s ปัสสาวะแสบขัดมีเลือดปน ระวังนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

ปัสสาวะแสบขัดมีเลือดปน ระวังนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

September 19 / 2022

 

ปัสสาวะแสบขัดมีเลือดปน ระวังนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

 

 

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เป็นหนึ่งในโรคนิ่วที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยจะพบเป็นก้อนของสารหรือแร่ธาตุที่ตกตะกอนหรือตกผลึก เกิดจากการที่มีปัสสาวะตกค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งจะมีขนาดเล็กมากๆ ไปจนถึงใหญ่กว่า 5 ซม. อาจมีก้อนเดียวหรือหลายก้อน และอาจมีลักษณะแข็งมาก ค่อนข้างแข็ง หรืออาจจะค่อนข้างนุ่มได้ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะเป็นโรคเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากเกิดภาวะอุดกั้นทางเดินปัสสาวะได้บ่อยกว่า (Bladder outlet obstruction) ตะกอนนิ่วจึงมีโอกาสตกค้างได้มากกว่า

 

 

 

สาเหตุการเกิดโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ สามารถเกิดได้ 2 แบบ คือ

  • นิ่วจากไตหรือท่อไตที่หลุดลงมาสะสมเพิ่มขนาดในกระเพาะปัสสาวะ
  • นิ่วที่เกิดในกระเพาะปัสสาวะเอง ซึ่งเกิดจากการขับถ่ายปัสสาวะออกไม่หมด เช่น มีภาวะต่อมลูกหมากโตกีดขวางทางเดินปัสสาวะ ท่อปัสสาวะตีบตัน กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ ทำให้มีน้ำปัสสาวะคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะ นานวันเข้าก็จะเกิดการตกตะกอนแล้วค่อยๆ โตขึ้นเป็นก้อนนิ่วขึ้นมา

 

อาการของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

ผู้ป่วยมักไม่ค่อยมีอาการแสดง แพทย์มักตรวจพบได้โดยบังเอิญจากการเอกซเรย์ช่องท้องจากโรคอื่น ๆ เช่น ปวดท้องหรือปวดหลัง ส่วนในรายที่แสดงอาการ จะมีอาการที่พบได้บ่อยคือ

  • ปวดท้องน้อยเรื้อรัง อาจร่วมกับปวดหลังเรื้อรัง
  • การปัสสาวะผิดปกติหรือมีอาการขัด (เนื่องจากก้อนนิ่วลงไปอุดกั้นท่อปัสสาวะ) ทำให้ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปัสสาวะลำบากปวดแสบปวดร้อน
  • ผู้ป่วยบางรายอาจปัสสาวะออกเป็นเลือดหรือมีสีน้ำล้างเนื้อ หรืออาจถ่ายปัสสาวะเป็นก้อนนิ่วหรือเม็ดกรวดทรายเล็ก ๆ หรือปัสสาวะขุ่นขาวเหมือนมีผงแป้งปนอยู่
  • หากก้อนนิ่วตกลงไปอุดกั้นท่อปัสสาวะ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องน้อยมาก ปัสสาวะไม่ออก และมีปัสสาวะคั่งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ
  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย ทำให้มีอาการปวดท้องน้อย ปวดหลัง ปัสสาวะแสบปวดร้อน มีไข้

 

 

 

การรักษาโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

แนวทางในการรักษาโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ

  • การเอานิ่วออก ในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดเล็กมาก แพทย์อาจเริ่มจากการแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ร่างกายขับนิ่วออกมาเองตามธรรมชาติ แต่โดยทั่วไปแล้วการเอานิ่วออกสามารถทำได้ 3 วิธีดังต่อไปนี้ คือ
    • การส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะ (Cystolitholapaxy)
    • การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy : ESWL)
    • การผ่าตัด
  • รักษาที่สาเหตุของโรค เนื่องจากการเอานิ่วออกเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุของการเกิดโรคอาจทำให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นนิ่วซ้ำได้อีก ซึ่งการรักษาที่สาเหตุนี้ยกตัวอย่าง เช่น
  • หากนิ่วเกิดจากการมีปัสสาวะคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะ แพทย์ต้องตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัดว่าการคั่งค้างนั้นเกิดจากอะไรแล้วทำการรักษาไปพร้อมกัน เช่น ผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยใช้วิธีส่องกล้องในกรณีที่ เกิดจากต่อมลูกหมากโตหรือทำการขยายท่อปัสสาวะในกรณีที่มีการตีบตัน
  • หากนิ่วเกิดจากการที่กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ เช่น บีบตัวไม่ดี ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องสวนปัสสาวะทิ้งเป็นครั้งคราว (Intermittent catheterization)

 

แก้ไข

19/09/2565