s บทความสุขภาพโรงพยาบาลรามคำแหง อาหารกับไตรกลีเซอไรด์

บทความสุขภาพโรงพยาบาลรามคำแหง อาหารกับไตรกลีเซอไรด์

February 22 / 2024

 

อาหารกับไตรกลีเซอไรด์

 

 

 

มารู้จักไตรกลีเซอไรด์กันเถอะ

 

ไตรกลีเซอไรด์คือไขมันชนิดหนึ่ง ซึ่งร่างกายได้รับจากอาหารประเภทไขมันโดยตรง หรือ ร่างกายสร้างขึ้นเมื่อรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป โดยพลังงานส่วนเกินจะถูกเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์ และสะสมเป็นเนื้อเยื่อไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย

 

 

การวินิจฉัยโรคไตรกลีเซอไรด์สูง 

 

โดยปกติร่างกายขจัดไตรกลีเซอไรด์ออกจากเลือดเข้าสู่เซลล์ได้อย่างรวดเร็ว ภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังจากการรับประทานอาหาร คนทั่วไปจึงมีระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดประมาณ 50-150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่ถ้าทำการตรวจวัดระดับไตรกลีเซอไรด์หลังจากงดอาหารแล้วไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง 
พบว่ามีค่าสูงกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แสดงว่าร่างกายมีปัญหาในการขจัดไตรกลีเซอไรด์

 

 

ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมีอันตรายอย่างไร 

 

  1. เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง
  2. เกิดปื้นเหลืองที่ผิวหนัง เป็นเม็ดพุพอง หากมีระดับไตรกลีเซอไรด์ ในเลือดมากกว่า1,000 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  3. อาจรุนแรงถึงขั้นตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
  4. ตับโต ม้ามโต

 

 

 

ปัจจัยที่ทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง 

 

  1. รับประทานอาหารที่มีไขมันปริมาณมาก
  2. รับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ทำให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินความต้องการจึงนำไปสร้างเป็นไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น
  3. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในปริมาณมาก
  4. มีน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน
  5. มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต
  6. มีการใช้ยาบางชนิดเช่น ยาคุมกำเนิด ยาฮอร์โมน ยาสเตียรอยด์
  7. พันธุกรรม
  8. ไม่ออกกำลังกาย

 

 

 

การปฏิบัติตัวเพื่อควบคุม ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด

 

  1. หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน หนังสัตว์ อาหารทอด แกงกะทิ ขนมอบหรือเบเกอรี่ ฟาสต์ฟู้ด ขนมทอดกรอบ
  2. ลดปริมาณอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ น้ำอัดลม ขนมหวาน ไอศกรีม  
  3. ควบคุมการรับประทานอาหารประเภทข้าว-แป้ง เช่น ข้าว ขนมปัง เส้นก๋วยเตี๋ยว สาคู เผือก มัน  ข้าวโพด รวมทั้ง ผลไม้รสหวาน เช่น ทุเรียน ขนุน ลำไย เป็นต้น
  4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์
  5. ลดน้ำหนักในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน
  6. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 25-30 นาที 3-5 วัน ต่อสัปดาห์

 

 

ไตรกลีเซอไรด์ที่มากเกินไปจนทำให้ร่างกายอ้วนขึ้น เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดหลอดเลือดหัวใจตีบได้