s Heat stroke โรคลมแดด อันตรายถึงชีวิต - โรงพยาบาลรามคำแหง

Heat stroke โรคลมแดด อันตรายถึงชีวิต - โรงพยาบาลรามคำแหง

December 14 / 2023

 

 

Heat stroke โรคลมแดด อันตรายถึงชีวิต

 

 

โรคลมแดด (Heatstroke) คือ ภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกินไป เกิดจากการสัมผัสกับอากาศที่ร้อนจัดหรือการออกกำลังกายเป็นเวลานานโดยที่ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ตามปกติ โดยอาการอาจเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิเพิ่มสูงถึง 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป เมื่อเกิดอาการควรได้รับการรักษาในทันที เพราะอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ หากได้รับการรักษาล่าช้าอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้

 

 

 

สาเหตุของโรคลมแดด

 

สาเหตุที่สำคัญของโรคลมแดด แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

 

  • การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง เมื่อต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงหรืออยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นและไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ตามปกติ เช่น เมื่อต้องอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อน และชื้นเป็นเวลา 2 หรือ 3 วันติดต่อกัน มักจะเกิดขึ้นบ่อยกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง
  • การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังมาก เมื่อออกกำลังกายหรือทำกิจรรมที่ใช้กำลังมาก โดยเฉพาะเมื่อทำกิจกรรมในสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัดมักเป็นเหตุทำให้เกิดโรคลมแดดได้ อย่างไรก็ตาม โรคลมแดดประเภทนี้อาจเกิดขึ้นได้แม้ไม่ได้อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อน

 

 

อาการของโรคลมแดด

 

อาการของโรคลมแดดเกิดขึ้นได้ในทันทีโดยที่ไม่มีสัญญาณเตือน และอาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันออกไปแต่ละบุคคล โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่

 

  • อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นถึง 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป 
  • ผิวหนังแดง เนื่องจากอุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูง
  • วิงเวียนศีรษะ มึนงง หน้ามืด หรือเป็นลมหมดสติ
  • หายใจถี่และตื้น หัวใจเต้นเร็ว
  • มีอาการปวดศีรษะตุบๆ คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีอาการชัก
  • เป็นตะคริวหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง

 

 

 

 

การรักษาโรคลมแดด

 

การรักษาเบื้องต้นสามารถทำได้ด้วยการลดอุณหภูมิร่างกาย โดยพาผู้ป่วยเข้ามาในร่มหรือในที่ที่มีเครื่องปรับอากาศและมีอุณหภูมิที่เย็น ถอดเสื้อผ้าและคลายเครื่องแต่งกายที่รัดแน่นเกินไป และอาจเช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำเย็น ใช้ถุงน้ำแข็งวางบริเวณศีรษะ ลำคอ รักแร้ และขาหนีบ ใช้สเปรย์น้ำเย็นพ่น หรือนำผู้ป่วยลงแช่ในอ่างอาบน้ำเย็นในระหว่างที่รอรถพยาบาล ที่สำคัญคือห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เนื่องจากเครื่องดื่มจำพวกนี้จะทำให้ความสามารถในการปรับอุณหภูมิของร่างกายสูญเสียไป และน้ำเย็นจะทำให้เกิดการหดเกร็งของกระเพาะอาหารได้

 

 

การป้องกันโรคลมแดด

 

โรคลมแดดสามารถป้องกันได้ ดังนี้

 

● สวมใส่เสื้อผ้าโปร่ง ระบายลมได้ง่าย หากรู้ว่าต้องไปอยู่ในที่อากาศร้อนหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก

● ป้องกันตัวเองจากแสงแดดด้วยเครื่องแต่งกาย เช่น แว่นกันแดดหรือหมวก และการใช้ครีมกันแดดที่มี SPF มากกว่า 15 ขึ้นไป

● ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน

● ระวังเรื่องยาและปรึกษาแพทย์ว่ายาที่ใช้อยู่มีผลต่อการปรับอุณหภูมิของร่างกายหรือไม่

● พยายามหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักในที่อาการร้อนและถ่ายเทไม่สะดวก ในกรณีที่จำเป็น ให้ใช้เวลาในบริเวณดังกล่าวให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

 

 

 

เมื่อเกิดอาการควรได้รับการรักษาในทันที เพราะโรคอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ หากได้รับการรักษาล่าช้าอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง และอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

พญ.บัณฑิตา พงษ์ตัณฑกุล

อายุรศาสตร์โรคหัวใจ

 

 

แก้ไข

17/03/2565