โรคพาร์กินสัน อาการ สาเหตุ และวิธีสังเกต คนใกล้ตัว

January 08 / 2024

 

 

 

โรคพาร์กินสัน อาการ สาเหตุ และ วิธีสังเกต พร้อมตารางเปรียบเทียบความแตกต่างของอาการและอาการแสดง ระหว่างโรคพาร์กินสัน VS โรคการคั่งของน้ำในโพรงสมองชนิดความดันปกติ

 

 

  

 

นัดพบแพทย์คลิก

ผศ.นพ.ปรัชญา ศรีวานิชภูมิ

ประสาทวิทยา

 

 

ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2564 นั้นประชากรผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 9 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 13 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ และยังมีแนวโน้มที่ตัวเลขประชากรกลุ่มดังกล่าวจะขยายขนาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โรคพาร์กินสันและโรคการคั่งของน้ำในโพรงสมองชนิดความดันปกติเป็นความผิดปกติทางระบบประสาทที่พบได้ในผู้สูงอายุและความชุกของโรคดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น ฉะนั้นในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักความเหมือนและความต่างของอาการและอาการแสดงของโรคทั้ง 2 โรค รวมถึงแนวทางการรักษาอาการของโรคดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลแก่ผู้ป่วย และผู้ดูแลเพื่อที่จะได้นำไปเข้าสู่กระบวนการตรวจและรักษาอาการแต่เนิ่นๆ

 

 

 

โรคพาร์กินสันคืออะไร?

 

โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) เป็นโรคของความเสื่อมที่เกิดขึ้นในระบบประสาท โดยเกิดขึ้นกับเซลล์ประสาทที่ผลิตสารสื่อประสาทโดปามีน (Dopamine) ที่อยู่บริเวณก้านสมองส่วนบน (Midbrain) ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมักจะแสดงออกด้วยอาการของการเคลื่อนไหวผิดปกติเป็นอาการหลัก ซึ่งจะต่างกับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ที่ผู้ป่วยมักจะแสดงออกด้วยอาการความจำหลงลืมเป็นอาการหลักปัจจุบันยังไม่พบปัจจัยหลักปัจจัยเดี่ยวที่ทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการศึกษาพบว่า

 

การมีประวัติสัมผัสสารเคมีในภาคอุตสาหกรรม หรือ สารเคมีในภาคเกษตรกรรม เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าวัชพืช ประวัติการใช้สารเสพติด เช่น เฮโรอีน หรือ แอมเฟตามีน การถูกกระทบกระแทกบริเวณศีรษะซ้ำเป็นเวลานาน หรือ การมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคพาร์กินสันในหลายๆรุ่น อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะเพิ่มโอกาสการเป็นโรคพาร์กินสันได้ ความชุกของโรคพาร์กินสันพบได้ประมาณร้อยละ 1 ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และความชุกจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 4 ในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป

 

 

 

 

ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะมีอาการและอาการแสดงอย่างไร?

 

อาการของโรคพาร์กินสันนั้นแบ่งออกเป็น

  • อาการความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว (Motor symptoms) 
  • อาการความผิดปกติที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว (Non-motor symptoms)

 

 

อาการความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว

 

