยประสาท (Fiber tract) คืออะไร?

 

มัดใยประสาทในสมองก็เปรียบเสมือนสายไฟในร่างกายของเราที่ใช้เชื่อมต่อรับส่งสัญญาณไฟฟ้าในสมองระหว่างกัน รวมถึงส่งออกภายนอกไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น เวลาเราจะเริ่มเคลื่อนไหว สมองเราก็จะสั่งการไปตามแนวมัดใยประสาทที่ทำงานเรื่องการเคลื่อนไหว ก่อนที่จะส่งสัญญาณไปยังอวัยวะที่ใช้ในการเคลื่อนไหว ดังนั้นหากมัดใยประสาทเหล่านี้ถูกทำลาย ก็จะทำให้การเคลื่อนไหวไม่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์ 

 

 

Fiber tractography ช่วยศัลยแพทย์ในการผ่าตัดสมองได้อย่างไร?

 

โรคในสมอง หลายๆโรค มีผลกระทบต่อมัดใยประสาทโดยตรง เช่น เนื้องอกในสมอง หรือ เส้นเลือดในสมองแตก โดยที่โรคเหล่าจะสามารถเข้าไปเบียด ทำลาย หรือ หุ้มมัดใยประสาทเหล่านี้ได้ และถึงแม้ว่าสมองจะมีความสามารถในการปรับตัวเองได้สูง ทำให้ในบางครั้ง การเกิดขึ้นมาของสิ่งผิดปกติในสมองเรา เช่น เนื้องอก ก็ไม่ได้ไปกระทบการทำงานของสมองได้ เพราะว่ามัดใยประสาทที่ใช้ในการเชื่อมต่อกันภายในสมองนั้นได้มีการเคลื่อนย้ายหลบไปแล้วโดยธรรมชาติ (Brain plasticity) ดังนั้นหากต้องการความมั่นใจในการผ่าตัดว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีและปลอดภัย ศัลยแพทย์ก็ควรจะต้องรู้ก่อนว่าบริเวณที่จะทำการผ่าตัดนั้นมีมัดใยประสาทเข้าไปเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะวางแผนการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ โดยที่เลี่ยงการบาดเจ็บต่อมัดใยประสาทเพื่อความปลอดภัยและลดโอกาสพิการของผู้ป่วยได้ 

 

 

ภาพตัวอย่างผู้ป่วยจริงในโรงพยาบาลรามคำแหงที่ได้รับการตรวจดูถึงระดับของมัดใยประสาท
ก่อนได้รับการวางแผนผ่าตัดรักษาโรคทางสมอง

 

 

 

 

ภาพ MRI แบบปกติ จะไม่เห็นมัดใยประสาท

 

ลักษณะภาพมัดใยประสาท ที่เห็นใน MRI จะเห็นเป็นสีขึ้นมา โดย แต่ละสีแสดงถึงแนวทางการเดินของแนวมัดใยประสาท เช่น แนวตั้ง แนวนอน หรือ แนวขวาง

 

 

 

ภาพมัดใยประสาทที่เห็นในผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ในภาพแสดงให้เห็นว่า ตัวก้อนเลือดนั้นได้เบียดทำลายบริเวณที่ควรจะมีมัดใยประสาทอยู่

 

 

 

ภาพแสดงการวางตัวของมัดใยประสาทกับเนื้องอกในสมอง

 

หากเราทราบถึงแนวการวางตัวของมัดใยประสาท ทำให้การวางแผนการผ่าตัดรักษาผู้ป่วย สามารถทำได้ด้วยความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

 

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

นพ. นภสินธุ์ เถกิงเดช

ประสาทศัลยแพทย์

 

 

แก้ไข

21/03/2566