RAM Synergy Care รักษาเนื้องอกต่อมใต้สมอง ไม่ใช่ที่ไหนก็ได้

March 18 / 2024

 

ศูนย์ผ่าตัดส่องกล้อง เนื้องอกต่อมใต้สมองผ่านทางโพรงจมูก

(RAM Pituitary Center)

โรงพยาบาลรามคำแหง

 

 

RAM Synergy Care " รักษาเนื้องอกต่อมใต้สมอง .. ไม่ใช่ที่ไหนก็ได้ "

 

" ศูนย์ผ่าตัดส่องกล้องเนื้องอกต่อมใต้สมองผ่านทางโพรงจมูก (RAM Pituitary Center) โรงพยาบาลรามคำแหง พร้อมให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเนื้องอกต่อมใต้สมอง ด้วยความร่วมมือกันระหว่างแพทย์ด้านประสาทศัลยศาสตร์ และ แพทย์หู คอ จมูก ผสมผสานวิทยาการด้านการผ่าตัดเข้ากับเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพิ่มความปลอดภัยในการผ่าตัดรักษาเนื้องอกในสมองผ่านทางโพรงจมูก เพื่อช่วยให้คนไข้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง "

 

 

 

กำเนิดศูนย์ผ่าตัดส่องกล้องเนื้องอกต่อมใต้สมองผ่านทางโพรงจมูก (RAM Pituitary Center) โรงพยาบาลรามคำแหง


อย่างที่ทราบกันดีว่าแผนกผ่าตัดสมอง โรงพยาบาลรามคำแหง ที่นำโดย อาจารย์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ. สิระ บุณยะรัตเวช อาจารย์แพทย์ประสาทศัลยศาสตร์ ได้ทำงานร่วมมือกับทางแผนก หู คอ จมูก ในการรักษาผู้ป่วยเนื้องอกต่อมใต้สมองกันมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญครั้งใหญ่

 

เมื่อปี 2548 นพ.ภูริปัณย์ อร่ามวัฒนพงศ์ แพทย์หู คอ จมูก เริ่มมีการนำกล้องส่องผ่าตัดเข้ามาร่วมใช้ในการผ่าตัดแทนที่การผ่าตัดแบบดั้งเดิม คือ การผ่าเข้าทางช่องเหนือเหงือก หรือ ผนังกั้นกลางจมูก

 

ต่อมาในปี 2558 นพ.นภสินธุ์ เถกิงเดช แพทย์ประสาทศัลยศาสตร์ ได้เข้าร่วมกับทีมผ่าตัดที่โรงพยาบาลรามคำแหง และได้สานต่อแนวทางการผ่าตัดส่องกล้องเนื้องอกต่อมใต้สมองผ่านทางโพรงจมูก ทำให้นอกจากทางทีมผ่าตัดจะมีการพัฒนาเทคนิคให้ทันสมัยมาโดยตลอดแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนในเรื่องของเทคโนโลยีจากทางโรงพยาบาลอีกด้วย จนได้รับผลตอบรับในทางที่ดีเยี่ยมจากการรักษาผู้ป่วยด้วยเทคนิคนี้

 

จนทำให้ในที่สุดทางทีมผ่าตัดของ 2 แผนก จึงตัดสินใจร่วมกันว่าถึงเวลาแล้ว ที่พร้อมจะเปิดศูนย์การผ่าตัดส่องกล้องเนื้องอกต่อมใต้สมองผ่านทางโพรงจมูก (RAM Pituitary Center) ขึ้นมา เพื่อที่จะเน้นย้ำถึงความร่วมมืออันดีของ 2 แผนก ในการบริการรักษาผู้ป่วยโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองให้หายจากโรค และได้รับความปลอดภัยสูงสุด จากการผสมผสานความเชี่ยวชาญของแพทย์ทั้ง 2 แผนก ในการรักษาเข้ากับอุปกรณ์การผ่าตัดที่ทันสมัยตลอดไป

 

 

เนื้องอกต่อมใต้สมอง (Pituitary adenoma) คืออะไร?