จะประกอบไปด้วย 4 อาการหลักๆ ได้แก่

  1. อาการสั่น (Tremor) สามารถเป็นที่มือ, ขา หรือ คางและมักจะเกิดขึ้นในขณะพักไม่ได้ใช้งานแขนขาด้านนั้นๆ
  2. อาการกล้ามเนื้อฝืดเกร็ง (Rigidity) โดยทั่วไปมักจะถูกตรวจพบโดยแพทย์ พบได้ที่บริเวณแขน ขา คอ หรือ ลำตัว
  3. อาการเคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia) ผู้ป่วยจะมีการเคลื่อนไหวที่ช้าและความกว้างของการเคลื่อนไหวจะค่อยๆ ลดลงเมื่อทำการเคลื่อนไหวนั้นซ้ำๆ เช่น การกำแบมือทำได้ช้าและเมื่อทำซ้ำๆ พบว่าจะแบมือได้กว้างน้อยลงกว่าเดิมเป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจจะมาพบแพทย์ด้วยว่าขณะเดินแกว่งแขนได้ลดลงอาการสั่น, กล้ามเนื้อฝืดเกร็ง และการเคลื่อนไหวช้านั้น ในช่วงแรกของโรคอาการดังกล่าวมักจะแสดงออกที่ร่างกายข้างใดข้างหนึ่งก่อน จากนั้นเมื่อการดำเนินโรคเป็นมากขึ้น อาการดังกล่าวจะกระจายข้ามไปยังร่างกายข้างตรงข้าม แต่จะยังคงมีความรุนแรงของอาการไม่เท่ากันโดยข้างที่เป็นจุดเริ่มต้นของอาการมักจะยังคงมีความรุนแรงที่มากกว่าข้างที่เป็นตามมาทีหลัง
  4. การทรงตัวที่ไม่มั่นคง (Postural instability) ผู้ป่วยจะล้มง่ายกว่าปกติและมักพบว่าลำตัวและศีรษะจะค้อมไปด้านหน้านอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจจะแสดงอาการอื่นๆ ดังต่อไปนี้ เช่นเขียนหนังสือตัวเล็กลง, เดินเท้าชิดก้าวสั้นๆ และซอยเท้าถี่ๆ, เดินศีรษะพุ่งไปด้านหน้าสีหน้านิ่งเฉยไม่แสดงอารมณ์ หรือ พูดรัวๆ และเสียงเบา เป็นต้น

 

 

 

 

อาการความผิดปกติที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว 

สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติทางการเคลื่อนไหว หรือ ในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นแล้วก็ได้ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มอาการใหญ่ ได้แก่

 

  1. ปัญหาด้านการนอน (Sleep disorders) ได้แก่ นอนกรน, นอนไม่หลับในช่วงกลางคืน, ง่วงนอนตอนกลางวัน หรือ นอนละเมอออกเสียงหรือท่าทาง เช่น ชกต่อย เตะถีบ ในช่วงที่ฝัน ซึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ
     
  2. ปัญหาด้านระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic dysfunctions) ได้แก่ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่, ปัสสาวะลำบาก ท้องผูก อวัยวะเพศไม่แข็งตัวในผู้ชาย มีอาการหน้ามืดหรือเป็นลมเนื่องจากความดันต่ำเมื่อมีการเปลี่ยนท่าทาง เช่น จากท่านอนเป็นท่านั่ง หรือ ยืน เป็นต้น
     
  3. ปัญหาด้านอารมณ์, พฤติกรรม และความจำ (Mood-behavior-cognitive impairments) ได้แก่ อารมณ์ซึมเศร้า วิตกกังวล ซึ่งพบได้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของโรค ส่วนความจำหลงลืม หรือ ความบกพร่องในการคิดการตัดสินใจนั้นมักจะพบในช่วงท้ายๆของโรค เป็นต้น
     
  4. ปัญหาเรื่องการได้กลิ่นที่ลดลง หรือ ไม่ได้กลิ่น (Hyposmia/Anosmia) ซึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ
  5. ปัญหาเรื่องอาการปวด ชา หรือ เมื่อยล้า กล้ามเนื้อแขนขา ซึ่งอาจจะเกิดได้ทั้งช่วงที่ยารักษาอาการโรคพาร์กินสันหมดฤทธิ์ หรือ ช่วงยาออกฤทธิ์

 

 

 

แนวทางการรักษาโรคพาร์กินสันทำได้อย่างไร?

 

เนื่องจากโรคพาร์กินสันเป็นโรคของความเสื่อมของระบบประสาท ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดและไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด การรักษาที่มีในปัจจุบันจึงมุ่งเน้นไปที่การช่วยให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวที่คล่องมากขึ้น โดยการรักษาสามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่

 

  1. การรักษาด้วยยา ยารักษาอาการโรคพาร์กินสันทุกชนิดมีผลในการควบคุมอาการกล้ามเนื้อฝืดเกร็งและเคลื่อนไหวช้าได้ดี แต่ผลในการควบคุมอาการสั่นและการทรงตัวที่ไม่มั่นคง นั้นไม่แน่นอน ยารักษาโรคพาร์กินสันที่มีในประเทศไทย ได้แก่ ยากลุ่มลีโวโดปา (Levodopa combinations), ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของตัวรับโดปามีนในสมองโดยตรง (Dopamine agonists), ยาป้องกันการทำลายสารโดปามีนในสมอง (MAO-B inhibitors) และยายับยั้งการทำลายยาลีโวโดปา (COMT inhibitor) ซึ่งจำเป็นที่จะต้องให้คู่กับยาลีโวโดปา เป็นต้น โดยเป้าหมายในการรักษาคือ  ให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

