s โรคมือ เท้า ปาก หมอแนะ ฉีดวัคซีนป้องกัน - โรงพยาบาลรามคำแหง

โรคมือ เท้า ปาก หมอแนะ ฉีดวัคซีนป้องกัน - โรงพยาบาลรามคำแหง

February 29 / 2024

 

“โรคมือ เท้า ปาก” หมอแนะให้ฉีดวัคซีนป้องกัน

 

 

พญ.ตวงพร ตุรงค์สมบูรณ์

กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ

 

 

โรคมือ เท้า ปาก เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัส 2 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่ ‘Coxsackievirus A6 & A16’ และ ‘Enterovirus A71’ หรือเรียกชื่อย่อว่า ‘EV-A71’ ซึ่งจะทำให้เด็กเล็กป่วยและอาจเป็นอันตรายด้วยโรคที่เรียกว่า “โรคมือ เท้า ปาก” เริ่มด้วยการเป็นไข้หลังจากผ่านระยะฟักตัวไปแล้ว 2-3 วัน พบมากในเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ขวบ สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส  2 ชนิดที่ว่านี้ต่อไปดังนี้

 

 

อาการของโรคมือ เท้า ปาก

 

“...อาการครั้งแรกก็มักจะมาด้วยเรื่องไข้ แล้วตามมาด้วยการกินอาหารไม่ได้ พ่อ-แม่ผู้ปกครองก็มักบอกว่าเด็กกินได้น้อยลง ไข้สูง มีน้ำลายไหล ตรวจร่างกายพบแผลบริเวณกระพุงแก้ม  เพดานปาก โดยที่แผลส่วนมากอยู่ข้างในลึก ๆ ในปากนะ ส่วนมากอยู่ที่บริเวณเพดานอ่อน โดยจะเห็นได้ว่าฝ่ามือ ฝ่าเท้ามีผื่นเป็นจุดแดงหรือตุ่มน้ำใส ทั้งยังอาจพบผื่นที่บริเวณก้น อวัยวะเพศ แขนและขาได้ คือจะมีอาการประมาณ 2-3 วันแล้วก็ดีขึ้นจนหายภายใน 1 สัปดาห์ โดยเด็กที่มีวัยเกิน 5 ขวบไปแล้วส่วนมากจะเริ่มมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้จึงมีโอกาสเจอโรคนี้น้อยลง แต่ว่าผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยเป็น ไม่เคยมีภูมิก็มีสิทธิ์เป็นได้ เช่นเดียวกับในเด็กโตที่ยังไม่เคยมีภูมิแต่จะมีค่อนข้างน้อย...”

 

 

 

การแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปาก

 

การแพร่ระบาดของโรค เกิดขึ้นได้ด้วยการสัมผัสโดยตรงจากน้ำมูก น้ำลาย ของคนที่เป็นโรคมือ เท้า ปาก หรือว่าอุจจาระ อุจจาระเนี่ยจะเจอเชื้อเยอะมาก หรือว่าสัมผัสพวกสารคัดหลั่งที่มาจากตุ่มน้ำ ตุ่มน้ำที่ตามผื่นที่ตัวก็จะสามารถแพร่เชื้อได้ โดยสารคัดหลั่งต่าง ๆ จากคนที่เป็นโรคมือเท้าปากสามารถแพร่เชื้อได้นานมาก บางรายก็ตรวจเจอเชื้อได้นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนก็มี เพราะฉะนั้นถึงแม้จะหายจากโรคแล้วก็ยังจะแพร่เชื้อต่อได้ ส่วนการติดต่อทางอ้อมก็อาจมาเกิดจากการสัมผัสข้าวของ เช่น เด็กที่ป่วยไปจับของเล่นนู่น นี่ นั่น แล้วก็เอาเชื้อโรคไปติดที่ของเล่น เมื่อมีเด็กคนอื่น ๆ ไปจับต่อก็จะทำให้ติดโรคได้ หรือมิฉะนั้นมันก็จะอยู่ในน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค จึงมักจะเจอในเด็กเล็กได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามสถานรับเลี้ยงเด็กต่าง ๆ โดยเฉพาะเนิร์สเซอร์รี่ที่มีการเปลี่ยนผ้าอ้อมโดยผู้ดูแลไม่ได้รักษาความสะอาดอย่างถูกต้องก็จะทำให้เชื้อที่อยู่ในอุจจาระหรือว่าในสารคัดหลั่งต่าง ๆ แพร่กระจายติดต่อไปได้ หรืออย่างในสนามเด็กเล่นที่เด็กไปกันมาก ๆ แบบบ้านบอล มีลูกบอลเยอะ ๆ จึงมีโอกาสติดต่อโรคนี้ได้มากเพราะไม่อาจทำความสะอาดได้ไม่ทั่วถึงก็จะทำให้เด็ก ๆ ที่ไปแล้วติดโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตามเด็กที่ติดเชื้อนี้ส่วนมากจะหายได้เอง แต่ถ้าเป็นโรคมือ เท้า ปากที่เกิดจากเชื้อ ‘Enterovirus A71’ จะออกฤทธิ์ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมากกว่าเชื้อตัวอื่น โดยภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่พบได้ก็จะมี “ก้านสมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หัวใจล้มเหลวเป็นอัมพาตเฉียบพลัน ซึ่งจะรุนแรงถึงเสียชีวิตได้” ทั้งนี้ อาการแทรกซ้อนที่บ่งชี้อันตรายและสังเกตได้จากการที่เด็กป่วยจะมีอาการซึม อ่อนแรง ชักกระตุก มือสั่น เดินเซ หอบ อาเจียน ซึ่งขอแนะไว้เลยว่าให้รีบพาไปหาหมอโดยไม่รอช้าเป็นดีที่สุด

