นวัตกรรมใหม่ในการรักษาโรคอ้วน และเบาหวาน

February 27 / 2024

 

นวัตกรรมใหม่ในการรักษาโรคอ้วน และเบาหวาน

 

 

 

 

...ปัจจุบันความอ้วนหรือโรคอ้วน ได้ถูกกำหนดให้เป็นโรคอย่างหนึ่งที่ต้องการดูแลและรักษา ทั้งนี้เพราะโรคอ้วนสามารถทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้หลายโรค องค์การอนามัยโลก ได้ให้คำนิยามของโรคอ้วนไว้ว่า เป็นภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเกินปกติ จนเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือเป็นสาเหตุให้เกิดโรคที่ส่งผลต่อสุขภาพเป็นความเจ็บป่วย และอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

 

 

 

โรคอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome)

 

 

 

เป็นชนิดที่พบบ่อย และเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้มากมาย วินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกายและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ต้องตรวจพบอย่างน้อย 3 ใน 5 ข้อ

 

  1. การวัดขนาดรอบเอว บริเวณสะดือในท่ายืนเท้าทั้ง 2 ข้าง ห่างกัน 10 เซนติเมตร ช่วงหายใจออก
    เพศชาย ไม่เกิน 90 เซนติเมตร
    เพศหญิง ไม่เกิน 80 เซนติเมตร
  2. ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ≥ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  3. ระดับไขมัน HDL cholesterol
    < 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในเพศชาย
    < 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในเพศหญิง
  4. ระดับความดันโลหิตมากกว่า ≥ 130/85 มิลลิเมตรปรอท
  5. ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร ≥ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร 

 

 

สาเหตุของโรคอ้วน

 

  • กรรมพันธุ์ บางครอบครัวมีแนวโน้มจะอ้วนกันทั้งหมดอาจจะเกิดจากการเลี้ยงดู, สิ่งแวดล้อม, การใช้ชีวิตร่วมกันแบบเดียวกัน รับประทานอาหารแบบเดียวกัน
  • การรับประทานอาหาร ซึ่งให้พลังงานสูงเป็นประจำโดยเฉพาะแป้งและไขมัน และรับประทานมากเกินความต้องการของร่างกาย
  • ยาบางอย่าง ทำให้ความอยากอาหารมากขึ้น เช่น ยาทางจิตเวช, ยารักษาเบาหวาน, ยา steroid
  • โรคบางอย่าง โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ ได้แก่ ต่อมธัยรอยด์และต่อมหมวกไต
  • สิ่งแวดล้อม ด้านวัฒนธรรมและการใช้ชีวิต ของแต่ละประเทศและเผ่าพันธุ์
  • การดื่มสุรา และสูบบุหรี่
  • ภาวะเครียด บางคนมีความผิดปกติทางจิตใจทำให้รับประทานอาหารมากขึ้น
  • ปัจจุบัน ความก้าวหน้า ทางด้านเทคโนโลยีทำให้คนอายุน้อย มีเครื่องอำนวยความสะดวกมากมายและขาดการเคลื่อนไหวและการออกกำลังกาย

 

 

 

ผลกระทบต่อสุขภาพจากโรคอ้วน ทำให้เกิด

 

  • โรคความดันโลหิตสูง
  • ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ
  • โรคเบาหวาน
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • โรคไตเรื้อรัง
  • โรคมะเร็ง ได้แก่ มะเร็งเยื่อบุมดลูก, รังไข่, มะเร็งเต้านม, มะเร็งลำไส้
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • กรดไหลย้อน
  • โรคข้อเข่าเสื่อม
  • โรคประจำเดือนผิดปกติ

 

 

โรคอ้วนทำให้เกิดโรคเบาหวานได้อย่างไร?

 

มีการศึกษาพบว่า

โรคอ้วนระดับ 1 มีโอกาสเกิดโรคเบาหวานได้มากกว่าระดับปกติ 2 เท่า
โรคอ้วนระดับ 2 มีโอกาสเกิด 5 เท่า
โรคอ้วนระดับ 3 มีโอกาสเกิด 10 เท่า
โรคอ้วน ทำให้เกิดภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน เซลล์ไขมันที่เพิ่มขึ้น ทำให้ตัวรับอินซูลินที่ผนังเซลล์ทำงานไม่ดี กลูโคสจะเข้าเซลล์ได้ไม่ดี ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดก็จะสูงขึ้น

 

 