    ***เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาไปเป็นเวลาประมาณ 3-5 ปีนั้น ร้อยละ 30-50 ของผู้ป่วยจะเกิดภาวะแทรกซ้อนทางการเคลื่อนไหวโดย ชนิดที่พบได้บ่อยคือ อาการยุกยิก (Dyskinesia) ในช่วงที่ยากำลังออกฤทธิ์ และ ยาหมดฤทธิ์เร็วขึ้นกว่าเดิม (Wearing-off) เป็นต้น***
     
  2. การรักษาด้วยการผ่าตัด ในผู้ป่วยที่การรักษาด้วยยาไม่สามารถที่จะควบคุมอาการของโรคได้หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนทางการเคลื่อนไหวหลังได้รับการรักษาด้วยยานั้น การผ่าตัดเพื่อฝังเครื่องกระตุ้นในสมองส่วนลึก (Deep brain stimulation) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ให้ผลที่ดีในการควบคุมอาการของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามการผ่าตัดนั้นไม่ใช่วิธีการรักษาโรคให้หายขาด และไม่สามารถทำในผู้ป่วยได้ทุกราย
     
  3. การออกกำลังกาย เป็นสิ่งที่ควรทำในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันทุกรายและทุกระยะ การออกกำลังกายที่เหมาะสมได้แก่ การยืดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ, การออกกำลังกายที่เป็นจังหวะ เช่น การเต้นรำในจังหวะแทงโก้ หรือ การรำไทเก๊กหรือจี้กง ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มความสามารถในเรื่องการเดินและการทรงตัวแก่ผู้ป่วยได้

 

 

 

ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างของอาการและอาการแสดงระหว่างโรคพาร์กินสัน และโรคการคั่งของน้ำในโพรงสมองชนิดความดันปกติ

 

 

 

 

 

ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันสามารถรับประทานอาหารได้เป็นปกติ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเสริม, ยาฉีด หรือ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell) ใดๆ ที่จะสามารถรักษา ชะลอ หรือ ป้องกันการเกิดโรคพาร์กินสันได้

โรค NPH หรือ โรคภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง โรคที่ผู้สูงอายุทุกคนมีโอกาสเป็น อ่านเพิ่มเติม คลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1651

 

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

ผศ.นพ.ปรัชญา ศรีวานิชภูมิ

ประสาทวิทยา

 

23/02/65

 



 

 

 

 

Premium Health package ผู้หญิง

ถึงเวลาดูแลสุขภาพอย่างใส่ใจ เราพร้อมดูแลคุณอย่างอบอุ่น

ราคา 3,990 บาท

Healthy heart package (ผู้หญิง)

ฝากหัวใจ..ให้เราดูแลกับ "Healthy heart package (ผู้หญิง)" ตรวจก่อนรู้ก่อน อย่าปล่อยให้หัวใจอ่อนแอ..เกินเยียวยา

ราคา 5,990 บาท

โปรแกรมตรวจสุขภาพของสตรี - Superior health 45+ ผู้หญิง

เพราะทำงานหนัก การตรวจสุขภาพที่เจาะลึกจึงสำคัญ

ราคา 11,490 บาท

โปรแกรมตรวจสุขภาพเบาหวานสำหรับผู้หญิง l รพ.รามคำแหง

“เบาหวาน” โรคใกล้ตัวที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม รู้ทันป้องกันได้

ราคา 4,890 บาท

โปรแกรมตรวจสุขภาพผู้หญิง คัดกรองมะเร็ง l รพ.รามคำแหง

เริ่มตรวจคัดกรองค้นหาภาวะเสี่ยงของโรคมะเร็งเพื่อป้องกันโรคในอนาคตหรือก่อนมะเร็งร้ายจะลุกลาม

ราคา 10,490 บาท

โปรแกรมตรวจสุขภาพบุรุษ ผู้บริหาร l โรงพยาบาลรามคำแหง

เพราะทำงานหนัก การตรวจสุขภาพที่เจาะลึกจึงสำคัญ

ราคา 11,490 บาท