จะรับมืออย่างไร เมื่อลูกเป็นลมชัก

September 29 / 2022

 

จะรับมืออย่างไร เมื่อลูกเป็นโรคลมชัก

 

โรคลมชัก (Epilepsy) คือ อะไร?

 

รคลมชัก เกิดจากการที่เซลล์ในสมองทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดการนำกระแสไฟฟ้าในสมองที่ผิดพลาด ทำให้เกิดอาการชักในรูปแบบต่างๆ ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เซลล์สมองส่วนนั้นทำงานผิดปกติ

 

 

อาการชัก (Seizure) มีได้หลายรูปแบบ หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรสงสัยว่าลูกของท่านมีอาการชัก

 

  • มีอาการเกร็ง กระตุก หรือ มีทั้งอาการเกร็งและกระตุก (Tonic, Clonic, Tonic-clonic seizure)
  • มีอาการสะดุ้งบ่อยๆ (Myoclonic seizure)
  • มีอาการชักผวา โดยมักจะพบหลังจากตื่นนอน (Epileptic spasm)
  • อยู่ดีๆ กล้ามเนื้อก็หมดแรง ทำให้ล้ม (Atonic seizure)
  • อยู่ดีๆ ก็มีกล้ามเนื้อบิดเกร็ง อาจจะมีคอบิด หรือหันหน้าไปทางใด ทางนึง
  • อยู่ดีๆ ก็เหม่อ (Absence) อาจจะมีอาการเคี้ยวปาก หรือทำพฤติกรรมแปลกๆ เช่น เอามือขยี้กระดุมขณะไม่รู้สึกตัว
  • อยู่ดีๆ ก็หัวเราะ หรือร้องไห้ (Gelastic and Dacrystic seizure)
  • มีพัฒนาการถดถอย

           หากมีอาการดังกล่าว ควรที่จะปรึกษาแพทย์ระบบประสาทเพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป

 

 

 

สาเหตุของโรคลมชัก

 

รคลมชัก เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • ความพิการทางสมองตั้งแต่กำเนิด (Congenital brain malformation) เช่น สมองแหว่ง, ร่องสมองผิดปกติ
  • เคยมีภาวะแทรกซ้อนในช่วงแรกเกิด เช่น มีภาวะขาดออกซิเจนระหว่างและหลังคลอด
  • สมองอักเสบ โดยอาจจะเกิดจากการติดเชื้อ หรือ ภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง (Autoimmune encephalitis)
  • เนื้องอกในสมอง
  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
  • พันธุกรรม

         ในผู้ป่วยโรคลมชักจำนวนนึง อาจจะไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน

 

 

 

การวินิจฉัยโรคลมชักทำได้อย่างไร?

 

สำคัญสุดในการวินิจฉัยโรคลมชัก คือ จากการซักประวัติในปัจจุบัน มีเทคโนโลยีที่สามารถถ่ายวิดีโอคลิปขณะที่มีอาการชักได้ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้สามารถช่วยให้แพทย์ระบบประสาทสามารถวินิจฉัยแยกโรคได้แม่นยำมากขึ้น และสามารถส่งตรวจเพิ่มเติมต่อไปได้แม่นยำมากขึ้น

 

หากดูจากประวัติแล้วสงสัยโรคลมชัก ทางแพทย์ระบบประสาทจะทำการตรวจยืนยัน และดูว่าส่วนที่ผิดปกตินั้นอยู่ส่วนไหน โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG, Electroencephalography) ต่อไป

 

 

ส่วนวิธีการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองนั้น ทางหมอจะทำการติดตัวรับสัญญาณไฟฟ้า (Electrode) แล้วใช้เครื่องประมวลผลเป็นคลื่น แล้วทางแพทย์ระบบประสาทจะทำการอ่านต่อไป โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองนั้นไม่ทำให้เด็กบาดเจ็บแต่อย่างใด

 

นอกจากนั้นสิ่งสำคัญ คือ การหาสาเหตุของโรคลมชักแล้วทำการรักษาสาเหตุนั้นๆ เช่น หากสงสัยการติดเชื้อ อาจจะต้องเจาะน้ำตรวจไขสันหลัง และให้ยาฆ่าเชื้อ สงสัยมีก้อนในสมองหรือมีความพิการทางสมองตั้งแต่กำเนิด อาจจะจำเป็นต้องทำ CT scan หรือ MRI ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

 

 

วิธีการรักษาโรคลมชัก

 

การรักษาหลักคงเป็นการใช้ยากันชัก ร่วมกับการรักษาสาเหตุของโรคลมชัก เช่น ถ้าเป็นเนื้องอกในสมอง อาจจะจำเป็นต้องผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสีและเคมีบำบัดในผู้ป่วยโรคลมชักดื้อยา (ใช้ยาถูกโรค ถูกขนาด ตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไปแล้วแต่ยังมีอาการชักอยู่) อาจจะใช้การผ่าตัด หรือกินอาหารคีโต (Ketogenic diet)

 

 

 

รับมืออย่างไรดี หากลูกมีอาการชัก

 

  • ตั้งสติ อย่าพึ่งตื่นตระหนก
  • หากอยู่ในที่ที่ไม่ปลอดภัย ให้อุ้มมายังที่ปลอดภัยก่อน
  • จับนอนตะแคง เพื่อลดการสำลัก
  • ห้ามเอาอะไรใส่ในปากของเด็กอย่างเด็ดขาด! เนื่องจากอาจจะทำให้สิ่งเหล่านั้นตกไปอุดหลอดลม ทำให้หายใจไม่ออกได้ และห้ามให้ยาหรือน้ำต่างๆ จนกว่าเด็กจะได้สติ
  • รีบมาที่โรงพยาบาล โดยปกติอาการชักส่วนใหญ่ในเด็กมักจะหยุดก่อน 5 นาที แต่ถ้าชักเกิน 5 นาที มีแนวโน้มที่จะหยุดชักเองได้ยาก ดังนั้นหากปล่อยให้ลูกชักนานๆ อาจจะทำให้การรักษายากขึ้น และอาจจะส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ในอนาคตได้

         

 

หากลูกของท่าน มีอาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็น โรคลมชัก ควรรีบมาปรึกษาแพทย์ระบบประสาท จะได้ทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป เพื่อควบคุมโรคลมชัก ไม่ให้ส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของลูกท่าน

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

นพ.พีรธัช โชคมั่งมีพิศาล

กุมารเวชศาสตร์ ระบบประสาทวิทยา

 

 

แก้ไข

29/09/2565