ปวดหลังปวดเอวเรื้อรัง ระวังนิ่วในไต

September 19 / 2022

 

ปวดหลังปวดเอวเรื้อรัง ระวังนิ่วในไต

 

 

นิ่วในไต เป็นโรคที่เกิดจากการสะสมของผลึกแร่ธาตุแข็งชนิดต่าง ๆ จนกลายเป็นก้อนแข็งที่มีชนิดและขนาดแตกต่างกัน โดยจะพบที่ท่อลำเลียงนำเข้าสู่กรวยไต (Calyx) หรือกรวยไต (Renal Pelvis) เป็นผลมาจากการปัสสาวะเข้มข้นมากและตกตะกอนเป็นนิ่ว ซึ่งนิ่วในไตมีโอกาสเป็นซ้ำได้

 

 

 

สาเหตุของนิ่วในไต

  • นิ่วในไตอาจเกิดขึ้นได้จากปริมาณของเกลือ แร่ธาตุและสสารต่าง ๆ เช่น แคลเซียม กรดออกซาลิก และกรดยูริกในปัสสาวะที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีปริมาณมากเกินกว่าของเหลวในปัสสาวะจะละลายหรือทำให้เข้มข้นน้อยลงได้ จนเกิดการเกาะตัวเป็นก้อนนิ่วในที่สุด
  • การเกิดนิ่วในไตยังอาจมีปัจจัยจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารบางชนิด เช่น เกลือ น้ำตาล และอาหารที่มีโปรตีนสูง การดื่มน้ำไม่มากพอในแต่ละวัน
  • การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โรคเมตาบอลิก รวมถึงการใช้ยารักษาโรคบางชนิดอย่างโรคเกาท์ ไทรอยด์ทำงานเกินปกติ เบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง
  • การรับประทานวิตามินดีหรือวิตามินซีเสริมมากเกินไป

 

 

อาการเตือนโรคนิ่วในไต

นิ่วในไตมักไม่มีอาการแสดง แต่จะมีอาการแสดงก็ต่อเมื่อมีการติดเชื้อซ้ำซ้อน หรือก้อนนิ่วไปอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ ทำให้มีอาการ ดังนี้

  • ปวดหลังหรือปวดท้องข้างใดข้างหนึ่ง โดยจะปวดเสียด ปวดบิดเป็นพักๆ คล้ายปวดท้องประจำเดือน แต่อาจปวดนานเป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน
  • มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • มีปัสสาวะอาจมีลักษณะขุ่นแดง หรือบางครั้งอาจมีนิ่วก้อนเล็กๆ หรือมีเม็ดทรายปนออกมากับปัสสาวะ
  • เมื่อกดบริเวณที่ปวดจะไม่รู้สึกเจ็บ หรือบางครั้งก็อาจรู้สึกสบายขึ้น
  • ถ้าก้อนนิ่วตกลงมาที่ท่อไตจะมีอาการปวดในท้องรุนแรง
  • มีไข้ เกิดจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะแทรกซ้อน

 

 

 

 

การรักษาโรคนิ่วในไต

การรักษานิ่วในไต การรักษาขึ้นกับชนิดและขนาดของนิ่ว ได้แก่

  • การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด หากนิ่วมีขนาดก้อนเล็กมาก นิ่วอาจหลุดออกมาได้เอง โดยการดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อขับออกมาทางปัสสาวะ หรือให้ยาละลายน้ำ หากเป็นน้ำชนิดที่ละลายได้ด้วยยา
  • การใช้เครื่องสลายนิ่ว (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy : ESWL) เป็นการสลายนิ่วขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร โดยใช้คลื่นกระแทก ทำให้ก้อนนิ่วแตกตัวและขับออกมาทางปัสสาวะ ผู้ป่วยอาจเจ็บเล็กน้อย และมีผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมา จึงควรทำการรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญอย่างใกล้ชิด
  • การส่องกล้องสลายนิ่ว (Ureteroscopy) เป็นการส่องกล้องเข้าไปในท่อไตจนถึงไต แล้วใช้เครื่องมือทำลายนิ่วเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อขับออกมาทางปัสสาวะ
  • การรักษาแบบผ่าตัด (PercutaneousNephrolithotomy : PCNL) ใช้ในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่และรักษาวิธีอื่นไม่ได้ผล โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดด้วยการเจาะรูเล็ก ๆ บริเวณหลังของผู้ป่วยแล้วใช้กล้องส่องเพื่อนำเครื่องมือสอดเข้าไปทำให้นิ่วแตกเป็นชิ้นเล็ก จากนั้นจึงคีบก้อนนิ่วออกมาทางรูเดิม ซึ่งวิธีนี้ต้องพิจารณาและทำการผ่าตัดโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญเท่านั้น

 

 

การป้องกันโรคนิ่วในไต

  • ดื่มน้ำให้มาก ช่วยลดโอกาสการจับตัวกันของผลึกจนเป็นก้อนนิ่ว
  • กินแคลเซียมจากอาหารธรรมชาติให้เพียงพอ
  • เลี่ยงเค็ม ลดเกลือในมื้ออาหาร
  • ควบคุมการกินเนื้อสัตว์ นม เนย
  • กินผักให้เยอะช่วยลดโอกาสเกิดนิ่ว

 

 

แก้ไข

19/09/2565