 

 

 

เนื้องอกต่อมใต้สมอง (Pituitary adenoma)

  • พบได้ 10% ของเนื้องอกในสมองทั้งหมด
  • ส่วนใหญ่ไม่ใช่เนื้อร้าย 90% เป็นเนื้อดี ที่โตช้า
  • ถ้าขนาดใหญ่เกิน 1 ซม. เรียก “Pituitary macroadenoma”
  • ถ้าขนาดเล็กว่า 1 ซม. เรียก “Pituitary microadenoma”
  • ถ้าเจอโดยบังเอิญจากการตรวจด้วยเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI) และมักมีขนาดเล็ก ไม่มีอาการ เรียก “Incidentaloma”
  • ถ้าเจอเป็นชนิดที่สร้างฮอร์โมนโปรแลคติน (prolactin) มากเกินไป เรียก “Prolactinoma”
  • ถ้าเจอแบบมีเลือดออกในก้อน เรียก “Pituitary apoplexy”
  • อาการแสดง พบได้บ่อยๆ 3 อาการ คือ 1) ตามองไม่ชัด 2) ฮอร์โมนผิดปกติ 3) ปวดศีรษะรุนแรงเฉียบพลัน
  • แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ขึ้นกับระดับฮอร์โมน คือ functioning (ฮอร์โมนมากเกิน) และ non-functioning (ไม่สร้างฮอร์โมน)
  • จำเป็นต้องตรวจด้วย MRI Pituitary แบบฉีดสี
  • จำเป็นต้องตรวจ ระดับฮอร์โมน ลานสายตา และ เส้นประสาทจอตา
  • แนวทางการรักษา ขึ้นกับอาการเป็นสำคัญ
  • การผ่าตัดเป็นทางเลือกหลักในการรักษาโรคนี้

 

 

ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) คืออะไร?

 

 

 

ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland)

  • ต่อมใต้สมอง หรือ ต่อมพิทูอิตารี
  • พิทูอิตารี มาจากภาษาละติน แปลว่า “เมือก” เพราะในอดีตนึกว่าเอาไว้สร้างเมือกให้ไหลลงทางจมูก
  • หน้าตาเหมือนเมล็ดถั่วแดงที่วางอยู่ในแนวลึกสุดของจมูก ตรงกลางระหว่างลูกตา 2 ข้าง ในแนวกลางของศีรษะ
  • ล้อมรอบด้วยเส้นประสาทจอตา เส้นเลือดแดงใหญ่ที่มาเลี้ยงสมอง และเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3,4,5,6
  • มีหน้าที่ สร้างฮอร์โมนหลายชนิดออกมา เพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย เช่น ACTH, Growth hormone, Thyroid hormone และ sex hormone

 

 

แนวทางการรักษาเนื้องอกต่อมใต้สมอง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

  1. เนื้องอกต่อมใต้สมองกลุ่มที่ยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัด สามารถรักษาด้วยวิธีการเฝ้าติดตามอาการการตรวจทางสายตา และ การตรวจด้วย MRI
  2. กลุ่มที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหรือฉายแสง หรือ อาจให้ยาในบางชนิด

 

 

เทคนิคการผ่าตัดของศูนย์ส่องกล้องผ่าตัดเนื้องอกต่อมใต้สมองผ่านทางโพรงจมูก โรงพยาบาลรามคำแหง

 

