แพ้อาหาร (Food allergy) มีผลเสีย อันตรายมากกว่าที่คิด

January 25 / 2024

 

แพ้อาหาร (Food allergy) อันตรายกว่าที่คิด

 

 


 

คงจะเซ็ง! ไม่ใช่น้อย ถ้าเรากำลังกินอาหารอยู่อย่างเอร็ดอร่อย จู่ๆ ก็มีอาการ "แพ้อาหาร" ขึ้นมา หลายคนรู้ตัวว่าแพ้อาหารประเภทไหนบ้าง แต่ก็มีหลายคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีอาการแพ้อาหารด้วย และเผลอไปกินอาหารชนิดนั้นจึงทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้นมา

อาการแพ้อาหารถือเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง เป็นความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ไวต่อสิ่งกระตุ้น โดยสารกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ต่างๆ จะเรียกว่า สารก่อภูมิแพ้ และเมื่อร่างกายเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ก็จะหลั่งสารฮิสตามีน (Histamine) ออกมา ทำให้ร่างกายเกิดอาการผิดปกติต่างๆ ตามระบบในร่างกาย เช่น อาการคัน ไอ มีเสมหะ หายใจไม่สะดวก ลมพิษ เป็นต้น

 

ในส่วนของอาการแพ้อาหารจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ โดยเมื่อทานอาหารที่มีสารก่อภูมิแพ้แฝงอยู่ ก็จะเกิดอาการแพ้อาหารขึ้นมาได้ และอาหารที่มักพบว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่ อาหารทะเล (ปลา​ กุ้ง หอย ปู ปลาหมึก ฯลฯ) ไข่ นม ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วตระกูล Tree Nuts เช่น อัลมอนด์ วอลนัท มะม่วงหิมพานต์ แมคคาเดเมีย พิสตาชิโอ ฯลฯ แป้งสาลีและกลูเตน

 

 

 

ซึ่งการแพ้อาหารส่วนใหญ่จะเกิดในผู้ที่มีประวัติของการแพ้ ไม่ว่าจะเป็นแพ้อากาศ แพ้ฝุ่นละออง หรือเป็นหอบ​ หืด ก็จะทำให้เกิดอาการแพ้อาหารได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย โดยอาการแพ้อาหารนั้นแบ่งออกเป็น

  • ชนิดไม่เฉียบพลัน อาการจะค่อยๆ เกิดขึ้นหลังจากทานอาหารเข้าไปแล้ว หลายชั่วโมงหรืออาจเป็นวัน เช่น เป็นผื่นโดยจะมีผื่นแดง คัน ในเด็กมักจะเป็นบริเวณที่แก้มหรือข้อพับ ถ้าเป็นอาการที่ระบบทางเดินอาหาร เมื่อทานอาหารที่แพ้อาจถ่ายเป็นมูกเลือด อาเจียน และถ่ายเหลว
  • ชนิดเฉียบพลัน อาการจะเกิดขึ้นภายใน 30 นาที-1 ชั่วโมง หลังจากทานอาหารเข้าไปและมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้รุนแรงได้  เช่น มีอาการตาบวม ปากบวม ผื่นลมพิษ หลอดลมตีบ ไอ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดท้อง อาเจียน
  • ชนิดรุนแรง เป็นอาการแพ้ในระดับรุนแรงที่สุดและเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยอาการอาจเกิดขึ้นทันทีที่ทานอาหารที่แพ้เข้าไป อาการที่เกิดขึ้นได้แก่ ผื่นแดงตามผิวหนัง ลมพิษ คัน ผิวหนังแดงหรือซีด เวียนศีรษะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องเสีย

 

 

 

จะเห็นว่าอาการแพ้อาหารสามารถเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่เป็นผื่นตามตัว ท้องเสีย หายใจลำบาก ไปจนถึงขั้นเสียชีวิต โดยจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน

 

ซึ่งการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้นั้นต้องอาศัยทั้งประวัติการเจ็บป่วย ประวัติครอบครัว และการตรวจร่างกายมาประกอบกันเพื่อวินิจฉัยได้ตรงโรคที่สุด ทั้งยังช่วยแยกโรคที่อาจไม่ได้เกิดจากภูมิแพ้แต่เป็นโรคทางกายอื่นๆ ได้อีกด้วย รวมถึงผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ และการทดสอบพิเศษสำหรับโรคภูมิแพ้โดยตรง เช่น

  • ตรวจภูมิแพ้ ด้วยวิธีการทดสอบทางผิวหนัง มีหลายวิธี เช่น การสะกิดผิวหนัง การฉีดยาเข้าในชั้นผิวหนัง การแปะสารก่อภูมิแพ้ที่ผิวหนัง
  • การเจาะเลือดเพื่อหาสารก่อภูมิแพ้ ชนิด Immunoglobulin E (IgE)
  • การทดสอบกับสารก่อภูมิแพ้โดยตรง เช่น ผู้ที่เกิดอาการแพ้หลังทานอาหาร โดยให้ทานอาหารที่คิดว่าแพ้ทีละน้อยอย่างเป็นขั้นตอนซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการวินิจฉัย

อย่างไรก็ตาม การทดสอบทางผิวหนังแบบสะกิด (Skin prick Test) เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ได้ผลรวดเร็ว แม่นยำ และเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีอื่นๆ

 

 

 

การแพ้อาหารอาจเกิดจากพันธุกรรมแต่กำเนิดหรือเพิ่งเกิดขึ้นตอนโตก็เป็นได้ ซึ่งการทดสอบการแพ้อาหารอย่างถูกวิธีกับแพทย์เฉพาะทางจะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่แพ้ได้อย่างถูกต้อง ป้องกันไม่ให้เกิดการแพ้รุนแรง หรือใครที่ทานอาหารแล้วมีอาการแพ้ ไม่แนะนำให้ซื้อยาแก้แพ้มาทานเอง เพราะอาจทำให้ร่างกายแพ้รุนแรงกว่าเดิมได้ ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางดีที่สุด

 

 

แก้ไข

9/5/2565