โรคสุกใส (Chickenpox) โรคติดต่อยอดฮิตวัยเด็ก

December 22 / 2024

โรคอีสุกอีใส

 

 

 

     โรคสุกใสหรือโรคอีสุกอีใส (Chickenpox) เป็นโรคติดต่อที่ทำให้ร่างกายเกิดผื่น มีตุ่มนูนขนาดเล็ก หรือตุ่มน้ำใส ๆ ทั่วร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นได้บ่อยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี แต่สามารถพบในผู้ใหญ่ได้โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ บางกรณีสามารถหายได้เอง แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ หลังจากหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อไวรัสนี้จะไปหลบอยู่ที่ปมประสาทของผู้ป่วย และสามารถทำให้เกิดโรคงูสวัดได้หากผู้ป่วยรายนี้มีภูมิต้านทานลดลง

 

 

อีสุกอีใส

 

 

สาเหตุของโรคสุกใส

     โรคสุกใสเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า วาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัส หรือเรียกย่อ ๆ ว่า เชื้อวีซีวี (Varicella Zoster Virus: VZV) ที่แพร่กระจายได้ง่ายผ่านทางการสัมผัสกับแผลของผู้ป่วยที่เป็นโรคโดยตรง หรือการหายใจเอาละอองฝอยของน้ำลายน้ำมูกที่มีเชื้อที่ปะปนในอากาศเข้าไป

 

อ่านเพิ่มเติม: โรคงูสวัด ภัยเงียบในผู้สูงอายุ

 

อาการโรคสุกใส

     โรคสุกใสมีระยะฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 10-21 วันหลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัส โดยจะเกิดผื่นที่เริ่มแรกจะขึ้นเป็นตุมแดงต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำ เป็นตุ่มหนองและตกสะเก็ดตามลำดับ โดยผื่นจะขึ้นไม่พร้อมกันทั่วร่างกาย โดยมักเริ่มขึ้นจากที่หน้าไปที่ลำตัวและแขนขา จะแสดงอาการอยู่ประมาณ 5-10 วัน อาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นก่อนการเกิดผื่น ได้แก่ อาการไข้ เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ รู้สึกอ่อนล้าและไม่สบายตัว

 

ระยะของโรคสุกใส

  • ระยะที่ 1 มีตุ่มสีชมพูหรือแดง เริ่มก่อตัวบนผิวหนังและเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาหลายวัน
  • ระยะที่ 2 ตุ่มน้ำจะเกิดขึ้นภายในหนึ่งวันและเริ่มมีการแตก บางที่อาจกลายเป็นตุ่มหนอง
  • ระยะที่ 3 เกิดสะเก็ดแผลที่จะครอบตุ่มน้ำที่เกิดการแตก สะเก็ดเหล่านี้จะใช้เวลาอีกหลายวันกว่าจะดีขึ้น

 

 

 

อีสุกอีใสอีสุกอีใสอีสุกอีใสอีสุกอีใส

 

 

หลังผ่านระยะที่ 3

     หลังจากผู้ป่วยผ่านอาการโรคสุกใสทั้ง 3 ระยะแล้ว ผู้ป่วยจะพบว่าเกิดตุ่มแดงบนผิวหนังเป็นระยะเวลาหลายวัน และในที่สุดผู้ป่วยจะมีอาการของผื่นชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำ และในที่สุดก็จะกลายเป็นสะเก็ดแผล ผู้ป่วยจะเริ่มเข้าสู่ระยะแพร่เชื้อเป็นระยะเวลา 48 ชั่วโมงก่อนเกิดผื่น โดยผู้ป่วยจะยังอยู่ในระยะเวลาแพร่เชื้อจนกว่าจะเกิดสะเก็ดแผลครอบตุ่มน้ำทุกตุ่ม หลังจากนั้นจึงจะพ้นระยะของการแพร่เชื้อ ในผู้ป่วยบางคนอาจพบภาวะแทรกซ้อนของโรคสุกใส เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ภาวะปอดอักเสบ หรือสมองอักเสบ เป็นต้น

 

 

การรักษาและการปฏิบัติตัวผู้ป่วยโรคสุกใส

  • โรคส่วนใหญ่ อาการไม่รุนแรง และหายเองได้
  • แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัส เช่น acyclovir ในผู้ป่วยเด็กที่มีโรคเรื้อรังและผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่เนื่องจากมีแนวโน้มจะเกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
  • ผู้ป่วยควรพักผ่อนและดื่มน้ำมาก ๆ
  • ถ้ามีไข้สูง ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อย ๆ และรับประทานยาพาราเซตามอลบรรเทาไข้
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดไข้กลุ่มแอสไพริน เพราะอาจก่อให้เกิด Reye’s syndrome ซึ่งมีอาการสมองและตับอักเสบรุนแรง
  • ถ้ามีอาการคัน ให้รับประทานยาแก้แพ้และทายาคาลามายด์ (calamine lotion)
  • ใช้น้ำเกลือกลั้วปาก ถ้ามีอาการปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย
  • ตัดเล็บสั้น ไม่แกะเกา และอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด เพื่อป้องกันมิให้ตุ่มกลายเป็นหนองและแผลเป็น

 

 

การป้องกันโรคสุกใส

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยโรคสุกใสโดยตรง
  • ไม่ควรใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วยโรคสุกใส เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ จาน ชาม
  • ควรทำร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ
  • ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคสุกใส
  • เด็กที่ไม่เคยเป็นโรคสุกใสมาก่อนควรได้รับวัคซีนโรคสุกใส 2 เข็ม โดยเข็มแรกเมื่ออายุ 12-15 เดือน เข็มที่สองเมื่ออายุ 4 - 6 ปี (อาจให้เมื่ออายุน้อยกว่านี้ แต่ต้องห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน)
  • ผู้ที่อายุ 13 ปีขึ้นไปที่ไม่เคยเป็นโรคสุกใสมาก่อนควรฉีด 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 28 วัน
  • ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบและไม่เคยเป็นโรคสุกใส ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์

 

อีสุกอีใสอีสุกอีใสอีสุกอีใสอีสุกอีใส

 

 

โรคสุกใสหรือโรคอีสุกอีใส เแพร่กระจายได้ง่ายผ่านทางการสัมผัสกับแผลของผู้ป่วยหรือการหายใจเอาละอองฝอยของน้ำลาย น้ำมูกที่มีเชื้อปะปนในอากาศเข้าไป

 

 

แก้ไข

17/03/2565