ใช้วิธีการส่องกล้องผ่าตัดผ่านทางโพรงจมูก (Endoscopic Endonasal approach) เพราะเทคนิคนี้ช่วยให้ศัลยแพทย์ได้มีมุมมองในการผ่าตัดที่กว้างและครอบคลุมบริเวณที่สำคัญได้มากกว่า ทำให้สามารถผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ และปลอดภัยมากขึ้น (ตามรูป) ด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยจะไม่มีแผลด้านนอก รวมถึงได้รับความเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อยมาก สามารถฟื้นตัวได้ไว และใช้เวลาพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลไม่นาน นอกจากนี้ที่ศูนย์เรายังใช้อุปกรณ์นำร่อง (Neuronavigator) สำหรับสร้างภาพโมเดลเสมือนจริงของคนไข้ร่วมด้วย เพื่อช่วยในการบอกตำแหน่งและทิศทางในขณะผ่าตัด คล้ายกับแผนที่นำทางให้ศัลยแพทย์เพื่อเสริมความปลอดภัยให้ผู้ป่วยมากขึ้นไปอีกขั้นได้

 

 

 

 

 

 

 

ความสำเร็จเกิดจากทีมแพทย์ (RAM Synergy Care & Multi-Specialty Care)

 

 

 

หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่าการรักษาเนื้องอกต่อมใต้สมองให้สำเร็จนั้น ไม่ใช่ว่ามีแค่หมอผ่าตัดแล้วจะทำให้สมบูรณ์ได้ แต่จริงๆ แล้วยังจำเป็นต้องมีทีมงาน ช่วยกันรักษาคนไข้อีกถึง 8 แผนก ที่มาร่วมช่วยกันทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคได้อย่างปลอดภัย 

 

 

เนื้องอกต่อมใต้สมองนั้น เป็นโรคที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของระบบฮอร์โมนค่อนข้างมาก เนื่องจากต่อมใต้สมองเป็นบริเวณที่สร้างและกักเก็บฮอร์โมนหลายชนิดคนไข้แต่ละคนอาจมีความผิดปกติของแต่ละฮอร์โมนที่แตกต่างกันไป ขึ้นกับตำแหน่งของเนื้องอก “ การให้ยาระงับความรู้สึก จึงจำเป็นต้องเข้าใจถึงความผิดปกติของคนไข้แต่ละคน เพื่อวางแผนให้ยาได้อย่างเหมาะสม ” รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัดโดยทำงานร่วมกับทีมอายุรแพทย์ โดยการผ่าตัดเนื้องอกจะใช้วิธีวางยาสลบแบบทั้งตัวคนไข้ไม่รู้สึกตัวระหว่างผ่าตัด และจะตื่นรู้สึกตัวทันทีหลังผ่าตัดอย่างนิ่มนวลและไม่ไอ สำหรับการผ่าตัดชนิดนี้ เป็นการผ่าตัดโดยการส่องกล้องผ่านทางโพรงจมูกจึงมักไม่ค่อยเจ็บ โดยวิสัญญีแพทย์ จะเป็นผู้ให้ยาแก้ปวดให้เพียงพอและปลอดภัยที่สุด

 

 

เมื่อพบเนื้องอกของต่อมใต้สมอง แพทย์ต่อมไร้ท่อต้องการทำการซักประวัติตรวจร่างกาย และตรวจวัดระดับฮอร์โมนว่าเนื้องอกนั้นสร้างฮอร์โมนมากเกินหรือไม่ ได้แก่ ภาวะฮอร์โมนการเจริญเติบโตเกินภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ และภาวะฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตเกิน (โรค cushing) ซึ่งพบได้น้อย แต่ที่พบบ่อยในภาวะเนื้องอกสร้างฮอร์โมนเกินที่สำคัญ คือถ้าเนื้องอกสร้างฮอร์โมนโปรแลคตินเกิน จะเป็นเนื้องอกเพียงชนิดเดียวที่ถ้าก้อนขนาดไม่ใหญ่มาก สามารถทำให้ยุบลงโดยการรับประทานยา โดยไม่ต้องผ่าตัด ส่วนภาวะฮอร์โมนขาดจากก้อนกดทับ ได้แก่ ภาวะฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตบกพร่อง, ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำซึ่งจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนทดแทนก่อนผ่าตัด, ฮอร์โมนเพศบกพร่องและฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหลังบกพร่อง ทำให้เกิดโรคเบาจืด แพทย์ต่อมไร้ท่อยังมีหน้าที่ให้ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตในช่วงผ่าตัดเพื่อป้องกันภาวะพร่องฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต ระหว่างผ่าตัดและหลังผ่าตัด มีหน้าที่ติดตามสารน้ำและเกลือแร่หลังผ่าตัด และประเมินฮอร์โมนหลังผ่าตัด 5-7 วัน จากนั้นทุก 3-6 เดือน

