บทความสุขภาพโรงพยาบาลรามคำแหง มะเร็งปอด (Lung cancer)

February 22 / 2024

 

 

มะเร็งปอด

 

มะเร็งปอด (Lung cancer) เป็นภาวะที่ทำให้เซลล์แบ่งตัวในปอดอย่างไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งนี้ทำให้เกิดการเติบโตของเนื้องอกที่ส่งผลต่อการหายใจ การวินิจฉัยและตรวจพบความผิดปกติในเบื้องต้น สามารถช่วยให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้ในระยะแรกของมะเร็งปอดตรวจพบได้ค่อนข้างยาก เพราะผู้ป่วยอาจมีอาการคล้ายกับการติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือในผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการใดๆ เลย

 

มะเร็งปอดเกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งจะตรวจพบได้เมื่อมีขนาดใหญ่ มีจำนวนมาก และแพร่ไปตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย มะเร็งปอดจะทำลายชีวิตของผู้ป่วยได้รวดเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง
มะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก, มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก

 

 

 

มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer) พบได้ประมาณ 10-15% เซลล์จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว การรักษาจะไม่ใช้วิธีการผ่าตัด ส่วนมากรักษาด้วยการใช้ยาหรือฉายรังสี

 

มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (non-small cell lung cancer) พบได้บ่อยกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (พบได้ประมาณ 85-90%) แต่แพร่กระจายได้ช้ากว่าและสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัดหากพบตั้งแต่เนิ่นๆ

 

อาการของมะเร็งปอด

 

คนที่เป็นมะเร็งปอดระยะแรกอาจไม่แสดงอาการจนกว่าจะเริ่มเข้าสู่ระยะที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ แต่ก็ควรสังเกตอาการตัวเองหากมีความผิดปกติของร่างกายที่เปลี่ยนไปดังนี้

 

  • โทนเสียงเปลี่ยนไป เช่น เสียงแหบ

 

  • มีอาการหลอดลมอักเสบหรือปอดบวม

 

  • หายใจถี่ และหายใจดัง หรือเหนื่อยง่าย

 

  • ปวดหัว หรือน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

 

  • ไอเรื้อรัง หรือไอมีเลือดปน

 

  • คลำได้ก้อนผิดปกติ

ในขณะเดียวกันผู้ป่วยมะเร็งปอดบางรายอาจพบอาการรุนแรงมาก ได้แก่ อาการเจ็บหน้าอกหรือปวดกระดูกอย่างรุนแรง หรือไอเป็นเลือด

 

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด ?

 

ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ แต่มีปัจจัยบางประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด เช่น

 

  • บุหรี่ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดมากที่สุด ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10-30 เท่า เนื่องจากสารในบุหรี่สามารถทำลายเซลล์ปอด ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนมวนและจำนวนปีที่สูบบุหรี่

 

  • การได้รับสารพิษและมลภาวะในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ แอสเบสตอส (asbestos) ก๊าซเรดอน (radon) สารหนู รังสี และสารเคมีอื่นๆ รวมถึงฝุ่นและไอระเหยจากนิกเกิล โครเมียม และโลหะอื่นๆ

 

  • อายุ ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี แต่สามารถพบได้ในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี

 

  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด ผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคมะเร็งปอดมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดแม้ไม่ได้สูบบุหรี่ เพราะอาจเกิดจากการในสภาวะแวดล้อมคล้ายกัน และเกี่ยวข้องกับทางพันธุ์กรรม ซึ่งอาจสัมพันธ์กับยีนที่ก่อให้เกิดมะเร็ง

 

 

 

การรักษาโรคมะเร็งปอด

 

การผ่าตัด

  • มีเป้าหมายเพื่อผ่าเอาก้อนมะเร็งที่ปอดและต่อมน้ำเหลืองที่ช่องอกออกให้หมด ซึ่งบางครั้งก้อนเนื้อนั้นอาจไม่ใช่เซลล์มะเร็งทั้งหมดก็ได้
  • โดยทั่วไปไม่ใช้ในการรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กซึ่งมักมีการแพร่กระจายตัวของเซลล์มะเร็งอย่างรวดเร็ว
  • วิธีนี้ใช้ในการรักษามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ในระยะที่ 1, 2 และ 3A

 

 

การฉายรังสี (radiotherapy)

  • เป็นการใช้พลังงานรังสีที่มีความเข้มข้นฉายไปยังตำแหน่งของเซลล์มะเร็งเพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้น มักใช้ในระยะที่ 3
  • วิธีนี้ใช้ไม่ได้ผลกับระยะมะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ แต่อาจใช้เฉพาะจุดเพื่อควบคุมการลุกลาม หรือบรรเทาอาการปวด
  • การฉายรังสีใช้เวลาไม่นานและไม่ทำให้เจ็บปวด แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น กลืนลำบาก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสี ,ผมร่วงในบางรายที่ฉายบริเวณสมอง

 

การใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) 

  • เพื่อให้ภูมิคุ้มกัน ระบบการทำงานของภูมิคุ้มกัน การตรวจจับและการทำลายเซลล์มะเร็งมีประสิทธิภาพ

 

การให้ยาเคมีบำบัด (chemotherapy) 

  • เป็นการใช้ยากำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่มีอยู่ทั่วร่างกาย โดยทั่วไปยาเคมีบำบัดที่ใช้กับมะเร็งปอดเป็นรูปแบบยาฉีดเข้าเส้นเลือด

 

การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง (targeted therapy) 

  • เป็นการรักษาโดยการใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติ ให้ประสิทธิผลในการรักษาและไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงเหมือนเช่น  ยาเคมีบำบัด

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

พญ.คิ ฤกษ์ชูชิต

อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา