โรครองช้ำ อักเสบตรงพังผืดใต้ฝ่าเท้า เจ็บซ้ำๆ ระวังเดินไม่ได้

January 31 / 2024

 

โรครองช้ำ เจ็บซ้ำๆ ระวังเดินไม่ได้

 

 

โรครองช้ำ (Plantar Fasciitis) คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบบริเวณพังผืดใต้ฝ่าเท้า ส่วนใหญ่มักเป็นบริเวณที่พังผืดยึดกับกระดูกส้นเท้า ผู้ป่วยมักมีการเจ็บปวดบริเวณส้นเท้าเวลาลงน้ำหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกๆ ของการลงน้ำหนัก เช่น ตื่นนอนตอนเช้า หรือหลังจากการนั่งนานๆ แต่เมื่อเดินไปเรื่อยๆ อาการปวดจะดีขึ้น ซึ่งในนักวิ่งก็เช่นกัน อาการปวดจะมีมากในช่วงแรกของการวิ่ง เมื่อวิ่งไปได้ระยะหนึ่ง อาการปวดจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่จะกลับมาปวดอีกครั้งเมื่อหยุดวิ่ง เมื่อเป็นมากๆ จะมีอาการปวดตลอดเวลา

 

 

สาเหตุของโรครองช้ำ

  • การใช้งานมากเกินไปจนร่างกายทนไม่ไหว เช่น การฝึกวิ่งที่หักโหมจนเกินไป หรือการวิ่งในระยะทางที่ไกลเกินไป
  • การวิ่งกระแทกส้น สาเหตุนี้มักพบในคนที่ชอบวิ่งก้าวยาวๆ ทำให้จังหวะลงเท้ามีการกระแทกอย่างรุนแรงที่ส้นเท้า
  • การวิ่งบนพื้นแข็งหรือใช้รองเท้าที่พื้นบางเกินไปจนไม่สามารถรับแรงกระแทกได้ดีพอ
  • น้ำหนักตัวที่มากเกินไป ในคนอ้วนมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากกว่า เนื่องจากแรงกระแทกจะมีการแปรผันตามน้ำหนักตัวที่ลงไปบนส้นเท้า
  • โครงสร้างร่างกายผิดปกติ เช่น อุ้งเท้าสูง เท้าแบนและคว่ำ หรือส้นเท้าบิดออกด้านนอก

 

 

อาการของโรครองช้ำ

อาการหลักๆ ของโรครองช้ำ คือ อาการเจ็บส้นเท้า และลามไปทั่วฝ่าเท้า ในบางครั้งอาจลามไปที่อุ้งเท้าด้วย ลักษณะของอาการเจ็บจะเป็นแบบปวดจี๊ดขึ้นมาและปวดแสบ โดยมากความเจ็บปวดจะค่อย ๆ เกิดขึ้นทีละน้อย จนคิดว่าเดี๋ยวอาการปวดก็หายไป แต่ก็จะกลับมาปวดอีกอาการปวดจะรุนแรงที่สุด เมื่อเริ่มมีการลงน้ำหนักที่ส้นเท้าในก้าวแรก เช่น เมื่อลุกเดินก้าวแรกหลังตื่นนอน หรือหลังจากนั่งพักเป็นเวลานาน นอกจากนี้ อาจมีอาการปวดมากขึ้นได้ในช่วงระหว่างวันหรือหลังจากที่เท้าต้องรับน้ำหนักเป็นเวลานาน เช่น ยืนหรือเดินเป็นเวลานาน และเมื่อมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นก็จะยิ่งมีอาการปวดมากขึ้น

 

 

 

การรักษาโรครองช้ำ

  • แนะนำให้ลดน้ำหนักตัวให้น้อยลง
  • รักษาด้วยคลื่นกระแทก โดยใช้คลื่นกระแทกบริเวณจุดเกาะพังผืดฝ่าเท้าในรายที่เรื้อรังหรือเลเซอร์ในทางที่เพิ่งเป็นระยะแรก
  • แพทย์ส่วนใหญ่จะทำการรักษาด้วยการให้รับประทานยาร่วมกับ การแช่เท้าในน้ำอุ่นหรือประคบเย็นและยืดเหยียดฝ่าเท้าและเอ็นร้อยหวาย
  • หลีกเลี่ยงการฉีดยากลุ่มสเตียรอยด์
  • สุดท้ายหากได้รับการรักษาตามลำดับทั้งหมดแล้วนานกว่า 6 เดือน อาการยังไม่ดีขึ้น อาจต้องพิจารณาใช้การผ่าตัด โดยมีทางเลือกทั้งผ่าแบบเปิด หรือใช้กล้อง เพื่อเลาะจุดเกาะพังผืดของผ่าเท้า ซึ่งจะช่วยให้การอักเสบและอาการปวดหายไป
  • ใช้แผ่นรองเท้าหรือซิลิโคนรองที่ส้นเท้า ใส่รองเท้าพื้นหนานุ่ม หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า

 


ในกรณีที่ปวดมากหลังเดินหรือวิ่ง
ให้ประคบเย็นบริเวณส้นเท้า

 

 

การป้องกันโรครองช้ำ

  • เลือกรองเท้าให้เหมาะกับชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยลดแรงกระแทกจากการออกกำลังกายหรือเดินมากเกินไป ควรเลือกรองเท้าที่พื้นหนานุ่ม ไม่ควรใส่รองเท้าพื้นบางแข็ง
  • สำหรับสาว ๆ ที่สวมรองเท้าส้นสูงมาก หรือสวมเป็นเวลานาน หากมีเวลาพักควรถอดรองเท้าออก และฝึกยืดน่องบ่อย ๆ
  • ผู้ที่มีเท้าผิดรูป เช่น ฝ่าเท้าแบนหรือโก่งเกินไป ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อตัดรองเท้าพิเศษ ให้เข้ากับรูปเท้าช่วยลดการบาดเจ็บและป้องกันโรครองช้ำได้
  • ควรยืดน่องทั้งก่อนและหลังการวิ่ง
  • ควบคุมน้ำหนักตัว

 

 

 

ทางเลือกการผ่าตัดทั้งแบบเปิดหรือใช้กล้อง เพื่อเลาะจุดเกาะพังผืดเท้า
จะช่วยให้การอักเสบและอาการปวดหายไป

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

พญ.จิตรา วงศ์วิวัฒนานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู

 

 

แก้ไข

29/08/2565