 

 

เนื้องอกต่อมใต้สมอง อาจกดเส้นประสาทตาทำให้ลานสายตาผิดปกติในตาทั้งสองข้าง ตามัว และอาจกดเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3,4 และ 6 ทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อตาผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการเห็นภาพซ้อน บทบาทของจักษุแพทย์ต่อโรคนี้ ได้แก่ การวินิจฉัย เนื่องจากผู้ป่วยบางรายมาพบแพทย์ด้วยอาการผิดปกติทางตา เช่น ตามัว เห็นภาพซ้อน และตรวจพบลานสายตาผิดปกติทางด้านนอกของตาทั้งสองข้าง และบทบาทในแง่การรักษา เช่น ติดตามผลของการรักษาว่าการกดเบียดของเนื้องอกต่อเส้นประสาทตาและเส้นประสาทสมอง ลดลงหรือไม่ หรือมีการกลับมาเป็นซ้ำของเนื้องอกดังกล่าว โดยอาศัยการตรวจระดับการมองเห็นและลานสายตา

 

 

สำหรับโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง อายุรแพทย์ทางระบบสมองและเส้นประสาท (Neurologist) มีบทบาทสำคัญมากในการให้คำวินิจฉัยที่ถูกต้อง เพราะมีโอกาสที่จะเป็นบุคคลแรกที่ผู้ป่วยมาพบด้วยอาการแสดงต่างๆ ของโรค เช่น ปวดศีรษะ มึนงง กล้ามเนื้ออ่อนแรง วูบจะเป็นลม บางรายที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่มาก อาจจะมาด้วยอาการเสียลานสายตา ประสาทการมองเห็นผิดปกติ หรือปวดศีรษะ เฉียบพลันอาเจียน ตามัว เนื่องจากมีเลือดออกในก้อนเนื้องอก ซึ่งแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียดเพื่อวิเคราะห์ที่มาของอาการว่าน่าจะเป็นจาก สาเหตุใดได้บ้าง จากนั้นจึงส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น เจาะเลือด ดูค่าฮอร์โมนและเกลือแร่ส่งทำสแกนสมอง เป็นต้น เมื่อได้รับคำวินิจฉัยที่ถูกต้องแล้วก็จะทำงานร่วมกันกับ
แพทย์ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มที่ต่อไป

 

 

MRI จะบอกความผิดปกติของต่อมใต้สมองอย่างละเอียด พร้อมทำการบ่งตำแหน่งของเนื้องอกต่อมใต้สมองได้ชัดเจน โดยร่วมกับการฉีดสารเข้าเส้นเลือดดูตำแหน่งและธรรมชาติของเนื้องอก อีกทั้งอวัยวะใกล้สมองและไซนัส เพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างชัดเจนตลอดถึงการติดตามผลการรักษาของเนื้องอกต่อมใต้สมองและรวมทั้งวางแผนการผ่าตัดอีกด้วย

 

 

