กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน อย่าปล่อยให้รบกวนคุณภาพชีวิต

September 19 / 2022

 

กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน อย่าปล่อยให้รบกวนคุณภาพชีวิต

 

 

ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (Overactive Bladder : OAB) เป็นภาวะที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ที่เกิดจากการรับรู้ของกระเพาะปัสสาวะที่เร็วกว่าปกติ ทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะบีบตัวบ่อย ส่งผลให้มีอาการปัสสาวะบ่อยทั้งในตอนกลางวันและกลางคืน ไม่ว่าจะดื่มน้ำในปริมาณมากหรือน้อยก็ตาม ทำให้เกิดความรำคาญ ขาดความมั่นใจ วิตกกังวล รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน โดยจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบได้ตั้งแต่ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานช่วงอายุ 30-40 ปี และพบมากในผู้สูงวัยช่วงอายุตั้ง 50 ปีขึ้นไป

 

 

ปัจจัยเสี่ยงของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน

 

กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน เป็นผลมาจากกล้ามเนื้อบริเวณกระเพาะปัสสาวะหดตัวอย่างกะทันหัน nแม้มีปัสสาวะในปริมาณน้อย ในปัจจุบันยังระบุสาเหตุของภาวะนี้ไม่ได้แน่ชัด แต่มีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน เช่น

  • กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรง
  • เส้นประสาทได้รับความเสียหาย การทำงานระหว่างสมองและกระเพาะปัสสาวะเกิดความผิดพลาด เนื่องจากเส้นประสาทได้รับความเสียหายจากสาเหตุต่าง ๆ
  • การใช้ยา การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน จะขัดขวางการทำงานของสมอง ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะล้น อีกทั้งยาขับปัสสาวะและเครื่องดื่มคาเฟอีนจะทำให้กระเพาะปัสสาวะเต็มเร็วและเกิดภาวะปัสสาวะเล็ดได้
  • การติดเชื้อ การติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะอาจส่งผลต่อการทำงานของเส้นประสาทในบริเวณดังกล่าว ทำให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวโดยไม่สามารถควบคุมได้
  • น้ำหนักเกิน ร่างกายของผู้ที่มีน้ำหนักมากจะมีการกดทับบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้เกิดภาวะปัสสาวะราด
  • การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนในวัยหมดประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกายอาจส่งผลต่อความต้องการที่จะปัสสาวะอย่างเร่งด่วน

 

 

 

อาการของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน

 

ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • ปัสสาวะอย่างเร่งรีบ รู้สึกปวดปัสสาวะอย่างกะทันหันและไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้นาน
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้นกว่าแต่ก่อนหรือปัสสาวะมากกว่า 8 ครั้งต่อวัน
  • ปัสสาวะราดหรือมีปัสสาวะเล็ดเมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะ
  • ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน โดยผู้ที่มีภาวะนี้จะตื่นมาปัสสาวะอย่างน้อย 2 ครั้งต่อคืน

 

 

 

การรักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน

 

การรักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินที่ได้ผลดีที่สุด จำเป็นต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน ได้แก่

  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น
    • งดหรือลดเครื่องดื่มผสมคาเฟอีนซึ่งมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ
    • ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ดื่มมากเกินไป
    • งดหรือลดปริมาณน้ำดื่มในช่วงเวลา 3-4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
    • ปัสสาวะซ้ำ 2 ครั้งเพื่อให้ปัสสาวะเหลือค้างในกระเพาะปัสสาวะน้อยที่สุด
    • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินค่ามาตรฐาน เนื่องจากพบอุบัติการณ์ณ์ที่เพิ่มขึ้นในผู้ป่วยกลุ่มนี้
  • การรักษาด้วยยารับประทาน เพื่อลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ
  • การฉีดยา botulinum toxin หรือโบท็อกซ์เข้ากล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ โดยยาจะให้ผลการรักษาประมาณ 5-9 เดือน จากนั้นอาจต้องฉีดซ้ำหากจำเป็น วิธีนี้สามารถพิจารณาในผู้ป่วยที่ทานยาไม่ได้ผล หรือต้องการลดผลข้างเคียงจากการใช้ยารับประทาน
  • การปรับสมดุลระบบประสาทควบคุมกระเพาะปัสสาวะ (Neuromodulation) โดยการฝังเข็มหรือแผ่นแปะเพื่อส่งกระแสไฟฟ้า หรือการผ่าตัดฝังอุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์ในร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้เส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะกลับมาทำงานเป็นปกติ
  • การผ่าตัดขยายกระเพาะปัสสาวะ เป็นวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ เพื่อช่วยให้กระเพาะปัสสาวะสามารถกักเก็บปัสสาวะได้ดีขึ้นและลดความดันในกระเพาะปัสสาวะลง

 

 

แก้ไข

19/09/2565