 

“...ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะ ยาต้านไวรัสก็ไม่มี ส่วนมากจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น ถ้ามีไข้ก็กินยาลดไข้ ในรายที่กินไม่ได้ก็อาจจะให้เป็นสารน้ำ หรือว่าถ้ายังพอกินได้บ้างก็อาจจะแนะนำให้กินเป็นอาหารอ่อน ๆ กินง่าย ๆ ของเย็น ๆ ที่กินแล้วไม่เจ็บปาก หลัก ๆ ก็รักษาประคับประคองอาการ ให้กินน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้เพียงพออาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น...

 

 

วิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก

 

"...สามารถทำได้โดยป้องกันการสัมผัสสิ่งปนเปื้อนของผู้ป่วย และดูแลสุขอนามัยเด็กเล็กอย่างถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเชื้อไวรัสตัวนี้ไม่สามารถฆ่าตายได้ด้วยแอลกอฮอล์ 70% ที่เราใช้ล้างมือกันเป็นประจำ หากจะต้องการกำจัดเชื้อโรคตัวนี้ก็ต้องล้างด้วยน้ำกับสบู่ จึงควรต้องเน้นย้ำโดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ เวลาไปโรงเรียน หรือที่บ้านเวลาจะเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็กน้อยก็ขอให้ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ก่อน รวมทั้งก่อน-หลังทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และไม่ใช้ของอื่น ๆ ร่วมกับใครที่จะต้องมีการสัมผัสร่วมกันเวลาเด็กมารวมตัวกันหลายคน ส่วนเรื่องของเล่นก็ต้องทำความสะอาดเป็นประจำด้วยน้ำกับสบู่ หรือไม่ก็ใช้ผงซักฟอกและพอเสร็จก็เช็ดเสร็จก็นำไปผึ่งให้แห้ง หากเด็กคนใดไม่สบายก็ควรต้องหยุดเรียน และหลีกเลี่ยงการไปที่ชุมชนที่เด็กรวมกันเยอะ ๆ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ...”

 

 

ยังมีอีกประเด็นก็คือ...ตอนนี้มีวัคซีนซึ่งสามารถฉีดป้องกันโรคมือเท้าปากที่เกิดจากเชื้อ Enterovirus 71 โดยเด็กตั้งแต่ 6 เดือน จนถึงก่อนอายุ 6 ปีสามารถมารับการฉีดป้องกันได้ด้วยการฉีด 2 เข็มโดยเว้นให้ห่างกัน 1 เดือน เป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย ช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากโรคมือเท้าปากได้

 

 

 

อ่านข้อมูลของโรคมือ เท้า ปากเพิ่มเติม คลิก >> : โรคมือ เท้า ปาก

 

 

แก้ไข

20/09/2565