ไส้เลื่อน โรคที่เกิดขึ้นได้ทั้งชายและหญิง

September 29 / 2022

 

ไส้เลื่อน โรคที่เกิดขึ้นได้ทั้งชายและหญิง

 

 

นพ.ศิริโรจน์ ฉันทชัยวัฒน์

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมทั่วไป

 

ผนังร่างกายโดยเฉพาะผนังช่องท้อง เป็นโครงสร้างที่บรรจุปกป้องอวัยวะต่าง ๆ ภายใน เพื่อการทำงานปกติของอวัยวะ เมื่อมีจุดอ่อนในโครงสร้างผนังหน้าท้องเกิดขึ้น อวัยวะที่บรรจุอยู่ในช่องท้องก็เคลื่อนที่ออกไปยังจุดอ่อนเหล่านั้น เกิดอาการเป็นก้อนตุงในตำแหน่งที่เป็นจุดอ่อนนั้น ๆ ภาษาทั่วไปก็เรียกภาวะนี้ว่า "ไส้เลื่อน"

 

ภาวะนี้เกิดจากปัจจัยความไม่สมบูรณ์ของผนังหน้าท้อง ซึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่แรกเกิด ภาวะนี้อาจเกิดจากความอ่อนแอแต่กำเนิดของผนังหน้าท้อง ซึ่งแสดงอาการภายหลังเมื่อผู้ป่วยโตเป็นผู้ใหญ่ และการใช้ชีวิตมีการออกแรงเบ่งจึงเกิดแรงดันขึ้นในช่องท้อง ทำให้แสดงอาการไส้เลื่อนขึ้นมา เมื่อมนุษย์เข้าสู่วัยชรา ภาวะสูงวัยก็เป็นปัจจัยที่ทำให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายมีการโรยรา กล้ามเนื้อผนังช่องท้องบางลง จุดอ่อนของผนังช่องท้องก็อาจแสดงอาการเมื่อผู้ป่วยมีอายุมากขึ้น

 

 

 

ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ (Inguinal and Femoral Hernia)

 

Inguinal hernia

ผู้ชายเมื่อครั้งยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดาลูกอัณฑะจะถือกำเนิดขึ้นในช่องท้อง และจะเคลื่อนตัวออกจากช่องท้องผ่านผนังช่องท้องส่วนล่างบริเวณขาหนีบลงไปในถุงอัณฑะ ผนังช่องท้องส่วนที่ลูกอัณฑะผ่านต้องเชื่อมตัวปิดลงเหลือเพียงช่องเล็ก ๆ พอให้ท่ออสุจิกับเส้นเลือดเลี้ยงลูกอัณฑะผ่าน คนที่ผนังท้องส่วนนี้เชื่อมาตัวปิดไม่สมบูรณ์ ก็จะเกิดอาการไส้เลื่อนขึ้นมา เนื่องจากโครงสร้างผนังหน้าท้องส่วนนี้ ในผู้หญิงมีส่วนคล้ายคลึงกับผู้ชายอยู่บ้าง ผู้หญิงบางคนก็เกิดมีภาวะไส้เลื่อนขาหนีบในตำแหน่งนี้ได้เหมือนกัน เนื่องจากไม่มีถุงอัณฑะอาการไส้เลื่อนก็จะมีแค่ก้อนตุงบริเวณหัวเหน่า

 

Femoral hernia

เนื่องจากเส้นเลือดที่ลงไปเลี้ยงขาต้องเดินทางจากช่องท้องผ่านบริเวณขาหนีบลงไปต้นขา  ในคนบางคนโดยเฉพาะผู้หญิงผอมบางมาก ๆ จะมีไส้เลื่อนผ่านข้างเส้นเลือดลงไปต้นขาเกิดอาการก้อนตุงบริเวณต้นขาใต้ขาหนีบ

 

อาการไส้เลื่อน

 

อาการไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบทั้งสองแบบ ผู้ป่วยอาจมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ โดยเฉพาะอาการก้อนตุงจะหายไปเมื่อนอนลง และจะกลับมาเมื่อผู้ป่วยยืนขึ้นหรือออกแรงเบ่ง แรก ๆ ที่เป็นอาจจะเป็นก้อนตุงตรงขาหนีบด้านบน เมื่อเป็นนานเข้าอาการก้อนตุงก็ค่อย ๆ เป็นมากขึ้น จนกระทั่งลงไปในถุงอัณฑะ บางครั้งเนื่องจากอวัยวะภายในที่เคลื่อนตัวลงไปลงไปปริมาณมาก ๆ อาจเกิดลักษณะอุดตันจนไม่สามารถดันกลับเข้าที่ หรือลำไส้ส่วนที่เคลื่อนตัวลงไปเกิดอาการอุดตัน ซึ่งเป็นภาวะต้องรับการผ่าตัดฉุกเฉิน

 

 

 

การรักษาไส้เลื่อน

 

เนื่องจากไส้เลื่อนคือภาวะการมีจุดอ่อนของผนังช่องท้อง อันทำให้เกิดการเคลื่อนตัวผิดปกติของอวัยวะภายในช่องท้อง การรักษาต้องทำการปิดซ่อมจุดอ่อนของช่องท้องดังกล่าว โดยปัจจุบันมักจะใช้ตาข่ายวัสดุสังเคราะห์ ซึ่งเมื่อศัลยแพทย์เย็บซ่อมในตำแหน่งที่เป็นจุดอ่อนดังกล่าวแล้วจะให้ความแข็งแรงเป็นอย่างดี ส่วนวิธีการผ่าตัดมีทั้งการผ่าตัดแบบเปิดธรรมดา กับการผ่าตัดแบบส่องกล้อง การผ่าตัดแบบเปิดแผลเป็นการผ่าตัดที่ทำกันโดยแพร่หลาย เนื่องจากสามารถทำได้เร็ว และวิสัญญีแพทย์สามารถจะใช้การให้ฉีดยาชาไขสันหลัง หรือการวางยาสลบตื้น ๆ ได้ การฟื้นตัวหลังผ่าตัดโดยทั่วไปกินเวลา 1-2 สัปดาห์ การผ่าตัดแบบส่องกล้องโดยทั่วไปมีแผลเล็กกว่า แต่วิสัญญีแพทย์ต้องการวางสลบลึกเท่านั้น และไม่สามารถใช้วิธีฉีดยาชาทางไขสันหลัง การผ่าตัดกำดำเนินการด้วยเครื่องมือส่องกล้อง เวลาที่ใช้ในการผ่าตัดโดยทั่วไปจะนานกว่าการผ่าตัดแบบเปิด แผลผ่าตัดจะมีขนาดครึ่งถึงหนึ่งเซ็นติเมตร สามแผล มักจะเจ็บน้อย และฟื้นตัวเร็ว แต่มีค่าใช้จ่ายโดยทั่วไปเท่าครึ่งถึงสองเท่าของการผ่าตัดแบบเปิด ผลข้างเคียงของการผ่าตัดทั้งสองแบบคล้าย ๆ กัน  โดยที่มีโอกาสเลือดออก ติดเชื้อ และการบาดเจ็บเส้นประสาทข้างเคียงทำให้ชา หรือปวดเรื้อรัง

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

นพ.ศิริโรจน์ ฉันทชัยวัฒน์

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมทั่วไป

 

 

แก้ไข

20/09/2565