s โรคลมพิษ โรคที่มีอาการผื่นคัน เป็นโรคใกล้ตัวที่ไม่ธรรมดา

โรคลมพิษ โรคที่มีอาการผื่นคัน เป็นโรคใกล้ตัวที่ไม่ธรรมดา

January 31 / 2024

 

โรคลมพิษ โรคใกล้ตัวที่ไม่ธรรมดา

 

 

ลมพิษ (Urticaria) คือ ผื่นคันที่เกิดขึ้นบนผิวหนังเป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย โดยพบมากที่สุดในช่วงอายุ 20-40 ปี ลักษณะลมพิษจะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง คันมาก ไม่มีขุย สามารถเกิดขึ้นได้บนทุกส่วนในร่างกาย โดยมากมักเป็นไม่เกิน 24 ชั่วโมงผื่นจะค่อยๆ จางหายไปแล้วขึ้นใหม่ ขึ้นๆยุบๆ บางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นปวดท้อง แน่นจมูก หายใจติดขัด หรือบางรายอาจมีอาการรุนแรงมาก ถึงขั้นเสียชีวิต

 

 

ลมพิษแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ตามระยะเวลาและสาเหตุ คือ

  • ลมพิษชนิดเฉียบพลัน (Acute Urticaria) ลมพิษที่เกิดขึ้นมาและหายไปได้เองอย่างรวดเร็ว โดยส่วนใหญ่อาการจะหายไปเองภายในเวลา 2 สัปดาห์ หรือในรายที่เป็นนานก็จะเป็นติดต่อกันไม่เกิน 6 สัปดาห์

 

  • ลมพิษชนิดเรื้อรัง (Chronic Urticaria) มีอาการลมพิษ เป็นๆหายๆ ต่อเนื่องกันเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไปโดยส่วนใหญ่ลมพิษชนิดเรื้อรังจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาการของลมพิษจะทำให้เกิดความรำคาญหรือความไม่สบายตัว ซึ่งส่งผลต่อการดำรงชีวิตหรือการนอนหลับของผู้เป็นลมพิษได้

 

 

อาการของโรคลมพิษ

 

มีผื่นขึ้นเป็นลักษณะนูนแดง บวม เป็นปื้นจนเห็นขอบเขตได้ชัด มีรูปร่างกลม หรือมีขอบหยักโค้ง บริเวณผื่นจะรู้สึกคัน อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ปวดท้อง อาเจียน และแสบร้อนบริเวณผิวหนังร่วมด้วย

 

 

 

สาเหตุของโรคลมพิษ

 

โรคลมพิษเกิดได้จากหลายสาเหตุโดยเมื่อร่างกายมีปฎิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้ ร่างกายปล่อยสาร "ฮีสตามีน (Histamine)" และสารอื่นๆ เข้าสู่กระแสเลือดเป็นจำนวนมาก ทำให้หลอดเลือดฝอยขยายตัวมีพลาสมาหรือน้ำเลือดซึมออกมาในผิวหนัง จนทำให้เกิดผื่นนูนแดงที่ผิวหนังขึ้น สาเหตุของลมพิษเฉียบพลันและลมพิษเรื้อรังแตกต่างกันโดย

 

  • ลมพิษเฉียบพลัน 50% ของผู้ป่วยเกิดจากการแพ้อาหาร แพ้ยา แมลงสัตว์กัดต่อยและเป็นตามหลังการติดเชื้อติอีก 50% ยังไม่ทราบสาเหตุ

 

  • ลมพิษเรื้อรังสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของผิวหนังของผู้ป่วยมีความไวต่อการถูกกระตุ้นด้วยการเสียดสี การขีดข่วนการกดทับ ความร้อน ความเย็น การออกกำลังกาย แสงแดด ความเครียด อดนอน พักผ่อนไม่เพียงพอ มีอีก 10-20% ที่จะสัมพันธ์กับโรคติดเชื้อ เช่น ฟันผุ ไซนัสอักเสบ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ติดเชื้อพยาธิ และโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง โรคภูมิคุ้มกันทำลายต่อมไทรอยด์

 

 

ทำอย่างไรเมื่อเป็นผื่นลมพิษ

 

  • หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดผื่นลมพิษ ถ้าทราบหรือรักษาสาเหตุที่พบ

 

  • ใช้ยาต้านฮีสตามีนหรือยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ง่วง เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น

 

  • ดูแลผิวไม่ให้ผิวแห้งตึงจนเกินไป หมั่นทาครีมหรือโลชั่นที่ปราศจากน้ำหอม เพื่อลดความไวของผิวหนัง

 

  • อาจใช้โลชั่นเย็นทาบริเวณผื่นลมพิษเพื่อช่วยลดอาการคัน

 

  • ไม่แกะเกาผิวหนังเพราะอาจทำให้เกิดผิวหนังอักเสบได้

 

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

 

  • ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีที่อาการโรคลมพิษไม่หายไปภายใน 24 ชั่วโมง

 

  • ติดต่อแพทย์ทันทีที่อาการเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น

 

  • มีอาการปวดตามข้อ อ่อนเพลีย มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ และมีอาการเจ็บบริเวณผื่นร่วมด้วย

 

  • ลมพิษเฉียบพลันหากมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ปวดท้อง มีอาการหน้าบวม ตาบวม ปากบวม ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดอาการหลอดลมบวม อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

 

  • เมื่อรู้สึกวิตกกังวล ส่งผลต่อสุขภาพจิตและการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก

 

นัดพบแพทย์

นพ.พรชัย โพธินามทอง

แพทย์ผิวหนัง (ตจวิทยา)