โรคงูสวัด ภัยเงียบในผู้สูงอายุ

November 21 / 2024

งูสวัด

 

 

 

     มีใครรู้ไหม?..ว่า “งูสวัด” เป็นโรคที่พบได้บ่อยขึ้นตามอายุ และอาการปวดรวมถึงภาวะแทรกซ้อนในผู้สูงอายุก็มักจะรุนแรงและมีอาการยาวนานกว่าคนทั่วไปอีกด้วย... 

 

โรคงูสวัด

     งูสวัด คือ โรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับไวรัสที่ก่อให้เกิดอีสุกอีใส พบมากในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ แสดงอาการออกมาในลักษณะของผื่นตุ่มน้ำพองอยู่รวมเป็นกลุ่มตามแนวเส้นประสาท สามารถขึ้นที่ผิวหนังได้ทุกส่วนของร่างกาย แต่จะขึ้นเพียงซีกใดซีกหนึ่งเท่านั้น

 

ความรุนแรงของโรคงูสวัด

     งูสวัดไม่มีอันตรายร้ายแรง และหายเองได้เป็นส่วนใหญ่ แต่บางคนหลังจากแผลหายแล้วอาจมีอาการปวดตามเส้นประสาท หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ สำหรับในรายที่เสียชีวิตเกิดจากร่างกายอยู่ในช่วงอ่อนแอ และขาดภูมิต้านทาน โรคเชื้อไวรัสที่อยู่ในผื่นสามารถติดต่อโดยการสัมผัส สำหรับผู้ที่ไม่เคยเป็นไข้สุกใสมาก่อนก็อาจจะกลายเป็นไข้สุกใสได้ หรือคนที่เป็นไข้สุกใสมาแล้วก็จะมีโอกาสเป็นงูสวัดเพิ่มมากขึ้น

 

งูสวัด

 

โรคงูสวัดเกิดจากอะไร

     โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใส คือ varicella zoster virus (VZV) เชื่อว่าเมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้วเชื้อจะค่อยๆ เคลื่อนตัวตามแนวเส้นประสาทเข้าไปซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกายโดยไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใดๆ แต่เมื่อใดที่ร่างกายมีภูมิต้านทานลดลงไม่ว่าจะจากวัยที่เพิ่มขึ้น หรือจากปัจจัยอื่นๆ เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต โรคที่ทำให้ภูมิต้านทานลดลงอย่างโรคเอชไอวี โรคเอสแอลอี หรือได้รับยากดภูมิต้านทาน เชื้อไวรัสก็สามารถกำเริบและก่อให้เกิดโรคงูสวัดขึ้นมาได้

 

งูสวัด

 

อาการของงูสวัดมี 3 ระยะ

 

  • ระยะแรก จะมีไข้ต่ำ ปวดเมื่อย ปวดแสบปวดร้อนตามร่างกายบริเวณที่กำลังจะมีผื่นขึ้นเพราะเส้นประสาทเกิดการอักเสบ ในระยะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นงูสวัด บางคนจะรู้สึกเสียวแปล๊บตามผิวหนัง หรือปวดศีรษะอย่างมากบางคนคิดว่า ตัวเองเป็นไมเกรน ถ้าเป็นที่เส้นประสาทตา จะปวดตา ตาแดง เห็นแสงจ้าไม่ได้ หากเป็นเส้นประสาทหูอาจจะปวดในรูหู จนกระทั่งมีผื่นออกมาเริ่มเข้าสู่ระยะที่ 2
  • ระยะที่ 2 มีผื่นและเป็นตุ่มแดงขึ้นก่อนและกลายเป็นตุ่มน้ำพองใส
  • ระยะที่ 3 จะมีการเรียงตัวของผื่นตามแนวเส้นประสาท เส้นประสาทที่พบบ่อยจะเป็นบริเวณ ลำตัวข้างใดข้างหนึ่ง บริเวณใบหน้า เป็นต้น และโดยปกติของคนที่มีภูมิคุ้มกันปกติจะเกิดจากโรคตามแนวเส้นประสาทเพียงข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น

 

งูสวัด

 

'ผู้สูงอายุ' เมื่อเป็นยิ่งเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน

     ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคงูสวัดยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง ยิ่งอายุมากยิ่งเป็นรุนแรงและนานขึ้น เช่น อาการปวดตามแนวเส้นประสาทเรื้อรัง มักจะมีอาการปวดลึกๆ ปวดแสบปวดร้อนตลอดเวลา อาจปวดแม้ถูกสัมผัสเพียงเบาๆ หรือหากเกิดขึ้นบริเวณดวงตา ผู้สูงอายุบางท่านอาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงจนอาจทำให้ตาบอดได้ และยิ่งไปกว่านั้นหากเชื้องูสวัดแพร่กระจายออกนอกแนวเส้นประสาท เชื้อไวรัสอาจกระจายเข้าสู่สมองและอวัยวะภายในอื่นๆ เช่น ตับ ปอด หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

 

การดูแลรักษาโรคงูสวัด

     แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาบรรเทาอาการปวด หรือลดไข้ ถ้าตุ่มกลายเป็นหนองเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนก็จะให้ยาปฏิชีวนะ

 

  • สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรืองูสวัดขึ้นที่บริเวณหน้า หรือมีอาการปวดรุนแรงตั้งแต่แรกที่มีผื่นขึ้น แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสภายใน 2 - 3 วัน หลังเกิดอาการ เพื่อลดความรุนแรง และช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น รวมทั้งช่วยลดอาการปวดแสบ ปวดร้อนในภายหลังได้
  • สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นโรคเอดส์ หรือเป็นงูสวัดชนิดแพร่กระจายทั้งตัว แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ รวมถึงต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล
  • สำหรับผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดขึ้นที่ตา ต้องรักษาร่วมกับจักษุแพทย์ ซึ่งจะได้รับยาต้านไวรัสชนิดทาน และหยอดตาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางตา

 

การป้องกันโรคงูสวัด

 

  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสตั้งแต่ก่อนเป็น
  • ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสผื่น และตุ่มโรคของผู้ป่วยงูสวัด โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสหรือไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

 

อ่านเพิ่มเติม:  วัคซีนป้องกันงูสวัด ป้องกันอันตรายที่ซ่อนอยู่ในปมประสาท