การรักษาโรคอ้วน

  • การควบคุมน้ำหนักตัว ต้องทำตั้งแต่รู้สึกตัวว่ามีน้ำหนักเกิน เช่น เสื้อผ้าที่ใส่อยู่ประจำเริ่มคับอย่าปล่อยให้อ้วน เพราะจะเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยากมาก
  • ต้องตั้งใจที่จะลดความอ้วนด้วยตัวเอง และมีสำนึกของสุขภาพที่ดี และการมีบุคคลิกภาพที่ดีด้วย
  • เลิกดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลหรือแอลกอฮอล์สูง
  • กินอาหารแต่ละมื้อให้ปริมาณลดลง ค่อยๆ ลดโดยเฉพาะอาหารประเภทแป้งและไขมัน เพิ่มอาหารประเภทเส้นใย เช่น ผักและผลไม้ที่ไม่หวาน , ไม่กินจุกจิก
  • เคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น เช่น ใช้บันไดแทนลิฟต์
  • พยายามออกกำลังกายทุกวันอย่างน้อย 30 นาที
  • ตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูว่ามีโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากความอ้วนหรือยัง เช่น เบาหวาน , ไขมันในเลือดสูง
  • การใช้ยา เพื่อลดน้ำหนักตัว
  • การผ่าตัดเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร

 

 

การรักษาโรคอ้วนด้วยยา

 

  • ยาดักไขมันจากทางเดินอาหาร ได้แก่ ยา Orlistat
  • ยารับประทานเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยยับยั้งการดูดซึมกลับของน้ำตาลที่ไต ทำให้มีการขับน้ำตาลออกทางปัสสาวะ ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และแคลอรี่ที่ร่างกายจะได้รับลดลงด้วย น้ำหนักก็จะลดลงได้บ้าง
  • ยาฉีด เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด (ที่ไม่ใช่อินซูลิน) เป็นยาที่มีโครงสร้างคล้ายกับฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากระบบทางเดินอาหาร ออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการช่วยให้อินซูลินทำงานได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันยาคล้ายฮอร์โมนตัวนี้ก็ออกฤทธิ์ยับยั้งความรู้สึกหิวในสมอง และทำให้รู้สึกอิ่มได้ ฤทธิ์ของยาตัวนี้ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารทำให้กระเพาะอาหารเคลื่อนไหวลดลง ทำให้อาหารอยู่ในกระเพาะได้นานขึ้นและอิ่มอยู่นาน ในคนไข้บางรายอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเบื่ออาหารด้วย

 

 

 

ผลการศึกษาพบว่า ยาคล้ายฮอร์โมนจากระบบทางเดินอาหารสามารถลดอุบัติการณ์ การเกิดโรคหัวใจในคนไข้เบาหวานได้ด้วย ต้องใช้อย่างสม่ำเสมอ

คณะกรรมการอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนด ข้อบ่งชี้ของยาฉีดคล้ายฮอร์โมนจากระบบทางเดินอาหารเพื่อที่จะเป็นยาลดน้ำหนักตัวในคนไข้โรคอ้วนที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

โดยสรุป การรักษาโรคอ้วนและโรคเบาหวาน มีแนวทางเดียวกัน คือการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย ซึ่งเป็นหลักการสำคัญการให้ยาจะเป็นตัวช่วยเสริมในการรักษาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

 

 

ขั้นตอนการใช้ยาฉีดและระยะเวลา

 

ยาคล้ายฮอร์โมนที่หลั่งจากทางเดินอาหาร เริ่มต้นฉีดจากขนาดน้อย 0.6 มิลลิกรัม ประมาณ 1 สัปดาห์ ค่อยๆ เพิ่มเป็น 1.2 , 1.8 , 2.4 อย่างละ 1 สัปดาห์ ขนาดที่ให้สูงสุด 3 มิลลิกรัม ประเมินดูจากน้ำหนักตัวตั้งแต่เดือนแรกที่ฉีดได้ ถ้าน้ำหนักไม่ลดลงมากกว่า 4% ของน้ำหนักตัวเดิม ต้องพิจารณาปัจจัยอื่น เช่น การคุมอาหาร และการออกกำลังกาย

 

การรักษาโรคอ้วนและโรคเบาหวาน มีแนวทางเดียวกัน คือการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย ซึ่งเป็นหลักการสำคัญการให้ยาจะเป็นตัวช่วยเสริมในการรักษาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

 

นัดพบแพทย์คลิก

นพ. พูนศักดิ์ เลาหชวลิต

อายุรศาสตร์ต่อมไร้ท่อ

 

 

แก้ไข

17/02/65