ใช้ท่าเดิมซ้ำๆ เสี่ยงเกิดนิ้วล็อค

February 23 / 2024

 

 

ใช้ท่าเดิมซ้ำๆ เสี่ยงเกิดนิ้วล็อค

 

 

นิ้วล็อค (Trigger Finger) การที่นิ้วมือเกิดอาการปวดขยับนิ้วลำบาก มีเสียงดังกึกกักจนถึงนิ้วค้าง งอเหยียดไม่ออก ทำให้เกิดความเจ็บปวด ทรมาน และรบกวนชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก

 

 

โรคนิ้วล็อคเกิดจากอะไร

 

นิ้วล็อค เกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นและเยื่อหุ้มเส้นเอ็นบริเวณโคนนิ้วด้านฝ่ามือ ทำให้เส้นเอ็นและเยื่อหุ้มเส้นเอ็นมีการหนาตัวขึ้นเป็นพังผืด ขาดความยืดหยุ่นและเส้นเอ็นเคลื่อนผ่านไม่สะดวก สาเหตุเกิดจากการใช้งานมือซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานๆ เช่น แม่บ้านที่ทำงานบ้าน หิ้วของหนักๆ ช่างทำผม คนสวนที่ใช้งานมือมากๆ คนทำงานหรือคนเล่นเกมส์ที่ใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา

 

 

 

อาการของนิ้วล็อค

 

นิ้วล็อคส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับนิ้วโป้ง นิ้วกลาง หรือนิ้วนาง ทั้งนี้ อาจเกิดขึ้นกับหลายๆ นิ้วได้ในเวลาเดียวกัน หรืออาจเกิดขึ้นได้กับนิ้วมือทั้ง 2 ข้างด้วย อาการนิ้วล็อคมีดังนี้

  1. ปวดโคนนิ้วฝั่งฝ่ามือ
  2. เวลางอเหยียดนิ้วจะมีเสียงดังกึกกัง มีอาการปวดร่วมด้วย
  3. เวลางอนิ้วสุดๆ นิ้วจะเกิดอาการค้าง เหยียดออกเองไม่ได้ต้องใช้มืออีกด้านช่วยเหยียดนิ้วออก
  4. นิ้วค้างตลอด อาจจะอยู่ในท่างอหรือเหยียดก็ได้

 

 

วิธีรักษาอาการนิ้วล็อค

 

วิธีรักษาอาการนิ้วล็อคนั้นมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น ดังนี้

  • พักมือจากการทำกิจกรรมที่ต้องใช้การกำมือแน่นหรือแบกน้ำหนักซ้ำๆ เป็นเวลานาน
  • ประคบร้อนหรือเย็น ผู้ที่มีอาการนิ้วล็อคบางรายอาจใช้วิธีประคบเย็นที่ฝ่ามือ ซึ่งช่วยให้อาการนิ้วล็อคดีขึ้น นอกจากนี้การแช่น้ำอุ่นก็บรรเทาอาการให้ทุเลาลงโดยเฉพาะหากทำในช่วงเช้า
  • ใส่อุปกรณ์สำหรับดามนิ้ว การใส่อุปกรณ์สำหรับดามนิ้ว (Splinting) จะช่วยดามนิ้วให้ตรง ไม่งอหรือเหยียดเกินไป อีกทั้งช่วยให้นิ้วได้พัก
  • ออกกำลังกายยืดเส้น แพทย์อาจแนะนำให้ออกกำลังกายเบาๆ เพื่อช่วยให้นิ้วเคลื่อนที่ได้ปกติ
  • รักษาด้วยยา ใช้ยาทานต้านการอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อบรรเทาอาการปวด แต่ยาดังกล่าวไม่สามารถบรรเทาอาการบวมตรงปลอกหุ้มเอ็นนิ้วได้
  • ที่เกิดอาการนิ้วล็อครุนแรง หรือวิธีรักษาด้วยยาและการบำบัดใช้ไม่ได้ผล อาจต้องได้รับการรักษาด้วยการศัลยกรรมและกระบวนการทางการแพทย์วิธีอื่น เช่น การฉีดสารสเตียรอยด์ ซึ่งช่วยลดอาการบวมอักเสบของเอ็น และช่วยให้เอ็นนิ้วสามารถเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นหรือ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัดเพื่อรักษาอาการนิ้วล็อค โดยไม่ต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล

 

 

 

การป้องกันโรคนิ้วล็อค

 

  • ไม่หิ้วของหนักเช่น ถุงพลาสติก ตะกร้า ถังน้ำ แต่หากจำเป็นควรมีผ้าขนหนูรอง และให้น้ำหนักตกที่ฝ่ามือหรือใช้วิธีอุ้มประคองหรือนำใส่รถลาก
  • ไม่ควรบิดผ้าแรงๆ เพราะจะทำให้ปลอกหุ้มเอ็นบวมซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโรคนิ้วล็อคควรซักผ้าด้วยเครื่อง
  • หลีกเลี่ยงงานที่มีแรงสั่นสะเทือน หรือควบคุมเครื่องจักร เช่น ไขควง กรรไกรตัดกิ่งไม้ เลื่อย ค้อน ควรใส่ถุงมือหรือหุ้มด้ามจับให้นุ่มขึ้น
  • ควรหลีกเลี่ยงการยกของด้วยมือเปล่า และควรใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น รถเข็น รถลาก
  • งานที่ต้องทำต่อเนื่องนานๆ ควรพักมือเป็นระยะ

 

นิ้วล็อคเกิดจากการใช้งานมือซ้ำๆ เป็นเวลานาน ทำให้เส้นเอ็นและเยื่อหุ้มเส้นเอ็นมีการหนาตัวขึ้นเป็นพังผืด ขาดความยืดหยุ่นและเส้นเอ็นเคลื่อนผ่านไม่สะดวก

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

นพ. สิริศักดิ์ บูรณวัฒนาโชค

ศัลยกรรมกระดูกและข้อ

 

 

แก้ไข

03/03/65