s มะเร็งต่อมลูกหมาก โรคร้ายคุณผู้ชายต้องระวัง

มะเร็งต่อมลูกหมาก โรคร้ายคุณผู้ชายต้องระวัง

December 09 / 2022

 

มะเร็งต่อมลูกหมาก โรคร้ายคุณผู้ชายต้องระวัง

 

 

มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer) เป็นมะเร็งที่พบได้มากในเพศชาย โดยเฉพาะผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป โดยเกิดจากเซลล์ต่อมลูกหมากเจริญเติบโตผิดปกติ และรวดเร็วจนกลายเป็นก้อนมะเร็งอุดตันทางเดินปัสสาวะในที่สุด โดยเซลล์มะเร็งเหล่านี้จะสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ กระเพาะปัสสาวะ ท่อไตส่วนล่าง ต่อมน้ำเหลือง กระดูก ปอด ตับ ทำให้อวัยวะเหล่านั้นเสียหาย และอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

 

 

 

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก

ปัจจุบันพบว่าอัตราการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมีเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่

  • อายุ ยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากก็ยิ่งสูงขึ้น จะพบมากในผู้ชายที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติบิดาหรือพี่น้องเคยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีโอกาสเสี่ยงกว่าคนทั่วไป

 

 

สัญญาณมะเร็งต่อมลูกหมาก

โรคนี้เป็นโรคที่ค่อย ๆ สะสมและจะไม่แสดงอาการใด ๆ ในระยะแรกจนกระทั่งเซลล์มะเร็งเจริญเติบโตไปกดทับท่อปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการปัสสาวะ ดังนี้

  • ปัสสาวะไหลช้า มีอาการติดขัด และออกยาก
  • ปัสสาวะบ่อยครั้ง
  • หลังปัสสาวะจะรู้สึกเหมือนยังปัสสาวะไม่สุด
  • มีเลือดปนกับปัสสาวะ
  • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่

 

 

 

ระยะของมะเร็งต่อมลูกหมาก

มะเร็งต่อมลูกหมากแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 เป็นระยะเริ่มต้น พบมะเร็งเฉพาะในต่อมลูกหมากเพียงกลีบเดียว และยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
  • ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยพบทั้งสองกลีบของต่อมลูกหมาก ยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
  • ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายออกมาที่ผิวด้านนอกของต่อมลูกหมากหรือลุกลามเข้าต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ
  • ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น เช่น กระเพาะปัสสาวะ ท่อไตส่วนล่าง ต่อมน้ำเหลือง กระดูก ตับและปอด

 

 

 

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

  • การผ่าตัด เพื่อตัดก้อนมะเร็งทิ้ง ซึ่งวิธีการนี้ให้ผลดี เหมาะกับผู้ป่วยที่อายุไม่มาก มีร่างกายแข็งแรง รวมทั้งไม่มีโรคประจำตัวอื่นๆที่ส่งผลต่อการผ่าตัด สามารถทำได้ทั้งการผ่าเปิดช่องท้อง และผ่าตัดแบบส่องกล้อง
  • การฉายรังสี เพื่อเลี่ยงการผ่าตัดใหญ่ในผู้ที่อายุมาก หรือมีเหตุให้ทำการผ่าตัดไม่ได้ สามารถทำได้ทั้งฉายรังสีภายนอกร่างกาย หรือสอดสารกัมมันตภาพรังสีเข้าต่อมลูกหมากโดยตรง
  • การเฝ้าระวัง ติดตามโรคและอาการโดยไม่มีการรักษา เหมาะกับผู้สูงอายุมากๆ หรือผู้ที่เป็นในระยะแรก
  • การลดฮอร์โมนเพศชาย โดยการผ่าตัดอัณฑะทั้งสองข้างออก หรือให้ยาลดฮอร์โมนเพศชาย
  • เคมีบำบัด มักใช้วิธีนี้เมื่อการใช้ฮอร์โมนบำบัดไม่ได้ผลเท่าที่ควร

 

 

แก้ไข

19/09/2565