ภาวะเลือดออกผิดปกติในสตรีวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง

February 23 / 2024

 

ภาวะเลือดออกผิดปกติในสตรีวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง

(Postmenopausal bleeding)

 

 

วัยหมดประจำเดือน หรือวัยทอง คือช่วงอายุที่รังไข่หยุดสร้างฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้มีการขาดหายไปของประจำเดือน วินิจฉัยได้จาก อาการขาดประจำเดือนติดต่อกัน 1 ปี หรือตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมนที่บ่งบอกการเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนที่สำคัญ ได้แก่ ระดับ FSH ที่สูงขึ้น และเอสโตรเจนชนิด estradiol (E2) ที่ลดลง วัยหมดประจำเดือนเกิดขึ้นได้ระหว่างอายุ 45-55 ปี เฉลี่ยที่ 51 ปี ดังนั้นสตรีที่มีเลือดออกผิดปกติหลังวัยหมดประจำเดือนจึงควรรีบมาตรวจเพื่อหาสาเหตุ และได้รับการดูแลรักษา อุบัติการณ์ภาวะเลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือนพบได้ประมาณ 4-11 %

 

 

สาเหตุภาวะเลือดออกผิดปกติในสตรีวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง

 

  • ความผิดปกติรูปร่าง (Structural abnormalities) เช่น ภาวะติ่งเนื้อในโพรงมดลูก, ภาวะโพรงมดลูกแห้ง ซึ่งพบได้บ่อยที่สุดประมาณ 60 %, ภาวะเนื้องอกมดลูก (leiomyoma) และภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในกล้ามเนื้อมดลูก (adenomyosis) 
  • ภาวะโพรงมดลูกหนาตัว และมะเร็งโพรงมดลูก (Hyperplasia and carcinoma) พบได้ประมาณ 6-9 %
  • การใช้ยา (Medications) พบได้ในผู้ป่วยที่ได้รับยาฮอร์โมน หรือยาเกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดสมุนไพร และอาหารเสริม
  • สาเหตุอื่นๆ เช่น การอักเสบอวัยวะข้างเคียง เช่น โรคกระเพาะที่ลำไส้ใหญ่ (diverticular) และการติดเชื้อในโพรงมดลูก (endometritis)

 

 

การวินิจฉัยภาวะเลือดออกผิดปกติในสตรีวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง

 

เป้าหมายหลักการรักษาคือ ต้องหาสาเหตุเพื่อแยกโรคมะเร็งออก โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ส่งตรวจอัลตร้าซาวด์และเก็บชิ้นเนื้อโพรงมดลูกส่งตรวจ สตรีที่มีความเสี่ยงมะเร็งโพรงมดลูก เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น โดยพบความชุกของมะเร็งโพรงมดลูก 1.4 % ในสตรี อายุ 50-70 ปี, ได้รับยาฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างเดียว (กรณีมีมดลูก), ได้รับยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) , ประจำเดือนหมดช้าหลังอายุ 55 ปี (late menopause 55), ไม่เคยมีบุตร (nulliparity), ภาวะถุงน้ำรังไข่ (PCOS), ภาวะอ้วน (obesity), โรคเบาหวาน (DM), โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น Lynch syndrome, Cowden syndrome เป็นต้น

 

 

ตัวอย่างวิธีการเก็บชิ้นเนื้อในโพรงมดลูก

 

  • การดูดตัวอย่างชิ้นเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial aspiration) 
  • การขูดมดลูก (Fraction & curettage) 
  • การส่องกล้องโพรงมดลูกวินิจฉัยและตัดชิ้นเนื้อ (Hysteroscopy diagnosis and biopsy)

 

 

 

การรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติในสตรีวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทองขึ้นกับสาเหตุ

 

ภาวะเลือดออกในหญิงวัยหมดระดู วัตถุประสงค์หลัก คือ สามารถแยกภาวะมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกก่อนการเป็นมะเร็งออกไปให้ได้

 

  • กรณีที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งโพรงมดลูก ให้สุ่มตัดชิ้นเนื้อจากโพรงมดลูก และให้การรักษาตามผลชิ้นเนื้อ ถ้าไม่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งโพรงมดลูก ให้ตรวจวัดความหนาเยื่อบุโพรงมดลูกถ้าหนาตั้งแต่ 5 มิลลิเมตรขึ้นไปให้เก็บตรวจเยื่อบุโพรงมดลูกและรักษาตามผลขิ้นเนื้อ แต่ถ้าหนาน้อยกว่า 5 มิลลิเมตรสามารถติดตามอาการอย่างใกล้ชิดได้
  • ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก (Endometrial polyp) : ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งโพรงมดลูกให้รักษาโดยการตัดติ่งเนื้อออก เช่น การขูดมดลูกหรือผ่าตัดผ่านกล้องส่องโพรงมดลูก
  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ (Endometrial hyperplasia) : ถ้ามีเซลล์ผิดปกติเสี่ยงต่อมะเร็งโพรงมดลูกรักษาโดยการผ่าตัดมดลูก ถ้าไม่มีเซลล์ผิดปกติที่เสี่ยงต่อมะเร็งโพรงมดลูกสามารถรักษาด้วยยาหรือใส่ห่วงฮอร์โมนรักษา และติดตามการตองสนองการรักษา ถ้าล้มเหลวจากการรักษาด้วยยาให้พิจารณาการผ่าตัดรักษา แนะนำการรักษาด้วยการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ หากสงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งโพรงมดลูก 
  • ภาวะเลือดออกจากโพรงมดลูกจากการใช้ยาฮอร์โมนทดแทน : กรณีใช้ยามาเกิน 6 เดือนแล้วยังมีเลือดออกให้เก็บเยื่อบุโพรงมดลูกส่งตรวจและรักษาตามผลพยาธิวิทยา
  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกฝ่อ (Atrophic vaginitis) : ให้ติดตามการรักษาหรือให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน
  • มะเร็ง : รักษาตามต้นกำเนิดและระยะโรค

 

ทุกช่วงวัยไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น วัยเจริญพันธุ์และวัยหมดประจำเดือนมีโอกาสที่จะพบเลือดออกผิดปกติได้ เมื่อมีภาวะดังกล่าวควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษา โดยเฉพาะสตรีหลังวัยหมดประจำเดือนต้องหาสาเหตุแยกโรคมะเร็งออกให้ได้

 

 

การขาดหายไปของประจำเดือน วินิจฉัยได้จากอาการขาดประจำเดือนติดต่อกัน 1 ปี หรือตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมน การเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนที่สำคัญ สามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างอายุ 45-55 ปี สตรีที่มีเลือดออกผิดปกติหลังวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง ควรรีบมาตรวจเพื่อหาสาเหตุ และได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

พญ.ศรีสุภา เลาห์ภากรณ์

สูติ - นรีเวช ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งวิทยานรีเวช

และการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

 

 

แก้ไข

29/03/2565