'ท้องผูก' เรื่องเก่าที่เล่าบ่อยเมื่อถ่ายไม่ออก ปล่อยไว้อาจเป็นเรื่องใหญ่

October 11 / 2024

 

ท้องผูก ป้องกันได้

 

     ถ่ายแข็ง ถ่ายไม่ออก ปล่อยไม่สุด หากทิ้งไว้นานไม่ขับถ่ายอาจเป็นโรคะท้องผูกเรื้อรัง แต่... รักษาได้ หากเข้าใจอาการและวิธีป้องกันที่ใช้ได้ง่ายในชีวิตประจำวัน นอกจากป่วยเป็นท้องผูกเรื้อรังต้องกินอย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไรให้เป็นอิสระจากโรค โรงพยาบาลรามคำแหงพร้อมพูดคุยกับผู้อ่านเพื่อรับมือได้ทันหากอาการดังกล่าวเกิดกับตัว

 

เข้าใจอาการท้องผูก

     ท้องผูก (Constipation) เป็นอาการถ่ายอุจจาระน้อยกว่าปกติหรือถ่ายอุจจาระไม่ออกเป็นเวลานาน ซึ่งพฤติกรรมและความถี่ในการถ่ายอุจจาระปกติของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน แต่ในทางการแพทย์มักหมายถึงการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์

 

ท้องผูก อาการ

 

อาการท้องผูก 

โดยทั่วไป ตัวอย่างสัญญาณอาการของท้องผูกจะมีดังนี้

  • ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์หรือน้อยกว่าปกติที่เคยเป็น 
  • อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง เป็นเม็ดเล็ก ๆ 
  • รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่ออก หรือถ่ายได้ไม่สุด
  • ถ่ายอุจจาระออกได้ยาก ต้องใช้แรงเบ่งมากหรือใช้มือช่วยล้วง อาจมีอาการเจ็บขณะถ่ายอุจจาระร่วมด้วย
  • ท้องอืด ปวดท้อง หรือปวดเกร็งบริเวณหน้าท้อง

 

ท้องผูก อาการ

 

สาเหตุของอาการท้องผูก

     สาเหตุของอาการท้องผูกมีมากมาย โดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ แบบปฐมภูมิที่มักเกิดจากสรีรวิทยาการขับถ่ายที่เปลี่ยนไป และแบบทุติยภูมิที่มีสาเหตุจากปัจจัยบางอย่าง เช่น

  • ยา ได้แก่ ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ยาแก้ปวดท้องบางชนิด
  • อาหารเสริม เช่น แคลเซียมหรือธาตุเหล็ก เป็นต้น
  • โรคทางต่อมไร้ท่อ ได้แก่ โรคไทรอยด์ต่ำ เป็นต้น
  • โรคทางระบบทางเดินอาหาร เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่

 

ท้องผูก อาการ

 

หากปล่อยไว้เรื้อรัง

  • ริดสีดวงทวาร เกิดจากการเบ่งอุจจาระแรง ๆ เป็นเวลานาน 
  • ทวารหนักปริแตก เกิดจากอุจจาระที่แข็งกระแทก 
  • ลำไส้ใหญ่อักเสบ เกิดจากการที่อุจจาระตกค้างในลำไส้เป็นเวลานาน 
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ ในบางราย อาการท้องผูกอาจเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ใหญ่

 

วิธีรักษาท้องผูก

เมื่อได้รับผลการตรวจวินิจฉัยว่ามีอาการท้องผูก แพทย์เฉพาะทางจะรักษาตามอาการด้วยด้วยหลากวิธี ได้แก่

  • การปรับพฤติกรรม ได้แก่ ขับถ่ายอุจจาระเมื่อรู้สึกอยากถ่ายครั้งแรก อย่ารอจนสัญญาณการขับถ่ายอ่อนลง นั่งขับถ่ายในท่านั่งที่เหมาะสม รับประทานผักผลไม้ที่มีกากใย ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ ดื่มน้ำในปริมาณที่มากเพียงพอ
  • การรักษาโดยการใช้ยาระบาย ซึ่งมีหลากหลายชนิด ได้แก่ ยาระบายในกลุ่มกระตุ้นให้กล้ามเนื้อลำไส้บีบตัว (Stimulant Laxatives) ยาระบายกลุ่มที่ออกฤทธิ์ดูดซึมน้ำเพื่อให้อุจจาระมีปริมาณน้ำมากขึ้น (Osmotic Laxatives) ไหลกลับเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ ยาเหน็บหรือยาสวนทวาร รวมไปถึงยากลุ่มใหม่ ๆ ในปัจจุบัน เช่น ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวตัวของลำไส้ (Prokinetic Agent) หรือ ยากลุ่มที่กระตุ้นให้มีการหลั่งสารน้ำและเกลือแร่บางตัวเข้าไปในลำไส้ (Secretagouge) ทั้งนี้ควรขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางเป็นสำคัญ ไม่แนะนำให้ซื้อยามารับประทานเอง
  • การผ่าตัดลำไส้ใหญ่ออก มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยท้องผูกจากภาวะที่ลำไส้เคลื่อนไหวช้าและรักษาด้วยการรับประทานยาไม่ได้ผล หรืออาจมีความผิดปกติชัดเจนของกล้ามเนื้อและระบบประสาทของลำไส้ตามดุลยพินิจของแพทย์ชำนาญเฉพาะทาง 

 

ท้องผูก อาการ

 

การป้องกันอาการท้องผูก

  • พฤติกรรมการใช้ชีวิตในประจำวันอย่างเหมาะสม เช่น รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ ผ่อนคลายความเครียด ไม่ควรใช้ยาระบายบ่อยเกินไป
  • พฤติกรรมการขับถ่ายที่ดี เช่น ขับถ่ายให้เป็นเวลาซึ่งควรทำให้เป็นกิจวัตร ไม่อั้นอุดจาระเมื่อรู้สึกต้องการขับถ่าย ไม่นั่งถ่ายอุจจาระนานเกินไป วิธีเหล่านี้จะช่วยป้องกันท้องผูกได้อย่างดี

 

ท้องผูก อาการ

 

 

ปัญหาท้องผูก ไม่ใช่เรื่องที่ควรละเลยหรือนิ่งนอนใจ หากปล่อยไว้ให้เรื้อรังอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างริดสีดวงทวาร รวมไปถึงอาการแสดงเริ่มต้นของโรคและปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมา

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

นพ.ดนัย ลิ้มมธุรสกุล

อายุรแพทย์ทางเดินอาหาร

 

 

แก้ไข

10/03/65