สำหรับบทบาทของหมอหัวใจ ในการเตรียมตัวผู้ป่วยสำหรับการผ่าตัดสมองก็ถือว่าเป็นการผ่าตัดระดับกลางๆ ไม่ใช่ผ่าตัดใหญ่มากเหมือนการผ่าตัดของหัวใจ ยิ่งเทคโนโลยีดีขึ้นการผ่าตัดต่อมใต้สมองผ่านทางโพรงจมูก โดยการส่องกล้องผ่านทางโพรงจมูกแทนการเปิดกระโหลกผ่าตัด ก็จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่อหัวใจไปเยอะเลยค่ะ หน้าที่ของหมอก็คือทำให้การผ่าตัดเป็นไปได้อย่างราบรื่น โรคประจำตัวของคนไข้หรือโรคที่แอบซ่อนอยู่หมอก็ต้องเตรียมให้โรคเหล่านี้ สงบไม่กำเริบ ระหว่างการผ่าตัด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ต้องอาศัยการประเมินผู้ป่วยเป็นรายเคส บางเคสต้องกินยาก่อน บางเคสต้องผ่าในเวลาที่เหมาะ ก็ต้องมาจัดตารางปรึกษากับทีมอาจารย์หมอผ่าตัดเพื่อให้ผลลัพธ์ดีที่สุด

 

 

พยาธิแพทย์มีหน้าที่ให้คำวินิจฉัยโรคภายใต้กล้องจุลทรรศน์ (microscope) เพื่อจำแนกชนิดของเนื้องอกต่อมใต้สมอง (diagnosis) รวมถึงการพยากรณ์โรค (prognosis) ตลอดจนร่วมในการวางแผนการรักษา เพื่อให้การรักษาที่ดีที่สุดแก่ผู้ป่วย

 

 

เนื้องอกต่อมใต้สมอง แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ 1. ชนิดที่ฮอร์โมนปกติ 2. ชนิดที่ฮอร์โมนผิดปกติ ซึ่งชนิดที่ 2 นี้อาจจำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วยเพื่อช่วยลดอาการที่เกิดจากการผิดปกติของระดับฮอร์โมนนอกเหนือจากการผ่าตัดและการฉายรังสี การใช้รังสีรักษาในโรคนี้ พิจารณาใช้เป็นการรักษาเสริมภายหลังการผ่าตัดในรายที่มีการกลับเป็นซ้ำของโรค หรือมีระดับฮอร์โมนผิดปกติ โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการกำเริบของโรคและช่วยเพิ่มการควบคุม ระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ โดยทั่วไปการฉายรังสีจะใช้เวลาประมาณ 5-6 สัปดาห์ (25-30 ครั้ง) ปัจจุบันมีเทคนิคการฉายรังสีใหม่ ได้แก่ รังสีร่วมพิกัดหรือรังสีศัลยกรรมที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการรักษาโดยลดจำนวนครั้งของการฉายรังสีลงเหลือเพียง1-5 ครั้ง โดยจะเหมาะกับรอยโรคที่มีขนาดเล็กและอยู่ห่างจากเส้นประสาทตาหรือการใช้รังสีโปรตอนที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อเส้นประสาทตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือมีการฉายรังสีซ้ำ

 

 

ตัวอย่างผลงานความสำเร็จของศูนย์ผ่าตัดส่องกล้องเนื้องอกต่อมใต้สมองผ่านทางโพรงจมูก โรงพยาบาลรามคำแหง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพตัวอย่างเคสผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดส่องกล้องเนื้องอกต่อมใต้สมองผ่านทางโพรงจมูก โดย นพ.นภสินธุ์ เถกิงเดช และ นพ.ภูริปัณย์ อร่ามวัฒนพงศ์

 

 

ความประทับใจของผู้ที่เข้ารับการรักษาเนื้องอกต่อมใต้สมอง กับศูนย์ผ่าตัดส่องกล้องเนื้องอกต่อมใต้สมองผ่านทางโพรงจมูก โรงพยาบาลรามคำแหง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อ่านข้อมูลของโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองเพิ่มเติม คลิก >> : เนื้องอกต่อมใต้สมอง เนื้องอกที่เกิดตรงส่วนเล็กๆ ของสมอง แต่กลับต้องใช้แพทย์ทีมใหญ่ในการรักษา

 

 

 

 

 

 

แก้ไข
19/05/2565