s อาการ สาเหตุ และการรักษา ภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ

อาการ สาเหตุ และการรักษา ภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ

August 23 / 2022

 

อาการ สาเหตุ และการรักษา ภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ

 

 

ฮอร์โมนเพศชายต่ำ หรือ Hypogonadism เป็นภาวะที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศชายได้ไม่เพียงพอ ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้มีส่วนช่วยในการสร้างและรักษามวลกล้ามเนื้อ มวลกระดูก อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบุคลิกทางเพศ เมื่อขาดฮอร์โมนชนิดนี้จะส่งผลให้ร่างกายไม่มีแรง ความรู้สึกและอารมณ์ทางเพศลดลง และมีการผลิตอสุจิน้อยลงในเพศชายซึ่งนำไปสู่ภาวะมีลูกยากได้ โดยภาวะนี้เกิดจากการที่ต่อมใต้สมองหรือต่อมเพศเกิดความผิดปกติ จึงทำให้ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเพศได้อย่างเพียงพอ

 

 

สาเหตุของภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ

อาการฮอร์โมนเพศชายต่ำอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • อุบัติเหตุบริเวณลูกอัณฑะ อาจจะมีการบาดเจ็บร่วมด้วย เช่น แผลบาดเจ็บ การทำหมัน การฉายรังสี หรือ การทำเคมีบำบัด
  • การติดเชื้อที่ลูกอัณฑะ
  • ความผิดปกติทางด้านฮอร์โมนจากโรคเลือดกับสมอง เช่น โรคหรือเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง ซึ่งเป็นส่วนที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างฮอร์โมนเพศ
  • โรคที่เกี่ยวกับระบบต่างๆ เช่น โรคเอดส์ โรคตับและไตเรื้อรัง ไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคอ้วน
  • มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น สูบบุหรี่จัด ดื่มสุรา มีความเครียดสูง พักผ่อนไม่เพียงพอ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

 

 

 

อาการของภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ

ผู้ชายที่มีระดับฮอร์โมนเพศชายต่ำ ส่งผลกับด้านร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ทำให้มีอาการดังนี้

  • อารมณ์แปรปรวนง่าย หงุดหงิดง่าย
  • ไม่กระฉับกระเฉง
  • มวลกระดูกและกล้ามเนื้อลดลง
  • อ้วนลงผุงหรือมีเส้นรอบเอวมากกว่า 36 นิ้ว
  • นอนไม่หลับ
  • ความต้องการทางเพศลดลง
  • อวัยวะเพศแข็งตัวได้ไม่เต็มที่
  • ขาดความมั่นใจ หรือซึมเศร้า

 

 

 

ภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำรักษาได้อย่างไร?

ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย สามารถรักษาได้ด้วยการเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชาย มี 2 วิธีหลักๆ คือ

1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เป็นการลดปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย และเพิ่มปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นร่างกายให้สร้างฮอร์โมนเพศชายได้ดีขึ้น มีรายละเอียดดังนี้

  • งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ควบคุมการรับประทานอาหารประเภทแป้งและไขมันให้เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานของหวานและของทอด เน้นรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที/วัน ทำ 5 วัน/สัปดาห์
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่น้อย หรือมากจนเกินไป
  • พักผ่อนให้เพียงพอ พยายามไม่เครียดจนเกินไป

 

 

2.รักษาด้วยยา หรือที่เรียกว่า "การให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน" เป็นการให้ฮอร์โมนเพศชายเพื่อเสริมส่วนที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น การคงสภาวะกระดูก กล้ามเนื้อ อารมณ์ ความต้องการทางเพศ และสมรรถภาพทางเพศ การให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน มี 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่

  • ยารับประทาน
  • ยาทาผิวหนัง เป็นลักษณะเจลใสบรรจุอยู่ในซอง ใช้ทาบนผิวหนังที่แห้งและสะอาด บริเวณหัวไหล่ ต้นแขน หรือหน้าท้อง
  • การฉีดยา โดยจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อของผู้เข้ารับการรักษา

 

 

การรักษาด้วยยาจะต้องทำร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตให้เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

 

แก้ไข

18/08/2565