โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder)

December 04 / 2024

 

 

 

โรคไบโพลาร์

 

 

 

     โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) เป็นภาวะผิดปกติทางจิตจากอารมณ์ที่แปรปรวนสลับกันระหว่างอารมณ์ดี ก้าวร้าว หรือซึมเศร้าผิดปกติโดยไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ใด บางรายอาจแสดงออกด้วยการอยากทำหลายสิ่งหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ผู้ป่วยอาจมีอาการเพียงด้านเดียว หรือทั้งสองด้านก็ได้ 

 

 

สาเหตุของโรคไบโพลาร์

     แม้โรคไบโพลาร์เกิดได้หลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือมีสารเคมีบางอย่างในสมองผิดปกติไป อาการไบโพลาร์จะเกิดได้หากสารสื่อประสาททั้ง 3 ชนิดซึ่งประกอบด้วยอะดรีนาลีน เซโรโทนินและโดปามีนอยู่ในระดับที่ไม่สมดุล เมื่อเกิดโรคจึงส่งผลให้ภาวะอารมณ์ของผู้ป่วยไม่คงที่ 

 

ปัจจัยอื่นที่ส่งผลให้เกิดโรคไบโพลาร์

  • พันธุกรรม หากมีญาติเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางอารมณ์ก็มีโอกาสเป็นโรคได้มาก
  • อุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วยทางกาย
  • การกระทบกระเทือนทางจิตใจ เช่น ความผิดหวัง ความเสียใจอย่างรุนแรงหรือฉับพลัน เป็นต้น

 

อาการของโรคไบโพลาร์

ผู้ป่วยมักเบื่อหน่าย ท้อแท้ ไม่อยากทำอะไรอ่อนเพลีย มองทุกอย่างในแง่ลบ บางรายมีความคิดอยากจบชีวิตตัวเอง กรณีที่อยู่ในช่วงอารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ ผู้ป่วยมักมีอาการดังต่อไปนี้

 

  • รู้สึกว่าตนสำคัญหรือมีความสามารถมาก
  • นอนน้อยกว่าปกติมาก โดยไม่มีอาการเพลียหรือต้องการนอนเพิ่ม
  • พูดเร็ว พูดมาก พูดไม่ยอมหยุด
  • ความคิดแล่นเร็ว มีหลายความคิดเข้ามาในสมอง
  • สมาธิลดลง เปลี่ยนความสนใจ เปลี่ยนเรื่องพูดหรือทำอย่างรวดเร็ว ตอบสนองต่อสิ่งเร้าง่าย
  • มีกิจกรรมมากผิดปกติ อาจเป็นแผนการหรือลงมือกระทำจริงแต่มักทำได้ไม่ดี
  • การขาดการยับยั้งชั่งใจ เช่น ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย ทำเรื่องที่เสี่ยงอันตรายหรือผิดกฎหมาย แสดงออกในเรื่องเพศมากเกินปรกติ

 

 

โรคไบโพล่า

 

 

การรักษาไบโพลาร์

     จิตแพทย์สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาทางจิตเวชเพื่อปรับการทำงานของสารสื่อประสาท หลังจากนั้นจิตแพทย์ร่วมกับพยาบาลและนักจิตวิทยาคลินิกให้คำแนะนำเรื่องโรคและการดูแลตนเองควบคู่กัน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากอาการและกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิมใน 2-8 สัปดาห์ 

 

'ไบโพลาร์' สามารถกลับมาเป็นอีกได้

     แม้โรคไบโพลาร์จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมโรคไม่ให้รุนแรง โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดและประเภทของยาตามอาการ และที่สำคัญที่สุดคือ ความเข้าใจของคนใกล้ชิดและครอบครัวจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติอย่างมีความสุขได้

 


สำหรับผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจแนะนำทำจิตบำบัดร่วมเพื่อควบคุมความคิดและการแสดงออกให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเป็นสุข


 

 

 

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคไบโพลาร์

แม้ไม่มีวิธีป้องกันโรคไบโพลาร์อย่างเจาะจง ทว่าเราสามารถลดอาการรุนแรงของโรคและภาวะแทรกซ้อนอื่นได้ ดังนี้

 

  • ดูแลร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง
  • หลีกเลี่ยงความเครียด ทำความเข้าใจกับปัญหาต่าง ๆ
  • หากพบว่าป่วย ควรเข้ารับการรักษา ปฏิบัติตัวและทานยาตามคำแนะนำของแพทย์
  • ปรึกษาแพทย์ทันที หากพบความผิดปกติจากการใช้ยา
  • ไม่หยุดยาเองเด็ดขาด รวมถึงพบแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัด

 

 

 

โรคไบโพล่า

 

ข้อควรระวังโรคไบโพลาร์

     ปัญหาที่พบบ่อยคือ ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย เมื่ออาการดีขึ้นก็มักจะหยุดยาเอาเองทันที เพราะคิดว่าหายแล้วสามารถทำงานได้ปกติ และไม่รู้สึกว่าตนเองผิดปกติแต่อย่างใด ซึ่งมักเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบขึ้นได้อย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นขั้วซึมเศร้าหรือขั้วคึกคัก (Mania) เมื่อเริ่มรับประทานยาใหม่ในแต่ละครั้งก็มักใช้เวลานานกว่าอาการจะกลับสู่ภาวะปกติได้